ภาคธุรกิจชี้ความเชื่อมั่น‘ฟื้น’

ภาคธุรกิจชี้ความเชื่อมั่น‘ฟื้น’

ภาคธุรกิจ-นักวิเคราะห์ชี้ผลประชามติ หนุนความเชื่อมั่นลงทุนฟื้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างประเทศ คาดหลังจากนี้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มดีขึ้น

ภาคธุรกิจและนักวิเคราะห์ในแวดวงตลาดทุนประเมินตรงกันว่าผลประชามติที่ออกมาจะสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าการลงทุน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อว่าหลังจากผลประชามติออกมา มั่นใจว่ารัฐบาลได้วางโรดแมพกำหนดเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งในทางเศรษฐกิจมองว่าครึ่งปีหลัง 2559 การใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

แม้จะมีความกังวลเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศ อาจมีผลกระทบเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ยังคาดการณ์ในปีนี้ เศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 3.0-3.5%

เช่นเดียวกับนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าผลประชามติถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญออกแบบให้ประชาชนรับร่างอยู่แล้ว ซึ่งหากผลลงประชามติออกมาในลักษณะไม่เห็นชอบน่าจะเป็นปัญหามากกว่า เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

นายบุญชัย กล่าวว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความชัดเจนและรู้จุดจบ คือ มีรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมพในปี2560 ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และน่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ในส่วนของต่างประเทศยังต้องติดตามดูอีกทีว่ามีมุมมองอย่างไร จะตอบรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก คณะปฏิวัติหรือไม่ ถ้ารับได้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่เท่าที่ดูน่าจะจะยอมรับมากกว่า เพราะในช่วงที่ผ่านต่างชาติก็ได้เข้ามาสังเกตุการณ์ และการลงประชามติครั้งนี้ก็โปร่งใส ชัดเจน ถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์”

นายบุญชัย กล่าวว่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการจับจ่ายของประชาชนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่จะดีขึ้นมากหรือน้อยยังต้องติดตามต่อไป โดยเชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศมีผลต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูว่าทำอย่างไรให้ประชาชนสบายใจและออกมาจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

หอการค้าต่างชาติชี้ปลุกธุรกิจลงทุน

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่าผลประชามติสะท้อนได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในผลงานที่รัฐบาลทำงานและวางแผน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนโรดแมพที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ จึงถือว่าทุกอย่างเดินตามแผนงาน ที่เริ่มมองเห็นเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ

นักธุรกิจต่างประเทศเริ่มมองเห็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่พร้อมเดินหน้า จึงเชื่อว่าจากนี้ต่อไป 1 ปีก่อนเลือกตั้งจะภาคธุรกิจจะเริ่มเดินหน้าแผนการลงทุน เช่นเดียวกันกับรัฐบาลที่ต้องเร่งรัดการส่งเสริมการลงทุนตลอดระยะเวลาที่เหลือ 1 ปี

“ผลการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มพอใจแนวทางการบริหาร และหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ตามโรดแมพของรัฐบาลที่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยที่รัฐบาลฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างมีความมั่นคง และประชาชนมีความสุขมากขึ้น เชื่อว่าบรรยากาศการค้าขายก็เริ่มกลับมา”

นักวิเคราะห์คาดฟื้นเชื่อมั่นทุนต่างชาติ

นายสมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าผลที่ออกมาน่าจะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมาได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ และตรงนี้น่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ) หรือการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

นอกจากนี้ถ้าดูโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งที่อนุมัติแล้ว รวมทั้งโครงการที่ใกล้จะได้รับการอนุมัติซึ่งมีมูลค่ารวมกันราว 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้น่าจะเริ่มลงทุนได้ก่อนมีการเลือกตั้งในปีหน้า ยิ่งทำให้ความมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อการลงทุนรัฐ มีมากยิ่งขึ้น จึงเชื่อว่าจากนี้ไปน่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนกลับมาได้อย่างชัดเจนขึ้น

“ตัวแปรสำคัญจริงๆ อยู่ที่ โครงการรัฐ เท่าที่ดูมีโครงการที่ผูกพันไว้ถึง 7.2 แสนล้าน และยิ่งผลประชามติออกมาค่อนข้างชัดแบบนี้ ยิ่งสะท้อนว่าโรดแมพที่รัฐบาลวางเอาไว้ น่าจะทำได้ตามนั้น ตรงนี้จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เชื่อว่าหลังจากนี้เราคงเห็นการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาดีขึ้น หลังจากที่หดหายไปนาน”

ห่วงพรรคการเมืองอ่อนแอ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล. ภัทร กล่าวว่า ผลการทำประชามติเชื่อว่าผลจะเกิดคือทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคตจะอ่อนแอลง ไม่มีพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา และทำให้ข้าราชการจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศมากขึ้น"

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือการออกกฏหมายลูก ที่จะต้องพิจารณาหลังจากนี้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะกฏหมายลูกมีความสำคัญอย่างมาก และจะกำหนดทิศทางของประเทศหลังจากนี้

นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่ากระแสเงินทุนต่างประเทศจะมีทิศทางอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติคงเอาผลที่เกิดขึ้นไปวิเคราะห์ก่อน ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพอย่างมาก สะท้อนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทำให้เห็นว่าภาคเอกชนในประเทศไทยยังมีกำลังซื้อ นักลงทุนส่วนหนึ่งจะมั่นใจว่าหากนำเงินมาลงทุนประเทศไทย เพราะโอกาสฟื้นก็ยังมีอยู่

คาดหุ้นพุ่งแรง-เงินบาทแข็ง

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่าถือเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวกระโดดขึ้นได้ จากวันศุกร์ที่ดัชนีปิดที่ 1,518.69 จุด โดยดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 1,550 - 1,580 จุด คิดว่าค่าพีอี 17 เท่า เทียบจากกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้

“หลังผลประชามติออกมาเช่นนี้ หุ้นไทยน่าจะเปิดกระโดดขึ้น และมีโอกาสไปทดสอบระดับ 1,550 จุด นักลงทุนระยะสั้นแนะนำให้ขายทำกำไรออกมาบางส่วน โดยอาจจะรอดัชนีปรับฐานและทยอยซื้อคืนบริเวณ 1,480 จุด เนื่องจากดัชนีเริ่มขึ้นมาอยู่ในจุดที่สูงแล้วเมื่อเทียบกับกำไรในปีนี้ แต่ในระยะยาวเทียบกับกำไรปีหน้า มองว่ายังเป็นระดับที่ลงทุนต่อไปได้”

รับร่างรธน.ทิ้งห่างหนุนบาทแข็ง

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่าผลประชามติส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น และค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้การจ้างงานสหรัฐออกมาดีเกินคาด มีโอกาสที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ แต่นักลงทุนรับรู้ล่วงหน้าไปมากแล้ว ยังเชื่อว่ามีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง

ดังนั้น มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 34.80-35.30บาท/ดอลลาร์ จากค่าเงินบาทช่วงปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาอยู่34.83-34.84 บาท/ดอลลาร์ ส่วนผลต่อบอนด์ยิลด์ น่าจะกลับมาทรงตัว ยังพอมีแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติ จากปัจจัยเสถียรภาพที่ยังดีในระยะต่อจากนี้อีก1ปี