เคเบิ้ลทีวีถอยไป…สตรีมมิ่งมาแล้ว

เคเบิ้ลทีวีถอยไป…สตรีมมิ่งมาแล้ว

ยุคใหม่ของการดูทีวีที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้ชมไปตลอดกาล ทั้งยังเป็นช่องทางของผลประโยชน์ที่ใครๆ ต้องจับตา

ตั้งแต่การเปลี่ยนมือของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการฟุตบอลระดับโลก เมื่อ4-5ปีก่อน ดูเหมือนContentเจ๋งๆ เริ่มมีสัญญาณการกระจายตัวที่มากขึ้น

ใช่... ในอดีตมันเคยกระจุก เพราะบ้านเราเคยมียักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาดContentอยู่ไม่กี่ราย... อาจแค่หนึ่งหรือเป็นสอง และใครๆ ก็พร้อมพร้อมจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก แต่เชื่อไหม… ยุคนี้ มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะContentดีๆ ถูกกระจายไป และแน่นอนมันคือทางเลือกใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นธุระของผู้บริโภคเองที่ต้องหาแพลตฟอร์มรองรับเนื้อหาเหล่านั้น

สตรีมมิ่งมาแรง

  ยกตัวอย่างเอาแค่ฟุตบอลอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ถ้าใครอยากดูพรีเมียร์ลีกต้องเป็นสมาชิกเคเบิ้ลทีวีเจ้าหนึ่ง ถ้าอยากดูบอลสเปนต้องไปอีกเจ้า หรือถ้าอยากดูฟุตบอลอิตาลี ก็ต้องมีเจ้าที่สาม นี่ยังไม่นับลิขสิทธิ์ทัวร์นาเมนท์ใหญ่ๆ อย่าง ฟุตบอลยูโร ฟุตบอลโลก ซึ่งก่อนจะเริ่มแข่งขัน ต้องถามกันก่อนว่า ใครได้ลิขสิทธิ์ไปแล้ว “ฟรีทีวีธรรมดาๆ จะดูได้ไหม”

  จากสถานการณ์ข้างต้น เมื่อผสมเข้ากับความแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน มันจึงเป็นโอกาสของContent Hubที่แจ้งเกิด เป็นกระแสดูทีวีผ่านเว็บบราวเซอร์ เช่นเดียวกับผู้บริโภค“สายหนัง”ที่ยอมละทิ้งร้านวีดีโอ-ซีดี ใกล้บ้าน เพื่อพึ่งบารมีของการดูผ่านอินเทอร์เน็ต โหลดซีรีส์ผ่านBitTorrent ในช่วงหนึ่ง จึงถือเป็นยุคทองของการโหลดของฟรีลงในฮาร์ดดิสก์ความจุเยอะๆ ที่แต่ละคนพกติดตัวไว้

ความป๊อปข้างต้นเกิดขึ้นและยังดำรงอยู่ แต่มีทีท่าว่าจะโบกมือลาในอีกไม่นานนี้ เมื่อกระแสการชมผ่านระบบ วิดีโอสตรีมมิ่ง(Video Streaming)มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นNetflix, Iflixที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย หรือจะเป็นOnline Movie Storeอย่างiTunesที่สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นการชมแบบOn Demandที่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนดู

นพปฎล พลศิลป์ บล็อกเกอร์ นักจัดรายการและนักวิจารณ์บันเทิงบอกว่า วีดีโอสตรีมมิ่ง มีส่วนทำให้พฤติกรรมของคนเสพContentเปลี่ยนไป เพราะเมื่อดูได้ ‘ทุกที่-ทุกเวลา’ สอดคล้องกับแพล็ตฟอร์มผ่าน ‘สมาร์ทโฟน-แท็บเลต’ ที่ใครๆ ก็มี กระทั่งเนื้อหาที่แต่ละแอพพลิเคชั่นอัพเดทนั่นก็ใหม่กว่า สดกว่า เช่นนี้ การดูทีวีซึ่งต้องตรึงตัวเองไว้บนโซฟา จึงมีที่ว่างน้อยลง

“เมื่อผู้ให้บริการ ตอบสนองความต้องการเรื่องของContentเหล่านี้ได้ ตลาดการดูแบบวีดีโอ สตรีมมิ่ง จึงโตขึ้น การซื้อซีดีจึงน้อยลง จะตัดสินใจซื้อก็ต่อเมื่อมันเป็นของสะสม เป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ หรือต้องการดูเนื้อหา เช่น ซีนพิเศษ หรือเบื้องหลังที่มากไปกว่าเนื้อหาปกติ”

จากกล่องเคเบิ้ลทีวี–เครื่องเล่นซีดีที่วางใกล้โทรทัศน์ มันจึงกลายเป็นยุคของกล่องแอนดรอยด์ ที่เปลี่ยนให้โทรทัศน์กลายเป็นสมาร์ททีวี เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพื่อชมสิ่งที่อยากดูทุกอย่างบนโลกนี้ แบบไม่ง้อกล่องเคเบิ้ลทีวี ที่เคยมีอภิสิทธิ์การเข้าถึงเนื้อหาเช่นในวันก่อน

 

IPTVกล่องทีวีสีเทา

  นวัตกรรมอาจมีจุดเริ่มต้นจากไอเดียเล็กๆ ที่มุมใดมุมหนึ่งในร้านกาแฟ แต่เชื่อไหม… ไม่ว่าจะโลกสวยหรือมองในแง่ร้าย จุดสิ้นสุดของมันกลับอยู่ที่ตลาดไอทีใหญ่ๆ ในห้างสรรพสินค้า อย่าง พันทิพย์,ฟอร์จูน,เซียร์รังสิต ฯลฯ

เปล่า…เราไม่ได้ว่าที่แห่งนั้นเต็มไปด้วยของปลอม เพียงแต่เมื่อมันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าไอทีขนาดใหญ่ มันก็ย่อมเป็นไปได้ว่า จะเจอทางเลือกอะไรแปลกๆ สนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งที่ขาวสนิท หรือดำๆ เทาๆ

ลองคิดถึงแผ่นเพลง-แผ่นหนังที่จ่ายไม่ถึงร้อย ก็สามารถฟังเพลงฮิตได้ครบอัลบั้ม จากแผ่นmp3คิดถึงเกมลิขสิทธิ์ที่ต้องCrackก่อนถึงจะได้เล่นเช่นเดียวกันกับกล่องIPTV (Internet Protocol Television)ซึ่งทำหน้าที่สตรีมมิ่งเนื้อหา นี่ก็เช่นกัน ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์มีพ่อค้าหัวใสดูดเนื้อหาจากหลายต้นทางเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ พร้อมปล่อยให้สมาชิกที่เสียค่าบริการรับชมไปแล้วแบบไม่อั้น ภายในระยะเวลาที่เสียค่าสมาชิก ไม่ต่างอะไรจากการรวมผู้ให้บริการวิดีโอ สตรีมมิ่งทุกเจ้าเข้าด้วยกัน

เจ้าของร้านขายกล่อง IPTVในตลาดไอที บอกว่า มีผู้ซื้อเข้ามาสอบถามการติดตั้งกล่องIPTVทุกวัน โดยในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ขายได้ประมาณ3,000กล่อง และดูมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาจากกระแสซีรีส์

“ใครๆก็อยากดูของดี และจ่ายถูก แค่กล่องเดียวมีครบ ดูบอลได้ทุกลีก จะดูซีรีส์ หรือดูหนังนั่นมีหมด คนในวงการรู้กันว่า ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยรวมๆ แล้วมีประมาณ200เจ้าได้ แต่ถ้าได้รับความนิยมและรู้จักกันดี ก็น่าจะมีสัก10กว่าราย ส่วนใหญ่เก็บค่าบริการเดือนละ200-300 บาท ดูเท่าไรก็ได้ภายในระยะเวลา30 วัน พอหมดแล้วก็ต่ออายุใหม่ ส่วนใครจ่ายเหมาเป็นราย3เดือน6เดือน ก็จะมีโปรโมชั่นถูกกว่า”

ผู้ประกอบการอีกราย ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดไอที ตั้งแต่ยุค MP3, ยุคกล่องเคเบิ้ลทีวีเถื่อน และดรีมบ็อกซ์ วิเคราะห์ว่า คุณสมบัติของIPTVเอื้อต่อผู้ให้บริการนอกระบบมากขึ้น เพราะระบบนี้ไม่มีความยุ่งยาก ไม่ต้องติดตั้งจานดาวเทียม โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่มีข้อจำกัดในพื้นที่ การใช้กล่อง IPTV จึงสะดวกกว่ามาก ผู้อยู่ในคอนโดจึงเป็นกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของการติดตั้ง IPTV ทั้งที่จดทะเบียนถูกกฎหมายและไม่

ส่วนกรณีดังกล่าวเชื่อว่าทุกคนรู้ดี เพราะนี่คือพื้นที่สีเทา ซึ่งต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีได้ทุกเมื่อ นั่นหมายความว่าแม้ลูกค้าจะจ่ายค่าบริการครบถ้วนทุกเดือน หากแต่เมื่อผู้ประกอบการโดนจับ ก็ไม่มีกลไกเรียกร้องใดๆ จะรองรับทั้งสิ้น

  ผู้ใช้บริการคนหนึ่ง สะท้อนว่า มัน“คุ้มค่า”มาก นั่นเพราะจ่ายค่ากล่องIPTVไม่เกิน2,800 บาท บวกค่าสมาชิกไม่กี่ร้อย ก็จะได้ดูเนื้อหาที่ครบ ทั้งฟรีทีวี ภาพยนตร์ ซีรีส์ กระทั่งผู้ประกอบการบางรายยังเอาใจลูกค้าด้วยการหาContentเด่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอบนยูทูบ ละครย้อนหลัง ไว้รองรับความต้องการ กล่องIPTVจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

“ทุกคนรู้ว่าผิดกฎหมายครับ แต่ถามหน่อยครับ จ่ายแค่200-300บาท ได้ดูทั้งบอล ทั้งหนัง คลิปในยูทูบ มันก็น่าเสี่ยงไม่ใช่เหรอ อย่างGame of Throneซีซั่น6ที่เพิ่งจบไป…ไปๆมาๆ ดูในกล่องIPTVยังเร็วกว่าดูในเคเบิ้ลทีวีที่ผมเป็นสมาชิกมาก่อนด้วยซ้ำ ผมว่าทุกคนรู้ว่า มันไม่แน่นอน ไม่มีบริการสมาชิกหลังการขายเหมือนเคเบิ้ลทีวี แต่ก็พร้อมที่จะรับความเสี่ยงตรงนั้น เพราะเป็นราคาที่จ่ายได้ และอาจจะยืนยันได้ว่าคนไทยไม่ได้อยากดูแค่ของฟรีเท่านั้น ถ้ามันดีจริง ราคาน่าสนใจ ทุกคนก็พร้อม ไม่ว่ามันจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม”

  ตลาดไอทีซึ่งคับคั่งไปด้วยอุปกรณ์รองรับความบันเทิงแบบHome Entertainmentจึงมีที่ว่างสำหรับกล่องIPTVรอให้บรรดาลูกค้าสอบถาม และน่าจะเป็นกระแสนิยมอีกนานในยุคที่อินเทอร์เน็ตคือต้นทางของทุกอย่าง

 

จับตาตลาด IPTV

  บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งที่ให้บริการกล่องIPTVให้ข้อมูลว่าหลังการเปิดตัวกล่องIPTVเมื่อ3ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน (ก.ค.59) มียอดสมาชิกผู้ใช้บริการประมาณ2แสนราย โดยการทำตลาดของทีโอที จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตบ้าน จากนั้นจึงได้แพ็คเกจดูทีวีผ่านกล่อง ซึ่งรองรับได้ทั้งช่องทีวีดิจิตอลและช่องทีวีพื้นฐาน รวม กว่า100ช่อง รวมถึงภาพยนตร์และสารคดีที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามา ส่วนจากนั้นหากใครอยากมีทางเลือกเพิ่มก็สามารถอัพเกรดแพ็กเกจเสริม ซึ่งมีราคาเพิ่มเติมตามโปรโมชั่นไป

ลักษณะข้างต้นนี้ คล้ายกับผู้ให้บริการที่มีอยู่ในตลาด อาทิ กล่องAIS PLAYBOXกล่อง3 BB IPTVและอีกหลายผู้ประกอบการ ซึ่งจะเสนอโปรโมชั่นเปลี่ยนระบบอินเทอร์เน็ตบ้าน จากADSLเป็นผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic)ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานมัลติมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ มีเสถียรภาพสูง ทำให้การดูโทรทัศน์ผ่านกล่องIPTVกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ถึงเช่นนั้นผู้ประกอบการตามกฎหมายในประเทศยังต้องปรับอีกมาก ทั้งยังต้องเผชิญกับค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ทั้งใหม่และเก่าซึ่งมีราคาสูง ทำให้ยากในการเพิ่ม Contentสนองความต้องการของผู้ชมได้แบบที่ผู้ประกอบการลักลอบทำ

จะพอมีที่ยืนได้ก็น่าจะเป็นเจ้าใหญ่จากต่างประเทศ อย่างNetflixหรือiflixซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการเข้าถึงง่าย ราคาสมเหตุสมผล สามารถทดลองใช้บริการฟรีได้30 วัน โดยไม่เรียกหาตัวเลขบนบัตรเครดิต และแม้ภาพยนตร์ที่ให้บริการ จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ แต่ก็มาพร้อมกับ Content ที่หาชมได้ยาก มีคำบรรยายภาษาไทย สำหรับกลุ่มผู้ชมในประเทศไทยโดยเฉพาะ

นอกจากกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ของเนื้อหาแล้ว ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ลักษณะการแข่งขันทางธุรกิจจึงผลิกโฉมไปด้วย ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของผู้ให้บริการวิดีโอ สตรีมมิ่งนอกระบบที่มากขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องพิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในระบบ เพราะมีผลต่อการแข่งขันและการเกิดขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ในอนาคต

มันจึงเป็นการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน บนเส้นทางของ “ความอยากดู-มีผู้สนองตอบ” ซึ่งนำมาด้วยธุรกิจใหม่ๆ ในทุกยุค

“ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจพบได้ เกิดการบล็อกสัญญาณทิ้ง ก็คงโดนลอยแพ วันนั้นค่อยกลับมาเลือกกล่องIPTVในระบบ ว่าเจ้าไหนดีกว่า มีหนังมากกว่า-ถูกกว่า แต่ที่แน่ๆ กล่องเคเบิ้ลที่ดูกันเมื่อไม่กี่ปีก่อน เขาเลิกดูกันแล้ว” ผู้บริโภครายหนึ่ง ที่เคยมีกล่องสมาชิกเคเบิ้ลทีวีมากกว่า4กล่องบอก

  ถึงบอกว่าอย่างอื่นหลบไปก่อน เพราะทีวีสตรีมมิ่งในกล่อง IPTVเขามาแรงจริง