'สมคิด'ชม'นายกฯ'ทำงานหนัก เชื่อไม่สืบทอดอำนาจ

'สมคิด'ชม'นายกฯ'ทำงานหนัก เชื่อไม่สืบทอดอำนาจ

“สมคิด” ชม “นายกฯ” ทำงานหนัก เชื่อไม่สืบทอดอำนาจ ชี้ผลงาน 10 เดือนมีมากกว่า 5 ปีของรัฐบาลในอดีต

ที่หอประชุมกองทัพเรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเปิดงานและกล่าวปาฐกฐาพิเศษหัวข้อเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างเมกะโปรเจกต์ขับเคลื่อนประเทศ ในโอกาสครบรอบ 63 ปี นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงในเมืองไทยไม่ใช่แบบตุรกี อย่าซี้ซั้วพูด ของเราเป็นประเทศที่มีปัญหา แต่รัฐบาลพยายามก็แก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนพูดควรมีสติและความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ วันนี้เห็นนายกฯทำงานหนัก และไม่เคยมีใครอ่านวาระการประชุม ครม.แทบทุกหน้าเหมือนนายกฯ และไม่เคยเห็นตรงไหนที่แสดงให้เห็นว่านายกฯจะสืบทอดอำนาจ การทำงานตนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมานั่นเอาใจ เมื่อนายกฯไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่เข้ามาอยู่ในการเมือง ซึ่งจะต้องมีการเสียดสี ดิสเครดิตกันบ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง มีการแข่งขันการต่อสู้ ซึ่งคนที่มาจากทหารอาจไม่ค้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ ก็เลยเกิดความเครียด ทำให้โกรธบ้าง โมโห ซึ่งเราต้องให้อภัย มองในสิ่งที่นายกฯกำลังทำ ซึ่งหากเปิดตาดู ตาไม่บอด ก็จะรู้ว่าทำอะไรไปบ้าง    

“ความตั้งใจแก้ไขปัญหาความยากจนของนายกฯ แม้ผมเป็นคนคิด แต่ถ้านายกฯไม่สนับสนุน การแก้ไขปัญหาแต่ละอย่างคงไม่ออกมา ลองไล่ดูกันได้ วาระที่ผ่าน ครม.เอาเฉพาะเรื่องช่วยคนจน ออกมากี่เรื่องแล้ว หากย้อนกลับไป 5 ปี กับที่รัฐบาลทำ 10 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นชัด ดังนั้นคนที่วิจารณ์ขอให้ดูด้วย เวลา 10 เดือนที่ทำงานมา ผมที่ว่าเหนื่อยแล้ว นายกฯ เหนื่อยกว่าเพราะต้องทำในเรื่องการเมืองด้วย การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่สามารถหลบหลีกได้ ดังนั้นนายกฯจึงต้องทน ด้วยเหตุนี้เวลาที่นายกฯ เปิดหนังสือพิมพ์อ่าน เห็นสื่อกระแนะกระแหน การที่นายกฯโกรธก็เป็นเรื่องปกติ แต่ที่นายกฯทนได้ถึงทุกวันนี้ เพราะเมื่อไรที่ลงพื้นที่ต่างมีประชาชนมาให้กำลังใจ นั่นแปลว่าที่ทำไปไม่ได้สูญเปล่า” นายสมคิด กล่าว  

นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือประชาชน ถ้าไม่ช่วยจะเป็นรัฐบาลทำไม มันเป็นหน้าที่ และการช่วยประชาชนต้องไม่ทำงานเขาเสียนิสัย ไม่ใช่ช่วยเพื่อจะจับจองเสียงในการเลือกตั้ง อย่างนั้นเรียกว่าประชานิยม การทำประชานิยมต้องทำในทางที่ชอบ ไม่ใช่เพื่อล้อลวงเอาเสียง การเป็นสื่อที่ดีก็ต้องรู้จักกรอง ว่าอะไรถูกผิด เพราะโซเชียลมันเร็ว การปฏิรูปที่ประเทศที่ยากเย็น แสนเข็นเพราะ 1. มีแต่พูด 2. เมื่อเริ่มทำอุปสรรค์สำคัญไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นความเชื่อถือในสังคม ไม่มียุคไหนอีกแล้วในประเทศไทยที่ความเชื่อถือในสังคมจะต่ำสุดอย่างสมัยนี้ ไม่ว่าคนจะทำอะไรก็มีการตั้งคำถาม เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดขึ้นอีกฝ่ายก็จะวิจารณ์ นี่คือว่าไม่เป็นปึกแผ่น เกิดการแข่งขันกันเอง และเมื่อไม่เห็นด้วยคนจึงออกมา ซึ่งมี 2 แบบคือ 1.ออกมาแบบมีมารยาท 2.ออกมาแบบไม่มีมารยาท

“ วันที่ 7 สิงหาคม รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ มันก็เกิดความกังวล ความตึงเครียด ซึ่งมาบดบังสิ่งที่กำลังดีขึ้น และความตึงเครียดตรงนี้ไม่ได้อยู่แค่เมืองไทย มันเริ่มไปต่างประเทศ คนไทยอยู่ในช่วงของการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย เรียนรู้ว่าอะไรที่เหมาสมกับประเทศที่สุด แต่น่าแปลกใจที่ประเทศแม่แบบประชาธิปไตยไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ประชาชนต่างก็ซึมซับเรื่องของประชาธิปไตย เรื่องนี้นักวิชาการวิเคราะห์ข้อดีว่า เพื่อความยืดหยุ่น ไม่ติดยึดแบบตายตัว เมื่อมีสิ่งใหม่ๆก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้ เป็นช่องทางในการพูดคุย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ถ้าประเทศเราเอาทุกอย่างมาไว้ในวันที่ 7 สิงหาคม ว่าผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะแตกหัก ประเทศอยู่ไม่ได้ ผมก็ไม่มีอะไรจะพูด แต่จะบอกว่า ให้ลองคิดกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถ้าไม่อยากให้ประเทศกลับไปตรงนั้น ทุกคนต้องมีสติ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีศรัทธาและความเชื่อระหว่างกัน ผมไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมือง แต่คิดว่าบ้านเมืองต้องมาก่อน ส่วนตัวต้องมาทีหลัง เพราะถ้าบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ ส่วนตัวก็อยู่ไม่ได้ ” นายสมคิด กล่าว