“SideKick” คู่หูคนเปลี่ยนโลก

“SideKick” คู่หูคนเปลี่ยนโลก

“SideKick”คือ“โรบิน”ของแบทแมน ที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลก พวกเขาเชื่อว่า ประเด็นทางสังคมเป็นเรื่องที่ทุกคนร่วมกันแก้ไขได้

นามบัตรเท่ๆ รูป “โรบิน” ขนาบข้าง “แบทแมน” ฮีโร่ผู้พิทักษ์เมืองให้พ้นภัยจากเหล่าร้าย สะท้อนบทบาทของ SideKick” (ไซด์คิค) Creative Media Agency ที่ออกแบบงานสื่อ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม พวกเขาประกาศตัวเป็น “ผู้ช่วย” ที่จะร่วมเปลี่ยนแปลงโลกไปพร้อมกับทุกคน

เจ้าของนามบัตรคือ “ตุลย์  ปิ่นแก้ว” ผู้ก่อตั้ง SideKick (www.sidekick.asia) กิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise: SE) ซึ่งตั้งไข่มาได้ประมาณ 2 ปี

วันนี้เขาคือหนึ่งต้นแบบ SE จากเวที SET Social Impact Day 2016 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จัดไปเมื่อเดือนก่อน 

โรบินหนุ่มเติบโตอยู่ประเทศอังกฤษ หลังมีโอกาสกลับมาเมืองไทย กลับพบปัญหาหลายอย่างที่ออกจะ “ไม่ได้ดั่งใจ” เขาอยู่มาก เลยฝังใจว่าอยากจะทำอะไรให้ดีขึ้น ซึ่งความเชื่อที่ติดตัวมาแต่เล็ก คือ ปัญหาสังคมไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถร่วมกันแก้ไขได้

จากแพสชั่นนั้น เปลี่ยนมาเป็นการลองทำงานหลายๆ อย่าง เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง ตั้งแต่เป็นผู้สื่อข่าว เปลี่ยนมาทำงานเอกชน และองค์กรภาคสังคม โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ เป็นผู้อำนวยการ “change.org” เว็บไซต์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ผลงานที่เขาฝากไว้ คือทำให้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสังคม จาก 3 พันคน กลายเป็น 1.3 ล้านคน ได้ภายใน 2 ปี!

“ผมมีโอกาสไปทำงานภาคสนาม ไปเป็นเอ็นจีโอ ลงไปในพื้นที่ เพื่อสื่อสารเรื่องของชาวบ้านขึ้นมา จนในที่สุดก็มองเห็นว่า วิธีการสื่อสารที่ดีที่สุด ก็คือการทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายของเราเอง ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปนี่แหล่ะ ให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา จนเกิดเป็นโมเดลตัว SideKick ขึ้น”

เมื่อเริ่มเห็นทางออกให้กับแพสชั่นของตัวเอง เขาเลยก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม SideKick ขึ้น โดยโจทย์คือต้องทำให้โครงการรณรงค์ประเด็นทางสังคมเป็นเรื่องที่ เข้าถึงได้ อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยวางตัวเองเป็น “ผู้ช่วย” ที่จะทำงานร่วมกับ เครือข่ายชุมชนออนไลน์ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ และ เอกชนผู้ให้การสนับสนุน

“เราจะทำงานร่วมกับ 3 ส่วนหลัก คือ องค์กรพัฒนาสังคม ซึ่งจะไปช่วยเขาคิด และปรับแผนในการสื่อสารเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและคนทั่วไปเข้าใจได้ สองเครือข่ายชุมชนออนไลน์ และกลุ่มคนเมืองที่จับมือกันรณรงค์ในประเด็นทางสังคมต่างๆ และสามคือ ภาคเอกชน ที่จะสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่าย เพื่อให้สิ่งที่ทำเกิดความยั่งยืนได้” เขาบอกโมเดล

คนหนุ่มบอกอีกว่า องค์กรภาคสังคมต่างๆ จะมีรายได้ในการทำประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว ทว่าส่วนหนึ่งยังคิดไม่ออกว่าจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ขณะเอกชนเองก็มีงบประมาณ CSR ซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนประเด็นทางสังคม และสร้างผลกระทบที่มากขึ้นได้ด้วยโมเดลนี้ ส่วนเครือข่ายต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนการรณรงค์เพื่อสังคม ก็จะได้มีรายได้เข้ามาช่วยเดินหน้าโครงการด้วย ส่วน SideKick ก็จะมีรายได้ที่ “พอประมาณ” มาหล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่รอดได้

เขายกตัวอย่าง โครงการ "คอซอง ขาสั้น กันน็อค" ที่รณรงค์ให้หมวกนิรภัยมีความสำคัญเทียบเท่าเครื่องแบบนักเรียน ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงสังคมได้เด่นชัด คือ ขยายจากโครงการเล็กๆ เริ่มที่ 6 โรงเรียน ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเมื่อกทม. ตัดสินใจนำร่องโครงการนี้ใน 300 โรงเรียน และปัจจุบันพัฒนาไปสู่ระดับประเทศแล้ว

ผลกระทบที่มีต่อสังคม (Impact) คือหนึ่งคำตอบที่จะทำให้ “โมเดลการหารายได้” ของ SideKick เกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนด้วย เพราะเป็นหัวใจที่ทำให้องค์กรต่างๆ อยากเข้ามามีส่วนร่วม แม้แต่พร้อมลงขันให้กับโครงการของพวกเขา

“การจะทำให้องค์กรต่างๆ อยากสนับสนุน ผมว่า อิมแพคเป็นส่วนหนึ่ง แต่อิมแพคนั้นไม่ใช่อิมแพคเล็กๆ แต่ต้องเป็นในเชิงนโยบาย ที่ลืมไม่ได้คือการประชาสัมพันธ์โครงการออกไป ดึงเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้แบรนดิ้งของเขาได้ออกสู่สายตาสาธารณะ ซึ่งนั่นเท่ากับตอบโจทย์เขา และวินกับทั้งเราและเขาด้วย”

ผ่านมาสองปี คนหนุ่มบอกเราว่า ปีแรกเป็นปีแห่งการลองผิดลองถูก จนมาถึงปีนี้เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า มีความสนใจ จากทั้งภาคประชาสังคม และเอกชนที่อยากมีส่วนร่วมกับพวกเขามากขึ้น

“ตลอด 2 ปี พบว่า เราสามารถเอาโมเดลนี้ไปช่วยสังคมได้จริง มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ และสามารถขยายทีมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะติดตามและแก้ปัญหาสังคมได้มากขึ้น” เขาบอกผลลัพธ์

เด็กรุ่นใหม่หลายคน อยากเป็นผู้ประกอบการสังคม อยากทำกิจการที่ดีมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น รุ่นพี่ที่ผ่านมาก่อนบอกแค่ว่า อุปสรรคด่านแรกในการทำงานนี้ ก็คือ “ความเหงา”

“ใครจะทำ SE อาจต้องเริ่มจาก ‘เข้าใจความเหงา’ และอยู่คนเดียวให้ได้ก่อน ต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง ต้องมีความมุ่งมั่น ซึ่งแพสชั่นที่เราต้องการจะเปลี่ยนหรือแก้ไขอะไรบางอย่าง จะเป็นตัวผลักดันเราไปเอง”

รู้ว่าเหงาจับจิต แต่ทำไมถึงเลือกเดินเส้นทางนี้ คนหนุ่มบอกแค่ว่า เพราะ SE ทำแล้วเลิกไม่ได้  

“งานนี้ทำแล้วเลิกไม่ได้ ยิ่งพอเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำ ช่วยให้สังคมดีขึ้น ความรู้สึกนี้มันเหมือนสิ่งเสพติด ทำให้อยากที่จะทำเพิ่มขึ้น ขยายให้มากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ” เขาบอก

เป้าหมายต่อไปของ SideKick คือสร้างให้เกิดเครือข่ายทางสังคม ที่คนจะได้มารวมตัว มาเจอกันได้ง่ายขึ้น โดยทำแพลทฟอร์มที่จะรวมเครือข่ายชุมชนออนไลน์ เพื่อให้คนที่สนใจประเด็นทางสังคมได้มาอยู่ด้วยกัน รวมถึงจะสยายปีกการทำงานของ SideKick ออกไป ไม่ใช่แค่ในไทยแต่รวมถึงอาเซียนด้วย

“ผมต้องการเห็นว่า SideKick มีส่วนช่วยทำให้สังคม Active Citizen (พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม) เกิดขึ้นได้จริง ผมหวังไว้แค่นั้น” เขาบอกความฝันในตอนท้าย

และนั่นคือพันธกิจสำคัญของโรบินแห่ง SideKick ที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง ด้วยพลังผู้ก่อการดีอย่างพวกเขา