เล็งผุดทางด่วน เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เล็งผุดทางด่วน เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ

กทพ. เร่งศึกษาทางด่วนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หวังปูพรมไทยขึ้นแท่นสี่แยกอาเซียน เล็งปั้น “ด่านอรัญประเทศ” เป็นศูนย์กลางคมนาคม

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างสำรวจศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาทางพิเศษเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ และตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นสี่แยกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนทั้ง 4 ทิศทาง

ประเดิมสายอรัญประเทศ

คือ ทิศเหนือที่แม่สาย ทิศตะวันตกที่แม่สอด ทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุกดาหาร และทิศใต้ที่สะเดา โดยบริเวณที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการมากที่สุดในปัจจุบัน คาดว่าจะเป็นด้านทิศตะวันออก บริเวณ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากพบว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโครงข่าย ที่จะเชื่อมโยงไปยังทางพิเศษอื่นๆ อีกทั้งแนวเส้นทางยังสนับสนุนการขนส่งสินค้า เชื่อมมายังพื้นที่แหลมฉบังซึ่งจะเป็นเขตการค้าสำคัญของไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ กทพ.ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี - พัทยา โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา - พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี

ทางพิเศษระยะเร่งด่วน6หมื่นล้าน

โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ โครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น และโครงการทางพิเศษในระยะเร่งด่วน มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1. ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มูลค่า3.2 หมื่นล้านบาท
2. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E - W คอร์ริดอร์ ด้านตะวันออก มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท และ3. โครงการทางพิเศษสายกระทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มูลค่า1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตกพบว่ามีความจำเป็นสูง เนื่องจาก กทพ.วางแผนที่จะนำเส้นทางดังกล่าว มาเป็นเส้นทางเสริมของทางด่วนพระราม 9 ที่เปิดใช้มานานกว่า 30 ปี ซึ่งตามแผนงาน กทพ.มีแผนที่จะปิดปรับปรุง ดังนั้นหากเร่งรัดโครงการใหม่ดังกล่าว ก็จะเข้ามารองรับประชาชนเดินทางได้ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้บอร์ด กทพ.ได้อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2560

ดันเส้นพระราม3เข้าอินฟราฯฟันด์

นายณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า แนวทางในการจัดหางบประมาณก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก นโยบายของรัฐบาลวางไว้2 ทางเลือกคือ 1.ผลักดันเข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์นำเอาเครื่องมือระดมทุนมาใช้ และ 2.กทพ.ยังศึกษาที่จะเปิดกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาพิจารณาเรื่องผลตอบแทน เบื้องต้นจะแบ่งการระดมทุนออกเป็น3 รอบ รอบละ 1 หมื่นล้าน และคาดว่าจะให้ผลตอบแทนอยู่ที่5.5 – 6%

“กทพ.มุ่งหวังว่าจะวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทางพิเศษให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงภูมิภาคและเชื่อมโยงระดับเออีซี ดันให้ไทยเป็นสี่แยกของอาเซียน มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ”

ปัจจุบัน กทพ.ได้เปิดให้บริการทางพิเศษแล้ว 7 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1)ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) และ 4 ทางเชื่อมต่อ อาทิ ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า1.8 ล้านเที่ยว สูงสุดวันละ 2.1 ล้านเที่ยว และมียอดผู้ใช้บัตรอีซี่พาส แล้วกว่า1.155 ล้านบัตร