'กองทุน' ขายหุ้นสวนตปท.ไล่ซื้อ

'กองทุน' ขายหุ้นสวนตปท.ไล่ซื้อ

ตลาดหุ้นไทย1-2 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น7.14% แต่ "สถาบันในประเทศ" กลับมียอดขายสุทธิ โดยช่วง1-2เดือนอยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย1-2 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น7.14% ขณะที่ต่างประเทศมียอดซื้อมูลค่ารวมอยู่ที่5.81 หมื่่่นล้านบาท และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีมียอดซื้อสุทธิ9.4 หมื่นล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ฝั่งของสถาบันในประเทศหรือกองทุน มียอดขายสุทธิ โดยช่วง1-2เดือนอยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าตั้งต้นปีมียอดขายรวม 1.84 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หุ้นที่สถาบันขายส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่และกลาง เมื่อสำรวจแบบรายงานการได้มาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) พบว่าตั้งแต่เดือนก.ค.ถึงปัจจุบันกองทุนรายใหญ่มีการรางานขายหุ้น 6 บริษัทและภายหลังจากการขายในครั้งนี้ทำให้สัดสัดส่วนการถือครองหุ้นที่เหลือต่ำกว่าระดับ 5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า จากนี้ไปหากขายหุ้นออกจากพอร์ตลงทุนทั้งหมดก็ไม่ต้องรายงานกับก.ล.ต.ตามเกณฑ์การได้มา ทั้งนี้ มูลค่าการทำรายการจำหน่ายของทั้ง 6 บริษัท ประมาณ 1.12 พันล้านบาท

สำหรับบริษัทที่กองทุนขายหุ้นออกมาประกอบด้วยหุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์(SCB) โดย อเบอร์ดีน แอสเส็ท แมนเนจเม้นท์ เอเชีย ลิมิเต็ด รายงานขาย 0.16%เหลือการถือหุ้น 4.98% มูลค่ารายการอยู่ที่ 843 .98 ล้านบาท หุ้นจีพีเอสซี(GPSC) โดยบลจ.บัวหลวงรายงานขาย 0.03%เหลือการถือหุ้น 4.97%มูลค่ารายการ 13.95 ล้านบาท หุ้นทุนธนชาต(TCAP) มีบลจ.กรุงศรีรายงานขาย 0.08%เหลือการถือหุ้น 4.99%มูลค่ารายการ 37.91 ล้านบาท หุ้นเบอร์ลี่ยุคเกอร์(BJC)มีบลจ.บัวหลวง ขาย 0.32 %เหลือการถือหุ้น 4.82%มูลค่ารายการ 191.99ล้านบาท หุ้นบิวตี้(BEAUTY) มีบลจ.กรุงศรีขาย 0.07%เหลือการถือครอง 4.94% มูลค่ารายการ 17.2ล้านบาท และหุ้นดีอาร์ที(DRT) มีการทำรายการ 0.43%มีบลจ.บัวหลวงรายงานขาย 0.43% เหลือการถือหุ้น 9.9%มูลค่ารายการ 22.77 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าบลจ.บัวหลวงเป็นกองทุนที่ทำรายการขายหุ้นถี่กว่ากองทุนอื่น

วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ให้ความเห็นว่า การที่สถาบันเทขายหุ้น นักลงทุนได้เทขายหน่วยลงทุน เพราะดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาแรง ทำให้ต้องเทขายเพื่อทำกำไรซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ในส่วนของบลจ.ซีไอเอ็มบีไทย ไม่ได้พบว่ามีสัญญาณการเทขายที่รุนแรง เนื่องจากมีมุมมองที่ดีและประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

ฝ่ายวิจัยบลจ.เชื่อว่าการที่ไตรมาส3ปีนี้ดัชนีปรับตัวขึ้นมาแรงและน่าจะเกิดการพักฐานระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการเบรกความร้อนแรงของตลาด ซึ่งผู้ลงทุนควรติดตามและชะลอการลงทุนไปก่อน ขณะที่บลจ.ซีไอเอ็มบีไทย จะเน้นเข้าลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตและราคายังปรับตัวขึ้นไปไม่แรง โดยจะมีการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุน

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า จากเส้นทางการเมืองที่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ชัดเจนดังกล่าว ทำให้ระดับความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองปรับลดลงในสายตานักลงทุน และทำให้ Fund Flow ซึ่งมีอยู่มากมายในระบบไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในตลาดหุ้น เห็นได้จากยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจาก 15 ก.พ.2559 จนถึงวานนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.09 แสนล้านบาท โดยประเมินต้นทุนอยู่ที่ดัชนีบริเวณ 1446 จุดและเป็นไปได้ที่จะทำให้ ดัชนีปรับขึ้นไปใกล้บริเวณ 1,590 จุดมากขึ้นจึงควรระวังแรงขายทำกำไรออกมาด้วย