ความลับของเขามอ

ความลับของเขามอ

เขามอ เป็นผลงานประติมากรรมประดับกระจกที่มีรูปทรงคล้ายกล่องซ้อนกันขึ้นไปเหมือนภูเขาจำลอง

เมื่อครั้งที่จัดแสดงครั้งแรกในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สร้างความรู้สึกให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับภาพสะท้อนจากภูเขากระจกขนาดย่อมที่แฝงไปด้วยทางเดินลึกลับที่ดึงดูดให้เดินเข้าไปภายใน

ครั้นเขามอ ออกมาตั้งตระหง่านอยู่กลางสวน Park@Siam ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภูเขากระจกเปิดรับแสงจากดวงอาทิตย์ พร้อมด้วยสีสันของใบไม้ ดอกไม้ รวมทั้งชีวิตของผู้คนที่อยู่ในสวน เขามอในบางมุมมีความกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและภูมิทัศน์ได้อย่างชัดเจน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ผลงาน เขามอ (KHAO MO Mythical Escapism) ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Aesthetica Art Prize 2015: 100 Longlisted Artists’ และได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือ The Aesthetica Art Prize Anthology ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปิน 100 คนที่ได้รับเลือกจากมากกว่า 60 ประเทศ ล่าสุดพึ่งได้รับรางวัลCommended with merit Prize จากEmerging Architecture Award 2015, London
(

เขามอ หรือ เขาถมอ

  เขามอ มาจากคำว่า ถมอ ในภาษาเขมร แปลว่า หิน คติการสร้างเขามอมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยได้รับอิทธิพลมาจากจีน นำมาผสมกับวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความเชื่อในศาสนาพุทธและพราหมณ์

บีน - สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ กล่าวถึงที่มาของผลงาน เขามอ ว่าเกิดขึ้นจากหัวข้อในนิทรรศการ Resort, An Art Exhibition for Landscape of Rest ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2556

      “เป็นโมเม้นต์ในแง่ที่คนอยากหลุดออกจากชีวิตประจำวัน ความคิดแรกเลยคิดถึงเขามอ เป็นภูเขาจำลองในสวนโบราณ คือ การจำลองธรมชาติ แทนที่เราจะไปหาธรรมชาติ เรากลับนำธรรมชาติเข้ามาหาเรา บีนสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

        เริ่มต้นจากการค้นคว้าข้อมูลถึงประวัติความเป็นมาว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองจีน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่อก่อนคนจีนมองว่า สวน คือ จักรวาล ภูเขา เป็นตัวแทนของ สวรรค์

เนื่องประเทศจีนนอกจากอากาศหนาวแล้ว ยังมีสงครามเยอะ จักรพรรดิจึงสร้างสวนขึ้นเพื่อสื่อถึงจักรวาล พอคนไทยเอาเข้ามา เรามีความเชื่อทางพุทธและพราหมณ์ ภูเขาจึงแทนเขาพระสุเมรุ ยอดสุดของเขามอเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เมื่อก่อนเขามอจะมีอยู่ในวังและวัดเท่านั้น”

ภูเขากับเงาสะท้อนในปัจจุบัน

       เมื่อเข้าใจที่มาแล้ว สนิทัศน์ ภูมิสถาปนิกและศิลปิน จึงนำแนวคิดในเรื่องความเชื่อมาสะท้อนในผลงานประติมากรรม

       “มองว่าเขามอเป็นภูเขาของความเชื่อ ความเชื่อเปลี่ยนไปจากอดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อก่อนคนเราทำทุกอย่างเพื่อศาสนา สีขาวกับสีดำมันชัดเจน ปัจจุบันความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล กับความเชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ มันชัดเจนขึ้น ขาวกับดำมันขึ้นอยู่กับว่าใช้เหตุผลข้างไหน ตอนนี้จึงมีสีเทา

       เขามอในที่นี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนเราได้มีห้วงเวลาส่วนตัว ดึงมาแค่ silhouette ของภูเขา ใช้ยูนิตที่เป็นสี่เหลี่ยมง่ายๆ แทนภูเขาแห่งความเชื่อในยุคปัจจุบัน ประดับด้วยกระจกว่าว เพราะว่าสนใจส่วนประกอบที่เกี่ยวกับความเชื่อ วัฒนธรรม กระจกว่าวเป็นวัสดุที่ใช้ประดับส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมของวัด มีความทนทานในงานประดับภายนอกอาคาร

     นอกจากนี้กระจกยังเป็นสื่อสะท้อนความคิดได้เป็นอย่างดี นอกจากเป็นภูเขาข้างนอกแล้วยังมีทางเดินลาดด้วยดินเข้าไปข้างในเป็น sanctuary สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือที่หลบ อยากพาคนกลับไปยังสถานที่บริสุทธิ์ที่สุด คือที่เริ่มต้นและที่สิ้นสุด คือ ดิน

  ข้างนอกเป็นกระจกมีความแวว สะท้อน ขัดแย้งกับข้างในที่เป็นดิน เหมือนกลับไปที่ไม่มีอะไร บางทีปัญหามันเกิดขึ้นเพราะเรามีอะไรข้างในเยอะ พยายามกลับไปในที่ๆเราไม่มีอะไรเลย” ศิลปิน อธิบาย

ธรรมชาติ และความเชื่อ

      จากผลงานเขามอ สนิทัศน์ ตั้งคำถามต่อในเรื่องของธรรมชาติและความเชื่อ ในนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะเดี่ยวครั้งแรก Capturing the Intangible ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เปิดแสดงถึง 20 สิงหาคม 2559)

     “เริ่มมาจากว่าอยากจับว่ามันคืออะไร ไม่ใช่ในแง่ประวัติศาสตร์ของรูปเพระปรางค์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่เป็นความเชื่อที่แปลงมาเป็นสัญลักษณ์ ที่เราไหว้แต่ไม่เคยเข้าไปข้างใน ความจริงมันคืออะไรกันแน่ เราสำรวจด้วยการตัดผ่านความรู้โดยใช้หนังสือธรรมะกับวิทยาศาสตร์ กระจก เหมือนกระบวนการในการค้นว่าตัวตนคืออะไรแล้วคลี่ออกมา เหมือนบทสนทนากับผู้ชม”

        สนิทัศน์ อธิบายถึงที่มาและกระบวนการทำงานที่สื่อออกมาทางผลงานศิลปะที่มีทั้งตัดกระดาษเป็นรูปทรงปรางค์ ถอดพิมพ์ออกมาเพื่อให้เห็นความอ่อนยวบที่อยู่ภายในโดยแทนค่าด้วยเยลลี รวมไปถึงประติมากรรมน้ำแข็งผสมฝุ่นกระดาษที่หลอมละลายไปในที่สุด

บอกเล่าความคิดแล้ว จึงเข้ามาสู่ผลงานอินสตอลเลชั่นที่สร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ จากความรู้สึกที่อยากจับ คราวนี้เธอสร้างพื้นที่ภายใต้ฟอร์มของพระปรางค์วัดอรุณจากความรู้สึกที่อยากจะเข้าไปข้างในแต่เข้าไปไม่ได้ ด้วยการนำผ้ามุ้งเนื้อบางเบามาพิมพ์ภาพป่า 4 ภาพซ้อนกันลงไป

       “เหมือนการสร้างป่าขึ้นมา ให้คนเดินจากข้างนอกแล้วเข้าไปข้างใน เลือกวัสดุเป็นผ้ามุ้งบางเพราะเราพูดถึงความมีตัวตนและไม่มีตัวตนพร้อมกัน ผ้าบางนี้บางมุมมองเห็นบางมุมมองไม่เห็น มันซ้อนกันในหลายเลเยอร์ ทั้งหมดเป็นภาพป่าที่เราเดินทางไป 4 ปีที่ผ่านมา เป็นป่าที่มีความหมายกับเราในสุด โดยพื้นที่ตรงกลายมีลักษณะเป็นถ้ำ

        วิธีการจัดวางเหมือนเดินเข้าไปข้างในเจดีย์ เป็นการซ้อนทับในเรื่องความเชื่อและธรรมชาติเข้าด้วยกัน”

          ศิลปินกล่าวถึงผลงาน A Journey Within ว่าเป็นความต้องการที่จะสื่อความหมายถึงเส้นทางของป่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่พามนุษย์เรากลับไปที่จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด โดยซ้อนทับเรื่องของความเชื่อในรูปทรงของเจดีย์สัญลักษณ์แทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรากราบไหว้กันอยู่ทุกวัน

      “ความเชื่อกับธรรมชาติ เมื่อก่อนเราเข้าใจกันด้วยความคิด ตอนนี้เราเข้าใจมันด้วยใจ เหมือนเราเข้าไปอยู่ในงาน ไขข้อข้องใจที่เราตั้งคำถามไปได้ระดับหนึ่ง นิทรรศการนี้อยากเปิดให้คนได้สำรวจตัวเอง ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เห็นมันเป็นสิ่งที่เป็นมั้ย เปลือกข้างนอกกับแก่นข้างในเป็นอย่างไร แต่ละคนมีคำตอบไม่เหมือนกัน”

     หรือทุกอย่างที่เห็นเป็นเพียงแค่จินตภาพ

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกและศิลปินวัย 36 ปี เจ้าของสนิทัศน์ สตูดิโอ

ปริญญาตรีสาขาภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญโทสาขา Fine Art ที่ Chelsea College of Art and Design ประเทศอังกฤษ

นอกจากผลงานเขาหมอที่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Aesthetica Art Prize 2015: 100 Longlisted Artists’ แล้ว

ยังมีผลงาน Equilibrium ที่คว้ารางวัลWinning the Special Selection Prize  ในงาน The international competition for the art-installation at The Sea Art Festival เมื่องปูซาน เกาหลีใต้ ปี 2556