“เสวียน” ภูมิปัญญาลดควันแห่งล้านนา

“เสวียน” ภูมิปัญญาลดควันแห่งล้านนา

แม้จะมีการรณรงค์กันทุกปี แต่ปัญหาหมอกควันก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวไทยต้องประสบพบเจอ

โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุของการเกิดหมอกควันนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเผาขยะใบไม้ของชาวบ้าน


จะว่าไป ในอดีตชาวล้านนามีภูมิปัญญาที่เรียกว่า เสวียน ที่ใช้ในการกำจัดขยะใบไม้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสวียนก็กลายเป็นอดีตที่ถูกลบเลือน กระทั่งวันที่หมอกควันกดดันผู้คนอย่างเต็มที่ จึงมีการฟื้นภูมิปัญญาที่เรียกว่าเสวียนนี้กลับมาอีกครั้ง


ดร.ธีรพล สุรพรหม อาจารย์ประจำหลักสูตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และประธานกรรมการหมู่บ้านท่องเที่ยวบ้านปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เล่าว่า เสวียน คือภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เป็นการนำเอาไม้ไผ่มาสานรอบโคนต้นไม้เพื่อใช้เก็บขยะใบไม้ เป็นการลดการใช้ปุ๋ยบำรุงต้นไม้ แถมยังไม่สร้างมลพิษ ซึ่งเคยมีการใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ขาดหายไปในบางช่วง จนระยะหลังมีปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นมาก ชาวบ้านจึงหันกลับมาพึ่งพาภูมิปัญญาแต่โบราณอีกครั้ง


“อย่างที่เป็นข่าว ช่วงหลังแม่สายมีปริมาณหมอกควันที่เรียกได้ว่าแทบจะสูงที่สุดของประเทศ ทั้งควันเราเองและควันจากพม่า เราเลยทำตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งที่หมู่บ้านปางห้า อำเภอแม่สาย ถือเป็นหมู่บ้านนำร่อง ตอนนี้แทบทุกบ้านในปางห้ามีเสวียนกันทุกหลังคา บางหลังมีมากกว่า 1 อัน และผลของหมอกควันก็ลดลงจริงๆ”


ดร.ธีรพล เล่าถึงวิธีการทำเสวียนว่า จะต้องใช้ไม้ไผ่ในการทำ โดยจะนำไม้ไผ่มาเหลาให้เป็น “หลัก” แล้วปักไปรอบๆ โคนต้นไม้ จากนั้นผ่าไม้ไผ่ให้เป็นเส้นยาวเพิ่มเติมแล้วนำมาสานขัดไปมา ซึ่งวิธีการสานก็คล้ายกับการสานตะกร้า ผิดเพียงแต่ว่าเสวียนต้องสานรอบต้นไม้


ขนาดของเสวียนกว้างประมาณ 2 เมตร สูงราว 80 เซนติเมตร ใช้เก็บขยะใบไม้ที่ร่วงหล่น เมื่อใบไม้ทับถมกันก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และไม่จำเป็นต้องเผาใบไม้เพื่อกำจัดขยะด้วย


“เสวียนช่วยลดการเกิดควันไฟอย่างไร คือถ้าเราไม่เอาใบไม้ไปใส่เสวียน ชาวบ้านก็จะกวาดกองๆ แล้วก็จะเผา ขยะมีทุกวัน กวาดทุกวันก็เผาทุกวัน มันเหมือนเป็นวัฒนธรรมการเผา เหมือนอยู่ในสายเลือด เช้ามาต้องกวาดขยะ กวาดแล้วก็ต้องเผา ตอนเช้ามาก็จะมีควันขึ้นเกือบๆ ทุกบ้าน เกือบทุกครัวเรือน”


หลังฟื้นภูมิปัญญาเสวียนกลับมา ปัญหาหมอกควันที่บ้านปางห้าก็ลดลง ดร.ธีรพล บอกว่า ได้ของแถมมาคืออากาศดี ทำให้บางคนที่เป็นภูมิแพ้ไม่มีอาการเลยในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะได้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนมานั่นเอง