ผวากม.แรงงานใหม่สหรัฐฉุดส่งออก

ผวากม.แรงงานใหม่สหรัฐฉุดส่งออก

"ส.อ.ท." ห่วงสหรัฐบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานฉบับใหม่ ทีเอฟทีอีเอ ห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากนักโทษและแรงงานขัดหนี้ หวั่นกระทบส่งออกไทย

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศุลกากรTrade Facilitation and Trade Enforcement Act 2015 (TFTEA)ฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่21ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งบังคับให้สินค้าที่ส่งเข้าไปในสหรัฐ ต้องอยู่บนมาตรฐานแรงงานที่ไม่ใช่นักโทษและแรงงานขัดหนี้ ดังนั้นธุรกิจที่ใช้แรงงานของไทยที่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าว ถ้าไม่รีบปรับตัวจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐในอนาคต

“ถ้าถามว่า กรณีปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยที่ถูกสหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในเทียร์ 2 กับกฎหมายฉบับใหม่TATEAผมว่า กฎหมายใหม่มีผลกระทบกับไทยมากกว่า เพราะกรณีเทียร์ กำหนดแค่4อุตสาหกรรม และส่วนใหญ่กระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำ แต่กฎหมายใหม่นี้ควบคุมทุกสินค้า และกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการตีความมุมมองแรงงานขัดหนี้ ของไทยกับสหรัฐยังต่างกัน”

ทั้งนี้ การใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย มีการใช้แรงงานต่างด้าวในหลายอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายที่เข้ามาในลักษณะผ่านบริษัทหรือนายหน้าจัดหางาน และจะใช้วิธีการจ่ายเงินสำรองล่วงหน้าไปก่อน ซึ่งตรงนี้ อาจถูกตีความว่าเป็นการใช้แรงงานขัดหนี้

เบื้องต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานลักษณะนี้ เช่น แรงงานในไร่อ้อย และกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งตามกฎหมายของไทย ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ของสหรัฐ มองว่า เป็นเรื่องขัดกฎหมาย รวมถึง การใช้แรงงานนักโทษ ซึ่งที่ผ่านมารัฐและเอกชนจะส่งเสริมการฝึกอาชีพแล้วผลิตสินค้า ดังนั้น กลุ่มนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.เตรียมจัดสัมมนาเพื่อเร่งให้ความรู้กับภาคธุรกิจ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำเอกสารที่ควรมี2ภาษา เช่น ฉบับภาษาไทย และฉบับภาษาอังกฤษ เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่นี้ มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สหรัฐ กรณีมีข้อร้องเรียนว่า สินค้าที่นำเข้าไปในสหรัฐเข้าข่ายใช้แรงงานต้องห้าม ซึ่งอาจถูกตัดสิทธิ์ห้ามนำเข้าไปเลย