มีดหมู หนึ่งในตำนานตลาดน้อย

มีดหมู หนึ่งในตำนานตลาดน้อย

ลิ้มฮะหลี เป็นร้านขายมีดสำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายหมูในตลาดน้อยรวมไปถึงต่างจังหวัดมานานกว่า 55 ปี น่าเสียดายที่ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ

            ตลาดน้อยขึ้นชื่อว่ามีของกินอร่อย ไม่ว่าจะเป็นเป็ดตุ๋นเจ้าท่าที่มีผัดหมี่กระเฉดรสชาติลือเลื่องขายคู่กัน ก๋วยจั๊บน้ำใสซึ่งมีน้ำซุปรสดีโดยไม่ต้องปรุง  รวมไปถึงกระหรี่ปั๊บคุณปุ๊ ทอดกันสดๆใหม่ๆรอซื้อกันแถวยาวเต็มซอย

            ตลาดน้อยเป็นชุมชนชาวจีนเก่าริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้ย้ายบ้านเรือนของชุมชนชาวจีนจากที่ตั้งอยู่บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน ไปยังที่ดินพระราชทานแลกเปลี่ยนที่สวนนอกกำแพงพระนครทางใต้ ตั้งแต่คลองใต้วัดจักรวรรดิราชาวาส ลงไปจนถึงคลองเหนือวัดปทุมคงคา

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เรียกขานบริเวณนี้ว่า บ้านโรงกระทะ เพราะว่าเป็นแหล่งรวมของช่างตีเหล็กฝีมือดี มาเรียกขานกันว่า ตลาดน้อย ในเวลาต่อมาเนื่องจากเป็นชุมชนจีนที่เกิดจากการขยายตัวของสำเพ็งอันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้า

            รวมไปถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนจากย่านกุฎีจีน ปากคลองบางกอกใหญ่ พร้อมๆ กับการหลั่งไหลอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล ในห้วงเวลาที่สยามประเทศต้องการแรงงานภาคการเกษตรและก่อสร้างในช่วงเวลาก่อร่างสร้างกรุง ว่ากันว่า ตลาดน้อยเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของบางกอกเลยทีเดียว

            ชาวตลาดน้อย มีทั้งพ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงกลุ่มช่างฝีมือ ได้แก่ ช่างตีเหล็ก ช่างกลึง ช่างทอผ้า ช่างตัดรองเท้า ช่างเย็บผ้า และแม่ค้าที่เปิดแผงขายอาหารนานาชนิด

            ด้วยเหตุนี้เอง ตลาดน้อยในวันนี้จึงเต็มไปด้วยร่องรอยของวัฒนธรรม เรื่องราวของผู้คนในหลากหลายอาชีพ

            แม้ว่าในวันนี้ตลาดน้อยจะไม่ใช่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ หากชีวิตในตลาดน้อยยังคงดำเนินไปอย่างมีสีสัน ทั้งยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตามตรอกซอกซอยยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่นิยมเดินเท้าและขี่จักรยานท่องเมืองอีกด้วย

ลิ้มฮะหลี มีดหมูร้านสุดท้าย

          เดินจากกรมเจ้าท่าไปตามถนนแคบๆผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นไปเรื่อยๆ มองทางซ้ายมือจะเห็นป้ายชื่อร้านลิ้มฮะหลี มีดหมู มีรูปมีด 3 ชนิด ได้แก่ มีดแล่ มีดทำกับข้าว มีดสับ พร้อมหมายเลข 4 จำนวน 3 ตัว เป็นป้ายชื่อร้านที่ดูคลาสสิกและสื่อถึงสินค้าที่ขายได้อย่างชัดเจน

            ลิ้มฮะหลี เป็นร้านขายมีดสำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายหมูในตลาดน้อยรวมไปถึงต่างจังหวัดมานานกว่า 55 ปี น่าเสียดายที่ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ เหลือเพียงบุตรสาวของผู้ก่อตั้งที่รับหน้าที่ขายมีดที่พ่อทิ้งไว้ให้เป็นชุดสุดท้าย

            “หมดแล้วหมดเลย ไม่มีอีกแล้ว” ณัฏฐรัตน์ คูณผลคณา กล่าวถึงมีดลิ้มฮะหลีที่วางขายอยู่ในตู้กระจก แบ่งเป็นมีดสำหรับเชือดหมู มีผ่าที่ใช้กันในโรงหมู มีดแล่เนื้อหมู มีดสับ และมีดที่ใช้ในครัว

            บางชนิดเหลือเพียง 1 – 2 เล่มเท่านั้น !

            ณัฏฐรัตน์ ในวัยเกษียณ เล่าถึง “พ่อ” ผู้ก่อตั้งลิ้มฮะหลี  (ลิ้ม หมายถึงแซ่ลิ้ม ฮะหลี แปลว่า ชอบ) ว่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากประเทศจีน โดยมีอาชีพเป็นช่างตีมีดมาตั้งแต่ดั้งเดิม

            “มาอยู่เมืองไทยเป็นลูกจ้างในร้านทำมีดของอา สมัยนั้นตลาดน้อยมีร้านมีดหลายร้าน ส่วนมากเป็นญาติกันทั้งนั้น ลูกพี่ลูกน้องมาจากเมืองจีน

ทำงานได้สักพักก็ออกมาตั้งหลักเอง แรกๆพ่อไม่มีทุนไปยืมเงินลูกพี่ลูกน้อง 3,000 บาท มาตั้งตัวพ่อแต่งงานกับแม่ที่เมืองไทย อาศัยอยู่ที่ตลาดน้อยนี่แหละ เช่าห้องแถวอยู่สมัยนั้นเดือนละ 20 บาท

             แถวนี้เมื่อก่อนเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ขายเขียง ขายน้ำมัน เราเช่าที่หลังบ้านเขาตีมีด พอเริ่มมีเงินเลยมาเซ้ง ทั้งหลัง เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้ ตีเหล็กเสียงไม่ก้อง ต่อมาเขารื้อเรือนไม้สร้างเป็นปูนเสียงก้อง ต้องไปเช่าบ้านแถวริมน้ำ ทำเป็นโรงงานตีมีด มีคนงาน 3 คน”

             มีดหมูไม่เหมือนมีดชนิดอื่น ต้องมีขนาดน้ำหนัก ความคม และลักษณะที่เหมาะแก่การใช้งาน ณัฏฐรัตน์ อธิบสย

            “กว่าจะมาเป็นมีดหมูไม่ง่าย เป็นงานหนักที่ไม่มีใครอยากทำ วิธีการทำมีดหมูไม่เหมือนมีดชนิดอื่น เพราะว่าเราต้องใส่เหล็กกล้าอยู่ข้างใน ตีเหล็กแผ่นเดียวแล้วนำไปเผาไฟให้มันอ่อน พออ่อนแล้วต้องใช้ฆ้อนตีให้เป็นปากแล้วเอาเหล็กเส้นเข้าไปใส่แล้วตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

             มีดเล่มเดียวใช้คนทำ 3 คน ใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ตีขึ้นรูปแล้วต้องนำไปแต่งด้วย พอเสร็จแล้วช่างแต่ละคนจะเซ็นต์ชื่อ ด้วยการขูดเป็นตัวอักษรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า มีดเล่มนี้สำเร็จแล้ว

            “ลิ้มฮะหลีทำมีดขนาดใหญ่ สำหรับโรงหมูใช้ รองลงมาสำหรับร้านขายหมู แบ่งเป็นมีดสำหรับผู้หญิงกับผู้ชาย ของผู้หญิงจะมีขนาดเล็กกว่า มีดหมูที่ใช้แล่เนื้อ จะต้องเล่นปลาย เวลาแล่เนื้อหมู จะต้องใช้ปลายมีดปาด นี่คือลักษณะพิเศษ มีดมีน้ำหนัก 1.5 - 2 กิโลกรัม ถือว่าหนักนะ

              เด็กผู้หญิงที่ขายหมูหน้าปากซอยเลือกขนาด 2 กิโลกรัม เราบอกอย่าเอาไปเลยหนักข้อมือ เขาบอกเขาถนัดอย่างนี้ ใช้เหลือจนอันนิดเดียว คือลับไปเรื่อยๆ สังเกตดูเวลาไปตลาดตอนวายแล้ว คนขายหมูจะยืนลับมีดกัน บางคนลับเก่งก็ใช้ได้นาน บางคนลับกินเนื้อเหล็กก็สั้นเร็ว”

           มีดหมู ถือเป็นเครื่องมือคู่กายของคนขายหมู นอกจากลับแล้ว ต้องเก็บอย่างดี

           “มีดเล่มนึงใช้ได้เป็นปี แต่มีขโมยกันด้วยนะ” เจ้าของร้านเล่าพลางเฉลยว่า ของดีใครๆก็อยากได้ ยิ่งตอนนี้เหลืออยู่ร้านเดียว ทำให้รู้สึกเสียดายเหมือนกัน

             “หมดแล้วหมดเลย เหลือเท่าที่เห็น ช่างที่ทำกับเราก็ไม่ไปเปิดร้านเอง  ต้นทุนค่าเหล็กไม่แพง ค่าแรงแพง เถ่าชิ่ว (หมายถึง มือหนึ่ง หรือหัวหน้า) คนนึงค่าแรงเป็นพัน เถ่าชิ่วเป็นคนถือฆ้อนเล็ก คนอื่นถือฆ้อนใหญ่ ค่าแรง 600-700 บาท แต่คนถือฆ้อนเล็กค่าแรงแพงกว่า คือเถ่าชิ่วจะเป็นคนตีนำ แล้วอีก 2 คนตีตาม ไม่งั้นมีดจะไม่เรียบ

          คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่ากว่าจะได้มีดมาอันนึงผ่านหลายขั้นตอน คนรุ่นใหม่เลยไม่เอาเพราะว่าไหนจะต้องใช้แรง แถมไฟยังกระเด็นเสื้อนี่ขาดหมด เด็กรุ่นใหม่บอกว่าทำอาหลั่ยดีกว่า”

          นอกจากลิ้มฮะหลีจะเลิกทำมีดหมูแล้ว เมื่อถามไปถึงญาติพี่น้องที่เมืองจีน เจ้าของร้านบอกว่าเลิกทำมีดหมูแบบโบราณกันหมดแล้ว

          “ญาติทางเมืองจีนบอกว่าอายุ 50 ปีเลิกตีมีดกันแล้ว ในขณะที่พ่อเราทำถึงอายุ 80 กว่า พ่อบอกว่าถ้าวันไหนไม่เข้าไปทำมันไม่มีแรง” 

           แม้ว่าจะเป็นลูกสาวที่พ่อไม่อนุญาตให้เข้าไปใกล้เตาเผาเหล็ก แต่มอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหน้าร้าน แต่ณัฏฐรัตน์ก็บอกกับเราด้วยรอยยิ้มว่า

           “ทุกวันนี้ภูมิใจกับสิ่งที่พ่อสร้างมาให้ลูกๆ พ่อบอกว่า มีดมันไม่เน่าไม่บูด มันไม่กลัวน้ำไม่กลัวอะไร กลัวไฟอย่างเดียว และนี่คือมรดกที่พ่อทิ้งไว้ให้ก่อนจากไป”

            มีดหมูในตำนานที่เสริมเหล็กกล้าอยู่ข้างในยังมีอยู่อีกราว 20 เล่มเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย ไม่มีอีกแล้ว

(อ้างอิง : จีนย่านตลาดน้อย: ศรัทธาและเศรษฐกิจการค้าแห่งจีนสยาม โดย ภูมิ ภูติมหาตมะ , เดินทอดน่องย่านจีน ตอน ทอดน่อง 200 ปี โดยโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก)

ภาพ : ฐานิส สุดโต