การแพทย์ฉุกเฉินจับมือ ศธ. บรรจุหลักสูตรปฐมพยาบาลช่วยชีวิต

การแพทย์ฉุกเฉินจับมือ ศธ. บรรจุหลักสูตรปฐมพยาบาลช่วยชีวิต

การแพทย์ฉุกเฉินจับมือกระทรวงศึกษา บรรจุหลักสูตร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยชีวิตผู้ป่วยยามฉุกเฉิน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) หูารือหับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินบรรจุในแบบเรียนของนักเรียน เพื่อฝึกให้เด็กสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จริงเหมือนประเทศอื่นๆที่สอนเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปสามารถช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือทำ CPR

"เราจะสอนเด็กรู้จักการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ โดยจะมีการกำหนดระดับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละชั้นการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ว่า ควรเรียนรู้ในเรื่องไหนอย่างไรบ้าง และก่อนที่เด็กๆ เหล่านี้จะเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีใบรับรองการผ่านการฝึกหลักสูตรเหล่านี้ประกอบกับเอกสารต่างๆ ที่จะต้องเตรียมในการเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเราจะเคี่ยวกรำจนกว่าประชาชนคนไทยจะช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้น” นพ.อนุชา กล่าว

และว่า สพฉ.พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกองค์กร ที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องสำหรับประชาชน สามารถเข้าไปที่ Play store แล้วโหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ EMS 1669 ซึ่งในแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกข้อมูลเรื่องการคัดแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน และบอกข้อมูลเรื่องการปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องในหลายกรณีอาทิกรณี การชัก การถูกทำร้ายบาดเจ็บ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก จมน้ำ สำลักอุดตันทางเดินหายใจ ถูกสัตว์กัด และการเจ็บแน่นทรวงอก ที่สำคัญแอพพลิเคชั่นนี้ยังสามารถขอความช่วยเหลือ 1669 ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยสามารถระบุพิกัดของผู้แจ้งที่จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ยังหารือร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่ายทั้งในส่วนของดารานักแสดงหรือผู้จัดหนังละคร ผู้ผลิตรายการทีวีมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับประชาชน โดยสามารถที่จะสอดแทรกอยู่ในบทหนังละคร หรือถ่ายทอดลงในรายการได้ โดยขั้นตอนต่อไป สพฉ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญผู้จัดหนังละครผู้ผลิตรายการทีวีต่างๆ เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางการร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และจะฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเมื่อเขาเข้าใจก็จะเกิดการถ่ายทอดให้กับประชาชนได้อย่างไม่ผิดพลาดนั่นเอง