คำประกาศ 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน. ย้ำจุดยืนก้าวใหม่ปชป.

คำประกาศ 'อภิสิทธิ์' ไม่รับร่างรธน. ย้ำจุดยืนก้าวใหม่ปชป.

เปิดคำประกาศ "อภิสิทธิ์" ไม่รับร่างรธน. "จุดยืนของผม..เพื่อต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นก้าวแรกที่เป็นก้าวใหม่ในการเมือง"

ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวมาแล้วว่าไม่รับคำถามพ่วงประชามติและใช้คำว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกสอบถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด ซึ่งตนต้องการเห็นทางเลือกที่ชัดเจนว่า ถ้าไม่รับจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องการเห็นบรรยากาศทางการเมืองไม่ขัดแย้ง การแถลงวันนี้ไม่สามารถเป็นมติพรรคได้ เพราะไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่เป็นจุดยืนที่ตนแสดงความเห็นในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นอุดมการณ์ของพรรค จึงไม่ใช่เรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบในส่วนตัวของตัวเองแต่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ของพรรค

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าขณะนี้มีปัญหา 3 ประเด็นที่ต้องได้แก้ไข ประเด็นที่ 1 คือเราจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างไร ซึ่งหนีไม่พ้นการอาศัยหลักการประชาธิปไตยคือให้ประชาชนมีส่วนร่วมและการกำหนดสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้แนวทางตามความเชื่อตามอุดมการณ์พรรค คือการกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เดินไปทิศทางที่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวและมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ2550 จึงมองว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศก้าวหน้าและรัฐบาลที่มาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะตอบสนองสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นไปได้ยาก เพราะไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศและแก้ไขปัญหาต่างๆ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่2 ความขัดแย้งต้องแก้ด้วย 2 กระบวนการคือ1.การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และ2.กระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เลือกตั้งใช้เสียงข้างมากแต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสมแต่กลไกโดยส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกกันเองในบทถาวรและแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้ง กลับจะสร้างความขัดแย้งขึ้น

ส่วนกติกาที่ตั้งมาเป็นกติกาที่แก้ยากมาก อีกทั้งกระบวนการประชามติเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างผิดปกติไม่เป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติกันมา มีข้อโต้แย้งว่าฝ่ายที่เห็นต่างได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ จนทำให้เกิดความตึงเครียดจึงเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการจัดทำประชามติหมายความว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคตได้โจทย์แก้ไขความขัดแย้งผมจึงคิดว่าจะไม่บรรลุ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นที่3การแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญนี้ ตนสนับสนุนหลายมาตรา แต่เราต้องมองการแก้ไขปัญหาทุจริตให้ครบวงจรซึ่งการจับการทุจริตต้องเริ่มต้นจากบรรยากาศที่เปิด ประชาชนสามารถตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ แต่ร่างรัฐธรรมนูญแบับนี้จะจัดการนักการเมืองโกง แต่ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการไปจากเดิมที่มีทั้งกระบวนการถอดถอนและดำเนินคดีอาญา แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กลับถอดกระบวนการถอดถอนออก โดยพึ่งกลไกหลักคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และศาลฏีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับทำให้2องค์กรนี้อ่อนแอลงเพราะคนทำผิดสามารถอุทธรณ์ได้ง่ายและถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน คนกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ คือจำเลยในคดีจำนำข้าว เพราะถ้าถูกตัดสินว่าผิดก็สามารถอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้เลย ตนสนับสนุนการปราบโกงแต่บทบัญญัติกำลังทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอลง ไม่ได้เป็นอย่างที่พูดกันว่าการปราบโกงเข้มข้นขึ้น

“จากโจทย์3ข้อจึงให้คำตอบว่าผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้ ขอย้ำว่าเกณฑ์การพิจารณาไม่มีประเด็นใดเลยที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้งและการเมืองแต่ที่ไม่รับเพราะเห็นว่าร่างนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ ไม่เป็นกติตกาที่เอื้อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากปัญหาเดิมๆได้ ซึ่งถ้า7 ส.ค.ร่างไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็เรียกร้องเรื่องนี้มายาวนาน แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจึงต้องตอบคำถามวันนี้ให้ชัดว่า ผมไม่สามารถรับร่างนี้ได้ เพียงเพราะผมกลัวที่จะได้สิ่งที่แย่กว่า” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า การลงมติรับหรือไม่รับ ไม่ใช่เรื่องที่บอกชอบหรือไม่ชอบหรือเชียร์ฝ่ายใดทางการเมือง ซึ่งตนไม่ยอมให้ใครนำเงื่อนไขว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขัดแย้งในบ้านเมือง ตรงกันข้ามถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านตนสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามโรดแมปที่กำหนดไว้แล้วเลือกตั้ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ก็ต้องรับผิดชอบ จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์จะให้รัฐธรรมนูญที่ดีแก่สังคม

“ตนมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตระหนักว่าสาเหตุมีที่มาที่ไปอย่างไรและท่านคงไม่เขียนคนเดียวแต่ต้องฟังจุดอ่อนจุดแข็งจากสังคม โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายในการแก้ปัญหาประเทศ ดังนั้นตนเสนอจุดเริ่มต้นว่า น่าจะนำรัฐธรรมนูญปี50ที่เคยผ่านการทำประชามติมาแล้วและรัฐธรรมนูญ2550ไม่ใช่ตัวปัญหาเงื่อนไขที่ทำให้เกิดรัฐประหารและบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพปี2550 ชัดเจนที่สุดเราไม่ควรถอยหลังไปจากนี้ ที่สำคัญคือสามารถปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ ก่อนการเลือกตั้งได้โดยไม่โยนเรื่องการปฏิรูปไปสู่คณะกรรมการฯ”

“ยืนยันว่าการกำหนดจุดยืนของผมเพื่อต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นก้าวแรกที่เป็นก้าวใหม่ในการเมืองใหม่เหมือนกัน เราต้องพิจารณาตามหลักการอุดมการณ์และผลประโยชน์ส่วนรวมประเทศ ถ้าเรายังเอาการเมืองที่ว่าคนนี้เราชอบพูดอย่างนี้เราต้องตามถ้าคนนี้ไม่ชอบพูดอย่างนี้ เราต้องค้านตลอดเวลา เราจะไม่มีวันก้าวผ่านวิกฤติได้เลยขนาดนาฬิกาตาย ในหนึ่งวันยังบอกเวลาตรงถึง2ครั้ง ยืนยันว่าที่ผมแสดงจุดยืนผมเอาอุดมการณ์และผลประโยชน์มารวมกัน โดยไม่สนใจว่าคสช.นปช.จะพูดอย่างไร เราจะเอาหลักเกณฑ์เช่นนั้นกำหนดอนาคตประเทศไม่ได้ เราต้องเอาหลักการมากำหนดการเมืองใหม่เพื่อตอบโจทย์ประเทศได้แท้จริง สำหรับคนที่เป็นห่วงว่าผมแถลงอย่างนี้เพราะสมคบคิดพรรคการเมืองคงไม่ใช่ เพราะอุดมการณ์ชัดเจนเราจะดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีวันไปสมคบคิดกับคนที่โกงชาติหรือคิดจะโกงชาติในอนาคตโดยเด็ดขาดและวันนี้จะไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน อยากให้ท่านไปพิจารณาสาระที่ผมพูดวันนี้ว่าจะทำให้ประเทศเดินหน้าได้หรือไม่ ถ้าใครเห็นว่าสิ่งที่ผมพูดวันนี้ไม่ถูกต้องเพราะข้อเท็จจริงที่เอามาอ้างนั้นไม่ใช่ ผมยินดีแลกเปลี่ยนเสมอ แต่วันนี้อย่าเอาเนื้อหาสาระที่พูดดึงผมว่า ขัดแย้งกับใครหรือสมคบใครผมแถลงด้วยจุดยืนที่จะเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” นายอภิสิทธิ์กล่าว