องค์การอนุรักษ์ฯ เผยชายฝั่งอันดามันเข้าขั้นใกล้วิกฤติ

องค์การอนุรักษ์ฯ เผยชายฝั่งอันดามันเข้าขั้นใกล้วิกฤติ

สององค์กรอนุรักษ์ฯ วางแผนความร่วมมือการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เผยสถานการณ์เริ่มวิกฤต

ที่ห้องประชุมโรงแรมเคป พันวา ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประจำประเทศไทย โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทนฯ ร่วมกับสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) โดยนายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมฯ จัดการประชุม “แผนความร่วมมือการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน” ขึ้น

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินงานด้านการจัดการ และปัญหาในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภูเก็ตและอันดามัน ตลอดจนเพื่อระดมความเห็นและร่วมกันวางแผนการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภูเก็ตและอันดามัน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาคี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนจากภาคธุรกิจและโรงแรม เข้าร่วม

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทน IUCN ประเทศประเทศไทย กล่าวถึงการจัดประชุมความร่วมมือดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับ IUCN เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดย IUCN ซึ่งมีการพัฒนาแผนงานการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้น ภายใต้กรอบการบริหารจัดการ 4 ด้านได้แก่

1.การอนุรักษ์ในระดับทรัพยากรหรือชนิดพันธุ์ เช่น เต่าทะเล โลมา พะยูน เป็นต้น 2. การปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญ เช่น ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ระบบนิเวศโขดหินริมหาด แหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เป็นต้น 3.การฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น การฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นฟูป่าชายหาด ฟื้นฟูแนวปะการังฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น และ 4.การส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืน เช่น แนวทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางการประมงและการเลี้ยงสัตว์ทะเลที่ยั่งยืน โดยได้เลือกพื้นที่นำร่องในจังหวัด นครศรีธรรมราชและจังหวัดชุมพร เพื่อดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว

สำหรับฝั่งทะเลอันดามัน เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญในแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภาคใต้ของ IUCN โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง เช่น สำนักบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งทะเลที่ 6 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 ภูเก็ต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นต้น รวมทั้ง ยังได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนธุรกิจโรงแรมและองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยที่มีความสนใจงานด้านการอนุรักษ์โลมาและพะยูน กลุ่มซีคภูเก็ต ที่ตั้งกรีนคลับขึ้นมาจัดการปัญหาขยะบนหาดกมลาและหาดในยาง มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ได้จัดตั้งกลุ่มปริญญาไม้ขาวร่วมกับโรงแรม 10 แห่งเพื่อดูแลหาดไม้ขาวให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เป็นต้น

ขณะที่ IUCN พร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เครื่องมือและกรอบแนวคิด และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของภูเก็ต และอันดามัน เนื่องจากพบว่าสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของภูเก็ตและอันดามันเริ่มวิกฤต จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาดูแลและป้องกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ดร.จำเนียรกล่าว