รอยสตั๊ด : นายพลลูกหนัง

รอยสตั๊ด : นายพลลูกหนัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านที่ชมการแข่งขัน

ฟุตบอลภายในของประเทศไทย ทั้งการถ่ายทอดสดและเข้าไปชมที่สนาม จะได้เห็นหรือได้ร่วมการยืนไว้อาลัย ให้กับการเสียชีวิตของบุคคลท่านหนึ่ง ก่อนเกมจะเริ่มขึ้นทุกสนาม จึงขออาสาพาทุกท่านย้อนรอยสตั๊ดไปพบเรื่องราวของ “นายพันลูกหนัง”

พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล เกิดที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2468 เป็นบุตรชายของนายแหวน และ นางเนื่อง เทศวิศาล เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เนื่องจากสวนลุมพินี ที่อยู่ใกล้บ้านจะเป็นสนามแข่งขันลูกหนังนัดสำคัญสมัยนั้น เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม จึงได้รับการฝึกจากครูเยี่ยม เลาหจินดา แต่เมื่อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก (พ.ศ. 2482) ในขณะนั้นกองทัพไม่อนุญาตให้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬากับประชาชน ก่อนจะไปต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก แต่ยังคงเตะฟุตบอลภายในสถาบันอยู่เสมอ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น คือ พ.อ.อนุ รมยานนท์ ต่อมา ยังได้ฝึกกีฬา “รักบี้-ฟุตบอล” จากปรมาจารย์รักบี้เมืองไทย คุณพระสุทัศน์พงศ์ พิสุทธิ์ และลงเล่นเชื่อมมิตรภาพ ทีมทหารไทย กับ ทีมทหารอังกฤษ ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ยุติลงอีกด้วย

ต่อมา เป็นหัวหน้าทีมโรงเรียนนายร้อยชุดชนะเลิศฟุตบอลมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2489 ก่อนเข้ารับพระราชทานยศนายร้อยตรีและเข้าประจำกองพันที่ 1 กรมการทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน จึงร่วมทีมรักบี้สโมสรนายร้อย จปร. ชนะเลิศถ้วยบริติชเคาน์ซิล (พ.ศ. 2491) และนำฟุตบอล ทีมปตอ. ชนะเลิศถ้วยน้อย (ถ้วย ข ) เมื่อ พ.ศ. 2497 ในที่สุด จึงถูกเรียกตัวให้ลงเล่นในนามทีมกรุงเทพผสม ภายหลังต้องหยุดเล่นฟุตบอลทีมชาติเพียงเท่านั้น เพราะสอบได้รับทุนศึกษาต่อที่โรงเรียนนายทหารฯ ณ ฟอร์ท บลิส สหรัฐอเมริกา

เมื่อกลับเมืองไทย ยังได้ลงเล่นฟุตบอลประเพณี จุฬา - ธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2499 ในฐานะลูกแม่โดม ก่อนเป็นสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 - 2516 ในยุคนั้น พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฯ จึงมอบตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฝึกซ้อมและคัดเลือกนักฟุตบอลทีมชาติไทย ให้ พ.ต.ประเทียบ เทศวิศาล เป็นผู้รับผิดชอบ โดยประสบความสำเร็จนำทีมชาติไทยชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนเอเชีย ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2505) ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของวงการฟุตบอลเมืองไทยกับเกมระดับทวีปเอเชีย

หลังจากการส่งนักเตะไทยไปเข้ารับการฝึกอบรมการเล่นฟุตบอล ณ ทวีปยุโรป จนทำให้ทีมชาติไทยสามารถครองเหรียญทองร่วมกับทีมชาติพม่า (2-2) ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2508 ณ ประเทศมาเลเซีย ผู้การเทียบจึงเป็นโค้ชทีมชาติชุดใหญ่คนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคุมทีมจนชนะเลิศได้ ด้วยหลักการทำทีมเน้นวินัยแบบทหารและปรัชญาที่ว่า “ต้องแข็งแกร่ง มีวินัย และอดทน” ก่อนจะนำทีมชาติไทยผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ค.ศ. 1968 ณ ประเทศเม็กซิโก นับเป็นทัวร์นาเม้นท์ระดับโลกสูงสุดเท่าที่ทีมชาติไทยเคยเข้าร่วมแข่งขัน

เรื่องราวบางส่วนของปูชนียบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ผู้สร้างเกียรติประวัติและเกียรติภูมิให้กับทีมชาติไทย จึงทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้องสั่งการให้ทุกสนามที่ทำการแข่งขันแมทช์สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำการยืนไว้อาลัยด้วยความสงบนิ่งที่ครึ่งวงกลมกลางสนามฟุตบอล เพื่อเป็นเกียรติยศครั้งสุดท้ายของ “นายพลลูกหนังไทย” พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล หากแต่คงเล่าขานตำนานสืบไป