บรอดแบนด์3หมื่นหมู่บ้าน เพิ่มคุณภาพชีวิตชายขอบ?

บรอดแบนด์3หมื่นหมู่บ้าน เพิ่มคุณภาพชีวิตชายขอบ?

เอกชนหวั่นโครงการส่อล้มเหลว แนะกำหนดเป้าหมายแทนสเปค

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 ม.ค. 2559 ได้อนุมัติกรอบงบประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยนำเงินได้การประมูล 4จีส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาทำโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการยกระดับประเทศด้วยนโยบาย “ดิจิทัลอีโคโนมี”

งบก้อนดังกล่าว แบ่งเป็น 2 โครงการคือ การพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านงบประมาณ 15,000 ล้านบาท และโครงการขยายเกตเวย์ไปยังต่างประเทศด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการกระทรวงไอซีทีมอบหมาย 2 รัฐวิสาหกิจคือ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม กำหนดต้องดำเนินโครงการให้เสร็จภายในปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้เดือนเม.ย. 2559

รายละเอียดการดำเนินโครงการแรก กระทรวงไอซีทีจะสำรวจพื้นที่การวางโครงข่ายทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่มีโครงข่ายแล้วกว่า 50% ต้องอัพเกรดความเร็วให้ถึง 30/5 Mbps โดยการอัพเกรดนั้นกระทรวงต้องดูว่าจะเปลี่ยนสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ทั้งหมด หรือจะเปลี่ยนแค่อุปกรณ์หัว-ท้าย ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนพื้นที่อีกกว่า 40% หรือประมาณ 30,000 จุดซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภาคเอกชนไม่ได้ลงทุน กระทรวงต้องดูพื้นที่การวางโครงข่ายเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันกับเอกชน
โดยกระทรวงไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้เทคโนโลยีเดียวคือไฟเบอร์ออพติก แต่หากวิเคราะห์แล้วบางพื้นที่ใช้เป็นไวร์เลสบรอดแบนด์ได้ก็จะนำมาผสมผสานกัน

ลงนามทีโอทีสัปดาห์นี้
ล่าสุดนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าไอซีที กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ภายในสัปดาห์นี้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ของกรอบการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) จะลงนามร่วมกับทีโอทีผู้รับผิดชอบได้ โดยนางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที จะเป็นผู้ลงนาม ซึ่งยืนยันว่าร่างทีโออาร์ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทีโออาร์รายละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้จัดซื้อจัดจ้างนั้นมีจำนวนมากกว่า 100 แผ่น ไม่ใช่มีทีโออาร์เพียง 3 แผ่นอย่างที่มีผู้โจมตีการทำงานของกระทรวง และต้นเดือนส.ค.นี้ จะมีประกาศเชิญชวนเอกชนรายอื่นที่มีใบอนุญาตประเภท 3 จาก กสทช. เพื่อมาเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลัก หรือโหนดของบมจ.ทีโอทีทั่วประเทศ

นายอุตตม กล่าวอีกว่า กรอบการดำเนินงานนั้น ช่วงกลางเดือนส.ค.นี้ มั่นใจว่าจะเริ่มโครงการได้ ซึ่งอาจล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไปเล็กน้อย เพราะไอซีทีได้ทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส โดยส่งหนังสือสอบถามสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ แต่ภาพใหญ่ยังเชื่อว่าเดือนธ.ค.จะดำเนินการติดตั้งได้ครบ 10,000 จุด และมั่นใจจะครอบคลุมครบ 30,000 หมู่บ้านภายในปี 2560

ปมปัญหาล็อคสเปคจ่อล้มโครงการ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของโครงการมีมาตลอด ตั้งแต่มีมติ ครม. ซึ่งเดิมกำหนดให้ทั้งทีโอที และกสท รับงานในสัดส่วนเท่ากันคือ แบ่งก้อนเค้กรายละ 50% โดยดูเนื้องานตามความเหมาะสมว่าพื้นที่ใดหน่วยงานไหนมีโครงข่ายไปถึง

ต่อมาได้ปรับแผนการเลือกเอกชนอีกครั้งในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนหน้าที่การดำเนินงาน โดยไอซีทีมอบทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดจากเดิมต้องแบ่งกับ กสทสัดส่วนทีโอที 55% กสท 45% และ กสท ไปรับผิดชอบโครงการขยายขีดความสามารถเครือข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศ และต่างประเทศ 5,000 ล้านบาท (อินเตอร์เนชั่นแนล อินเทอร์เกต์เวย์) แทน

ทั้งนี้การเบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นงวดๆ ตามการใช้จ่ายจริงของแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่าระบบโปรเจ็คแมเนจเมนท์ ออฟฟิศ (พีเอ็มโอ) เพื่อใช้ตรวจสอบการทำงาน โดยต้องมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการและร่วมกันรับผิดชอบ

งบก้อนใหญ่สุดในรอบ10ปี
ขณะที่นางทรงพร เสริมว่า กระทรวงไอซีทีก่อตั้งมากว่า 10 ปี โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านถือเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกที่บริหารงบประมาณโดยกระทรวงถึง 15,000 ล้านบาท การทำงานจึงต้องอาศัยความรอบคอบอย่างมากที่สุด และจากกระแสข่าวที่มีมาโดยตลอดว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใสจนทำให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงลาออก ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง

โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจะเป็นการยกระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลใช้งานไอซีทีสารสนเทศได้ และหากไม่เกิดในรัฐบาลชุดนี้ก็อาจไม่ได้เห็นในรัฐบาลชุดไหนอีกเลย และการเลือกวิธีการจัดซื้อนั้นเป็นคำสั่ง ครม. ใช้วิธีพิเศษเลือกทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการ

“หากเปิดประมูล (อี-ออคชั่น) แบบปกติต้องใช้ระยะเวลานานราว 90 วันในการประกาศให้ผู้สนใจเข้าร่วม และไม่ได้การันตีว่าจะมีเอกชนรายใดสนใจเข้ามาดำเนินการ เพราะพื้นที่ให้บริการนี้ไม่ได้อยู่ในเมือง จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านข่ายสายมากที่สุด”


ขั้นตอนหลังทีโออาร์เรียบร้อยแล้ว อยู่ที่คณะกรรมการจัดจ้างจะเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของเอกชนรายย่อยที่จะเข้ามาปลั๊กอินกับโหนดของทีโอที 


แต่คำถามจากหลายฝ่ายติงว่าแม้ไอซีทีจะระบุว่าโครงการมี “Open Bid” แต่ด้วยสเปคของเนื้องานที่กำหนดให้เอกชนที่จะเข้ามาต้องมีโครงข่ายไฟเบอร์ย่อยลงไปในพื้นที่ห่างไกลมาเชื่อมกับโหนดหลักทีโอทีจึงจะมีสิทธิเข้ามาเสนองานได้

รายละเอียดดังกล่าว เหมือนเป็นการบีบไม่ให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาในโครงการ เพราะทีโอทีเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีข่ายสายไปยังลาสไมล์เข้าถึงเกือบ 100% ของประเทศ
ดังนั้นประเด็นที่ไอซีทีย้ำว่าไม่ได้กีดกั้นเอกชนรายย่อย ก็ต้องดูความเป็นจริงว่าใครพร้อมดำเนินการได้ทันที ใครมีโครงข่ายอยู่แล้ว และพร้อมประสานกับทีโอที จึงไม่มีเอกชนรายไหนทำได้

ขณะเดียวกัน ปัญหาความล่าช้า และการกำหนดสเปคที่มติ ครม. เลือกมาตั้งแต่อนุมัติให้เป็นแบบวิธีพิเศษ เกิดข้อกังขาจากหลายฝ่ายว่าโครงการดังกล่าวนั้นกำหนดให้ทีโอทีแยกจัดหาเป็นรายอุปกรณ์ จัดประมูลแบบเปิด แต่หลายฝ่ายให้ข้อสังเกตว่าโครงการนี้ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เหตุเพราะ 1. อุปกรณ์สเปคสูงขนาดใหญ่ 2. ราคากลางต่ำมาก 3. งานบริหารโครงการโดยทีโอที ด้วยระเบียบขององค์กรความไม่มีประสิทธิภาพของผู้บริหารยิ่งทำให้โอกาสล้มเหลวสูงขึ้น และไม่ค่อยมีเอกชนรายใดต้องการทำงานกับทีโอที

4. งวดการจ่ายเงินลักษณะ“พีเอ็มโอ” ไม่ส่งเสริมให้งานสำเร็จ เพราะจ่ายเป็นจำนวนงวดต่ำ และมีหลายงวด ผู้รับงานถ้าเป็นทีโอทีอาจทำให้กระแสเงินสดมีปัญหา แล้วส่งผลให้ผู้รับงานต่อมีโอกาสเสียหายเป็นวงกว้าง 5. เมื่องบประมาณต่ำมีโอกาสได้ของคุณภาพต่ำ 6. การลงทุนด้วยระบบไฟเบอร์ แม้จะให้ความเร็วสูง แต่จำนวนลูกค้าน้อยทำให้ไม่คุ้มการลงทุน และโยกย้ายพื้นที่ไม่ได้ 7.งบการบำรุงรักษาสูง ในประเทศอื่นๆ การลงทุนเพื่อให้ยูเอสโอ หรือในพื้นที่มีผู้ใช้งานน้อยมักจะลงทุนด้วยระบบไมโครเวฟ หรือระบบไวร์เลส

ส่วนนายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า ข้อเสนอเอกชนจากการทำประชาพิจารณ์ ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลด้วยการกำหนดโจทย์ หรือเป้าหมาย หลักการใช้ประโยชน์แทนการกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิค เช่น ความเร็วการรับส่งข้อมูล, มาตรฐานคุณภาพบริการ โดยการเชิญผู้ให้บริการ ซึ่งจะเป็นผู้เช่าใช้ในอนาคต ตามหลักการและเหตุผลของโครงการที่กำหนดให้เป็นระบบเชื่อมต่อแบบเปิดมาให้ความเห็น รวมทั้งระดับราคาค่าเช่าที่ผู้ให้บริการรับได้ เพราะหากต้นทุนสูงเกินไปก็จะไม่มีผู้เช่าใช้

อีกทั้งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับลักษณะกายภาพของภูมิประเทศ, ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจซึ่งจะลดต้นทุน, เวลาดำเนินการ และอุปสรรคการดำเนินการต่างๆ ระยะแรกกระทรวงควรเลือกพัฒนาพื้นที่ที่ประชาชนให้ความสนใจ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่