'ประยุทธ์' ย้ำไม่ยุบเขตเศรษฐกิจพิเศษ

'ประยุทธ์' ย้ำไม่ยุบเขตเศรษฐกิจพิเศษ

"ประยุทธ์" ย้ำไม่ยุบเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งปรับเงื่อนไขจูงใจลงทุนในพื้นที่ไม่มีใครยื่นขอ สั่ง "อาคม" หารือเมียนมาเดินหน้าโครงการฯทวาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) วานนี้ (27 ก.ค.) ว่ารัฐบาลจะไม่มีการยกเลิกนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนจะมีการลงทุนแค่ไหน ให้เน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพไว้ก่อน

“ขณะนี้พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.สะเดา จ.สงขลา น่าจะมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่อื่น แต่ไม่ใช่ว่าจะยกเลิกพื้นที่อื่น”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในพื้นที่อื่นจะไปพิจารณาดูว่ารูปแบบการส่งเสริมจะเป็นอย่างไรถึงจะเหมาะสมตรงความต้องการของเอกชน ซึ่งจะต้องมาพิจารณาเป็นการเฉพาะในบางกิจกรรม

“อย่ามาโจมตีรัฐบาลว่าทำแล้วไม่มีใครมาลงทุน ถ้าวันนี้ไม่ลงทุน ก็มาลงทุนกันวันหน้า ถ้าไม่วางอนาคตไว้จะเกิดอะไรไหม มันต้องตีกรอบไว้เหมือนกัน แต่ละด้านก็ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหมด ในเมื่อเขายังไม่พร้อม การลงทุนก็ยังไม่มีมากนัก เป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องทำก็ต้องทำไปก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการวางแผนของประเทศเมียนมาในช่วงเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายร่วมกันระหว่างไทยและเมียนมา

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในประเด็นต่างๆ เช่นการบริหารโครงการฯ แผนแม่บท (master plan) การพัฒนาโครงการทวายฯระยะที่ 2 การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EIA) การเช่าพื้นที่ของภาคเอกชน และการทำสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่ เป็นต้น

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อพื้นที่โครงการฯทวายนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดทำเป็นแผนต่อเนื่องระยะ 5 ปี และจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆที่มีความเกี่ยวข้อง ให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาโครงการฯทวายและการเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออกด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ใน 8 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ จ.ตาก ตราด หนองคาย เชียงราย สงขลา สระแก้ว กาญจนบุรีและมุกดาหาร รวมจำนวน 39 โครงการ รวม 7200.52 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติแล้ว 10 โครงการ โดยคาดว่าภายในปี 2559 จะมียอดการขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมการลงทุนอื่นๆของภาคเอกชนที่มีการลงทุนเองในธุรกิจศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ และประกันภัย ซึ่งมีแนวโน้มที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆตามการขยายตัวของมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีเอกชนขอบีโอไอมากที่สุดคือจ.ตาก จำนวน 21 โครงการ วงเงินรวม 3,798 ล้านบาท เป็นนักลงทุนชาวจีน ไต้หวันและไทยกิจการที่ลงทุนสูงสุดคือบรรจุภัณฑ์และพลาสติก รองลงมาคือ จ.มุกดาหาร 5 โครงการวงเงินรวม 915.5 ล้านบาท เป็นนักทุนชาวไทย จีน และญี่ปุ่น ประเภทกิจการที่วงเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง

ขณะที่ จ.สระแก้วมี 3 โครงการ วงเงินรวม 849.152 ล้านบาท เป็นนักลงทุนชาวไทย ประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วน จ.ตราด ขอบีโอไอ 3 โครงการ วงเงินรวม 568.43 ล้านบาท จ.หนองคาย 3 โครงการ วงเงินรวม 399.83 ล้านบาท จ.กาญจนบุรี 2 โครงการ วงเงินรวม 639.6 ล้านบาท จ.สงขลา 1 โครงการ วงเงิน 13.5 ล้านบาท และเชียงราย 1 โครงการ วงเงิน16ล้านบาท

ส่วน จ.นครพนมยังไม่มีเอกชนขอรับการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ จ.นราธิวาสนักลงทุนจะใช้สิทธิประโยชน์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ชายแดนภาคใต้ จึงไม่มีข้อมูลในส่วนของบีโอไอ

“ในส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ยังไม่มีเอกชนสนใจลงทุนหรือยังสนใจน้อย จะต้องไปดูว่าเอกชนมีความต้องการอะไร และปรับให้เข้ากับความต้องการของเอกชนให้มากขึ้น” นายปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อให้เอกชนเช่าใช้ประโยชน์และลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และ 2 อยู่ระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2559-2562 ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อเนื่อง 3 ปี งบประมาณแบ่งเป็นปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 2,165 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 6,168 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2560 ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 3,355 ล้านบาท