ไทยพบ 'ชายชาวคูเวต' ป่วยเมอร์สรายที่ 3

ไทยพบ 'ชายชาวคูเวต' ป่วยเมอร์สรายที่ 3

พบผู้ป่วยเมอร์สรายที่ 3 เป็นชาย 18 ปีชาวคูเวต รับตัวรักษาห้องแยกโรค พร้อมกักตัว 2 ญาติใกล้ชิด-คนขับแท็กซี่

ที่กรมควบคุมโรค นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคมโรค ได้มีการตรวจพบผู้ต้องสงสัยป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส เป็นชายชาวคูเวต อายุ 18 ปี เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2559 พร้อมกับย่า และบิดา โดยวัตถุประสงค์เดิมคือพาย่ามารักษาโรคเข่า แต่ชายอายุ 18 ปีเริ่มมีไข้หวัดในวันที่ 26 ก.ค. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังโรคเมอร์ส โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำการรักษาอาการป่วยของย่าจึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเอง ผลออกมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.พบว่ามีเชื้อเมอร์ส จึงได้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค ให้รับตัวมาเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเมื่อวันที่ 28 ก.ค. เพื่อเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 

“ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบของสถาบันฯ ขณะนี้ไข้ลดลง ส่วนอาการอื่นๆ ไม่มีน่าเป็นกังวล นับจากวันที่ 26ก.ค.จนครบ 14 วัน หากผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าไม่พบเชื้อก็จะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ส่วนญาติอีก 2คนที่ถือเป็นผู้มีสัมผัสโรคความเสี่ยงสูงได้รับเข้ามาดูแลที่สถาบันบำราศนราดูรเรียบร้อยแล้ว รวมถึง คนขับแท็กซี่ก็ตามตัวเข้ามาอยู่ในการดูแลที่โรงพยาบาลแล้วเช่นเดียวกัน” นพ.อำนวย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อตรวจพบเชื้อนี้ในตัวผู้ป่วยทำไมจึงใช้คำว่าน่าจะป่วย นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกหรือฮู จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยยืนยัน 2.กลุ่มที่น่าจะป่วย และ3.กลุ่มที่ไม่แน่นอน ซึ่งต้องได้รับการดูแลตามมาตรการสูงสุดเท่ากันหมด ซึ่งกรณีของชายคนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่2 เนื่องจากมีการส่งสารคัดหลั่งตรวจที่ห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี แม้จะตรวจพบเชื้อ แต่ผลยังไม่นิ่งในทางการแพทย์จะนับว่ารายนี้เป็นผู้ที่น่าจะป่วย ต้องรอการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม แต่จำเป้นต้องเข้าสู่ระบบการดูแล ถือเป็นรายที่2 ของปี 2559 และรายที่3ของประเทศไทยนับจากที่มีการเฝ้าระวังมา

ต่อข้อถามถึงมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อของผู้ร่วมโดยสารมากับเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วย นพ.อำนวย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบชื่อ จำนวนหมดแล้ว จากนี้จะติดตามเพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามเกณฑ์ต่อไป โดยมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการระบบติดตามที่กรมควบคุมโรคเป็นการเฉพาะ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ขอให้ประชาชนอย่าแตกตื่น อย่ากังวล ขอให้มั่นใจในระบบการควบคุมป้องกันโรคของกระทรวง ส่วนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็มีการเฝ้าระวังตามเกณฑ์ที่เคยปฏิบัติมา ถือว่าเป็นระบบที่มีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อทราบว่ามีผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลเอกชนก็รีบแจ้งมาทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเมอร์สมาแล้ว 2 ราย โดยรายที่ 1 พบเมื่อปี 2558 เป็นชายชาวตะวันออกกลาง วัย 75 ปี
และผู้ป่วยยืนยันรายที่ 2 พบเมื่อเดือนมกราคม 2559 เป็นผู้ชาย อายุ 71 ปี ชาวโอมาน ทั้งหมดเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จนอาการหายเป็นปกติและเดือนทางกลับประเทศแล้ว และจากรายงานขององค์การอนามัยโลก สถานการณ์ของโรคเมอร์สทั่วโลก ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 1,791 ราย เสียชีวิต 640 ราย จาก 27 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง