“โค-เวิร์คกิ่ง สเปซ”โต รับกระแสสตาร์ทอัพ

“โค-เวิร์คกิ่ง สเปซ”โต รับกระแสสตาร์ทอัพ

เทคโนโลยีสื่อสารในยุค Internet of Thing (IOT) ทลายกรอบการทำงานในรูปแบบเดิม “ฝ่ารถติด -เข้าออฟฟิศ-ตอกบัตร”

เพราะเพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไวไฟ กับโน้ตบุ๊ค หรือ สามาร์ทโฟน สักตัว ก็สามารถนั่งทำงานได้ทุกที่ในโลกใบนี้ ผนวกกับแนวโน้มการขยายตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี-ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนธุรกิจ (สตาร์ทอัพ) ทำให้ธุรกิจออฟฟิศให้เช่า หรือ “โคเวิร์คกิ้ง สเปซ” (Co-Working Space) ได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้น  

กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ผู้ให้บริการออฟฟิศให้เช่า “โกลว์ฟิช” กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจออฟฟิศให้เช่าในไทยว่า ยังขยายตัวต่อเนื่อง รองรับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย แต่ไม่ได้ขยายหวือหามาก ถึงขึ้นเพิ่มจากหลัก 10 ราย มาเป็นหลัก 1,000 ราย ปัจจุบันยังอยู่ในระดับ 100 ราย

เขายังระบุว่า ปัจจุบันหลายคนสนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้ โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินอยู่แล้วอยากนำพื้นที่มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แต่ปัญหาคือ ธุรกิจนี้อาจทำกำไรค่อนข้างช้า ต้องใช้เวลาคืนทุนนาน หากจะทำกำไรเร็วขึ้น ก็ต้องหารายได้จากการจัดสัมมนา หรือเก็บค่าบริการจากลูกค้าสมาชิก

โดยบริษัทมุ่งให้บริการสำนักงานให้เช่า แก่ลูกค้าองค์กรย่อย แต่จะมีพื้นที่เป็นพื้นที่ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ แบ่งพื้นที่การทำงานสำหรับผู้ใช้บริการรายบุคคลอยู่บ้าง โดยบริษัทมีแผนจะขยายสาขาที่3 เพิ่มเติมย่านสยามแสควร์ และอยู่ระหว่างการหาทำเลที่น่าสนใจ เพื่อขยายสาขาที่ 4 ใช้งบลงทุนสาขาละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มี 2 สาขา คือ อโศก และสยาม

วัชรพงษ์ ไชยคำอุดม กรรมการ และผู้ร่วมก่อตั้ง มัชรูม โคเวิร์กกิ้ง สเปซ เห็นสอดคล้องกันว่า โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ในไทยขยายตัวเนื่องจากโดยเป็นบริการตอบโจทย์ความต้องการคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้เริ่มทำธุรกิจ รวมถึงฟรีแลนซ์ (งานไม่ประจำ) ที่ต้องการพื้นที่การทำงานอิสระ คล่องตัว ไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่ในออฟฟิศ

“เมื่อย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีก่อน ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อมาใช้บริการ อาจมองว่าสามารถเลือกไปทำงานตามร้านอาหาร เครื่องดื่มแทนได้”

โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาในตลาดนี้เป็นจำนวนเพิ่มขึ้น “กว่าร้อยราย” เมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนที่มีไม่ถึง 10 ราย

ทั้งนี้ มองว่าจากการใช้สถานที่การทำงานร่วมกัน เช่น การแบ่งพื้นที่ทำงานภายในห้องโถงเดียวกัน จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีแนวคิด หรือไอเดียการทำธุรกิจสร้างสรรค์ และน่าสนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนไอเดีย ทำความรู้จักระหว่างกัน จนกลายเป็นการสร้างชุมชนการทำงานขนาดย่อมของกลุ่มคนรุ่นใหม่

นอกจากมัชรูมฯสาขาแรกที่ซอยประดิพัทธ์ 23 แล้วยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มเติม มุ่งเน้นในกรุงเทพฯเป็นหลัก ในบริเวณเส้นทางที่เดินทางสะดวก หรือใกล้รถไฟฟ้า หรือหัวเมืองรองที่มีสตาร์ทอัพกระจุกตัวอยู่มาก

พงศธร รักถิ่น ผู้จัดการ ปันสเปซ กล่าวว่า ผู้ใช้บริการหลายคนมองว่า รูปแบบ โคเวิร์คกิ้ง สเปซ ยังแตกต่างจากการนั่งทำงานตามร้านอาหาร เครื่องดื่มทั่วไป เพราะสามารถนั่งทำงานได้ในระยะเวลานานมากขึ้น มีบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการทำงาน ไม่วุ่นวาย หรือมีคนพลุกพล่านเหมือนในร้านต่างๆ จึงตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการเหล่านี้ และได้รับความนิยมมากขึ้น ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการตั้งออฟฟิศแก่สตาร์ทอัพได้มาก เพราะเป็นอัตราการเช่าพื้นที่ก็มีหลายแพ็คเกจขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น รายวัน เดือน ปี

“ในบางครั้งสถานที่ออฟฟิศให้เช่า ยังเป็นที่ที่สร้างเครือข่ายการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ บางคนก็ได้ผู้ร่วมงาน หรือเกิดการจ้างงานระหว่างผู้ใช้บริการในพื้นที่นี้ ได้เพื่อนใหม่ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับผู้ใช้บริการรายอื่นๆที่แชร์พื้นที่ทำงานร่วมกัน จนเกิดการสร้างสังคมของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่”

ในปัจจุบัน“ปันสเปซ”มีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติ มากกว่า 90% และคนไทย 10%

โดยในช่วง 3–5 ปีข้างหน้า ก็มีแผนศึกษาการขยายสาขาออฟฟิศให้เช่าเพิ่มเติม โดยจะมุ่งเน้นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จากปัจจุบัน“ปันสเปซ”มีออฟฟิศให้เช่า 2 สาขาในเครือ คือ ที่ถ.นิมมานเหมินทร์ และท่าแพร จ.เชียงใหม่

ขณะที่นิติ เมฆหมอก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีนเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด หรือ SYN HUB (ซินฮับ) โคเวิร์คกิ้งสเปซ ที่เกิดขึ้นจากการจับมือระหว่างศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ กับ บริษัท ซีนเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันให้ซินฮับกลายเป็นคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพ แต่จะเดินเกมในเชิงรุกเร่งสร้างความสำเร็จให้เกิดกับลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือและความประทับใจกระทั่งลูกค้ามีการบอกต่อ

โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ที่มีทั้งนักลงทุน,สถาบันวิจัยและนวัตกรรมของภาครัฐและของเอกชน รวมถึง ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ตลอดจนผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง จัดกิจกรรมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในด้านต่างๆ เช่น จัดสัมมนาเรื่องการออกแบบนวัตกรรม,การให้ความรู้ทางการเงิน, การจัดระดมทุน เป็นต้น