สศค.หั่นคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 1.9%

สศค.หั่นคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 1.9%

"สศค." ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 1.9% จากเดิมคาดติดลบ 0.7% มั่นใจจีดีพีปีนี้โต 3.3% หลังการลงทุนภาครัฐหนุน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีนี้ลงเหลือ ติดลบ 1.9% จากเดิมคาดติดลบ 0.7% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะสามารถขยายตัวได้ 3.3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0 - 3.6%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล ขณะที่การเบิกจ่ายภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 ที่มีความพร้อม ยังคงมีความต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่เติบโตดี ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้และการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวดี

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.3 - 0.9%) ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวในอัตราชะลอลง และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 40.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 10.3% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ 10.0 - 10.6% ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้าและดุลบริการ

"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่เหลือของปี" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว