หุ้นใหญ่ 'ทีทีเอ' ดิ้นหาธุรกิจใหม่

หุ้นใหญ่ 'ทีทีเอ' ดิ้นหาธุรกิจใหม่

กลุ่ม "มหากิจศิริ" เร่งหาสตาร์ทอัพเพื่อเข้าลงทุนรอบใหม่ หวังหาผลตอบแทนเพิ่ม

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจังหวะไม่ดีหรืออย่างไร เพราะหลังจากที่ เฉลิมชัย มหากิจศิริ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ปรากฎว่าผลประกอบการ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่สู้ดีนัก โดยปี 2555 - 2556 รายงานขาดทุน 4.6 - 5 พันล้านบาทต่อปี ก่อนจะพลิกมามีกำไร 154 ล้านบาท ในปี 2557 แต่แล้วในปี 2558 กลับรายงานผลขาดทุนสูงถึง 1.13 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจอย่างเดินเรือได้รับผลกระทบจนต้องมีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนมาก ขณะที่ธุรกิจเดินเรือก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ค่าระวางเรือลดลงมาจนต่ำกว่าต้นทุนการดำเนินงาน

นอกจากนี้ธุรกิจอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุนอย่าง ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ซึ่งประกอบธุรกิจถ่านหินก็ยังขาดทุนต่อเนื่องตามทิศทางราคาถ่านหิน ส่วนการลงทุนใหม่ๆ อย่าง พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) ซึ่งเข้าไปลงทุนธุรกิจปุ๋ยในเวียดนาม แม้จะมีกำไรแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่

โทรีเซนไทย ภายใต้การนำของ เฉลิมชัย มหากิจศิริ ก็พยายามที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ในระหว่างที่ธุรกิจหลักเหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยในช่วง ปี 2556 - 2558 บริษัทได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนรวม 3 ครั้ง ที่ราคาหุ้นละ 14 บาท จึงได้เงินเพิ่มทุนเข้ามากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

บริษัทก็หมายมั่นปั้นมือที่จะเข้าไปซื้อ บางจากปิโตรเลียม (BCP) ต่อจากปตท. (PTT) แต่สุดท้ายก็ต้องพลาดไป ทำให้ทุกวันนี้บริษัทยังคงถือเงินสดไว้สูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท และบริษัทก็ยังคงมองหาการลงทุนต่อไป

เฉลิมชัย มหากิจศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อธิบายว่า ภาพรวมแล้วธุรกิจหลักของบริษัทยังไม่สดใสนัก โดยธุรกิจเดินเรือนั้นยังคงขาดทุน เนื่องจากดัชนีค่าระวางเรือที่ลดลง แม้จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 680 จุด แต่ก็ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุนซึ่งอยู่ที่ราว 700 กว่าจุด และหากจะเริ่มเห็นกำไรควรจะขึ้นไปอยู่ที่กว่า 800 จุด

ส่วนธุรกิจให้บริการเรือขุดเจาะน้ำมันยังคงถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้การขุดเจาะน้ำมันลดลง ขณะที่ลูกค้าปัจจุบันก็ต่อรองราคามากขึ้น เนื่องจากราคาขายน้ำมันนั้นลดลงไปกว่าครึ่ง

“โดยภาพรวมแล้วธุรกิจของบริษัทก็ยังได้รับผลกระทบจากภาวะอุตสาหกรรมของแต่ละส่วนธุรกิจ ”

นอกจากนี้ บริษัทเริ่มมองการลงทุนในส่วนของสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่างล่าสุดที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจเกมส์ ใช้เงินลงทุน 36 ล้านบาท

“ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาว่าจะเซ็ทอัพบริษัทสำหรับลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพขึ้นมา โดยอาจจะกำหนดเงินลงทุนหลักร้อยล้านบาทต่อไป ซึ่งการลงทุนในสตาร์ทอัพนี้ แม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็เป็นสัดส่วนการลงทุนไม่มาก และมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี โดยบริษัทจะมองหาสตาร์ทอัพที่เริ่มมีรายได้ระดับหนึ่งแล้ว”

ภาพของโทรีเซนไทยต่อจากนี้จะเป็นไปในทิศทางใด อาจจะยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนนัก เพราะธุรกิจใหม่ๆ ที่มองหาอยู่นั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา ขณะที่ธุรกิจเดิมก็ยังต้องลุ้นอยู่ว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อใด ต่อจากนี้คงจะต้องวัดฝีมือของหัวเรือใหญ่อย่าง เฉลิมชัย กันว่าจะสามารถเปลี่ยนเงินสดระดับหมื่นล้านบาทในมือเป็นผลตอบแทนได้ดีขนาดไหน