ตลาดเบรกหุ้นปั่น 7เดือนส่งก.ล.ต.ตรวจสอบลดลง

ตลาดเบรกหุ้นปั่น 7เดือนส่งก.ล.ต.ตรวจสอบลดลง

ตลาดเผย 7 เดือน ส่งรายงานการตรวจสอบพฤติกรรมปั่นหุ้นให้ก.ล.ต.ลดลงจากปีก่อน เชื่อใช้มาตรการกำกับซื้อขาย-เทรดดิ้งอะเลิร์ทคุมหุ้นร้อนได้ผล

ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นคักคัก และสามารถขึ้นมายืนเหนือระดับ1500จุดได้อย่างต่อเนื่อง

นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฏหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งรายการการซื้อขายหุ้นที่มีความผิดปกติลดลง หากเทียบจากงวดเดียวกันปีก่อน แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะคึกคัก และหุ้นที่ปรับตัวขึ้นส่วนมากเป็นหุ้นขนาดใหญ่ แต่ในปีก่อนหุ้นที่มีความร้อนแรงเป็นหุ้นขนาดเล็ก

“ความร้อนแรงในการซื้อขายนั้นภาวะปัจจุบันถือว่ามีความร้อนแรงที่น้อยกว่าปีก่อน ซึ่งต่างจากต้นปี 2558 ที่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีความร้อนแรง ทำให้การส่งกรณีหุ้นที่มีความผิดปกติส่งไปยังสำนักงานก.ล.ต.ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งกระบวนการพิจารณาความผิดมีทิศทางเร็วขึ้นกว่าเดิม ”

 สำหรับสาเหตุที่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นมีทิศทางที่ดีขึ้นเกิดจากการเสริมมาตรการกำกับการซื้อขาย จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เพียงมาตรการเทรดดิ้ง อะเลิร์ท หรือให้บจ.ชี้แจงข้อมุลการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น เท่านั้น โดยมาตรการกำกับการซื้อขาย แบ่งเป็น 3 ระยะทั้งการให้ซื้อขายด้วยเงินสด และการห้ามเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และห้ามซื้อขายแบบหักกลบลบราคาในวันเดียว  ทั้งนี้ที่ผ่านมามีหุ้นที่ถูกเข้ามาตรการในระดับที่ 2 ยังไม่มีบริษัทใดที่ถูกเข้ามาตรการระยะที่ 3 

ฝ่ายกำกับการซื้อขายมองว่า มาตรการที่ใช้ในปัจจุบันมีความเหมาะสม  หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และมูลค่าการซื้อขายต่อวัน รวมถึงการหมุนของหุ้นแต่ละตัวทำให้ปัจจุบันมีหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการควบคุมการซื้อขายประมาณ 19 บริษัทลดลงจากปี2558 ที่มีอยู่73 บริษัท

นายสันติ กีระนันทน์  รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพของการระดมทุนผ่านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก หรือ ไอพีโอ ในปีนี้อาจจะทำได้ 1.9 แสนล้านบาทเท่านั้นจากเป้าหมายที่ 2.7 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากปัญหาทางเทคนิคด้านระบบบัญชีที่มีการเปลี่ยนมาตรฐานใหม่

“หุ้นไอพีโอในครึ่งปีแรกมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมอยู่ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัญหาที่พบว่ามีการระดมทุนที่ไม่มาก เกิดจากปัญหาระบบบัญชีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อีกทั้งปัญหาในเรื่องผู้ตรวจสอบบัญชีที่ไม่เพียงพอ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้หาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา”

ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา ตลาดหลักทรัพย์ได้เตรียมความพร้อมให้กับบริษัทที่เตรียมเข้าระดมทุน ผ่านโครงการไอพีโอ โฟกัส เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าระดมทุนได้ปรับระบบก่อนเข้าทำการจดทะเบียน รวมถึงการจัดโครงการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินเพื่อให้เข้าใจกับระบบบัญชีมากขึ้น ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะมีบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น ประมาณ 31-43 บริษัท