แห่เร่ขายรายใหญ่ หลังใช้ระบบ 'ฟิท'

แห่เร่ขายรายใหญ่ หลังใช้ระบบ 'ฟิท'

โรงไฟฟ้าชีวมวลเร่ขายรายใหญ่ หลังเปลี่ยนมาตรการสนับสนุนจาก Adder เป็น FiT ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเสี่ยงสูง

การเปลี่ยนแปลงมาตรการสนับสนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากระบบ Adder เป็นระบบ Fit ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมือด้วยการขายให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่

ระบบ Adder มีความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งอายุมาตรการสนับสนุนสั้นกว่า และหลังหมดอายุมาตรการสนับสนุนใน 7-10 ปี อัตราการจำหน่ายไฟฟ้าตามราคาขายส่ง ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ ระบบ Fit ทำให้ผู้ประกอบการได้ราคาคงที่ตลอดช่วงอายุสัญญา 20-25 ปี

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่านโยบายของกระทรวงพลังงานที่อนุญาตให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเปลี่ยนจากระบบ Adder เป็นFeed-in Terrif (FiT) ส่งผลให้โรงไฟฟ้ามีศักยภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเจ้าของโรงไฟฟ้าบางส่วนนำโครงการไปเสนอขายให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกระทรวงพลังงานที่ต้องการทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและสามารถประกอบการธุรกิจต่อไปได้

“เมื่อเปลี่ยนเป็น FiT จะได้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหน่วย ทำให้บางโรงที่ปิดไปแล้วก็ขายได้ ส่วนบางโรงที่ไม่เจ๊งก็ขายต่อได้ราคา เพราะคนซื้อมองว่าต่อไปจะแข่งขันได้และมีกำไร โดยเจ้าของเดิมจะลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 75-80%เหลือ 20%แล้วให้ผู้ประกอบการอื่นเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน กรณีนี้จึงถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลที่หวังดีจะช่วยผู้ประกอบการ” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัย กล่าวว่าการนำโครงการชีวมวลออกมาเร่ขายหลังอนุญาตให้เปลี่ยนระบบFiT กลายเป็นปรากฏการณ์‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’และสุดท้ายประชาชนจะไม่ได้อะไร เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างมีเชื้อเพลิงเป็นของตนเอง ไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชน

นายพิชัย กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลและชีวภาพในอนาคตว่า ไม่ควรใช้ระบบFiT Bidding เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้เปรียบเรื่องสถานะทางการเงินและเชื้อเพลิง เมื่อเปิดประมูลพร้อมกันรายใหญ่ก็สามารถซื้อเชื้อเพลิงได้มากกว่าและทำให้ราคาเชื้อเพลิงในตลาดสูงขึ้น

“ในที่สุดโรงไฟฟ้าขนาดเล็กก็จะอยู่ไม่ได้และต้องขายกิจการให้รายใหญ่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกครั้ง”

นายพิชัย กล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลและชีวภาพควรกลับไปใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน (First Come,First Served) เพื่อให้นักลงทุนรายเล็กสามารถอยู่ได้ โดยการคัดเลือกต้องพิจารณาความพร้อมจากสถานะทางการเงินและปริมาณเชื้อเพลิง พร้อมระบุว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ยังต้องการการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ส่วนระบบFiT Bidding ควรใช้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและมีประสิทธิภาพแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถอยู่ได้อยู่แล้ว

ด้านนายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่านโยบายเปลี่ยนจากระบบAdderเป็นFiTไม่ได้ส่งผลให้มีการขายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น เพียงแต่กระตุ้นให้เปลี่ยนมือเร็วขึ้น เพราะโครงการที่จะขายต้องเดินเครื่องมามากกว่า 3 ปีและส่วนใหญ่ก็ประกาศขายมานานแล้ว เพราะปัญหาเรื่องเชื้อเพลิง เทคนิค หรือการบริหาร เพียงแต่ยังตกลงราคากับผู้ซื้อไม่ได้

“เมื่อมีนโยบายเปลี่ยนจากAdderเป็นFiTก็ทำให้ผู้ซื้อมีระยะเวลาการคืนทุนเร็วขึ้น แม้ระยะเวลาการขายไฟฟ้าบางแห่งจะลดเหลือ 10 ปีก็ตาม”

นายสุวัตน์ กล่าวอีกว่าตลาดรับรู้มูลค่าโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าที่ขายมีกำลังการผลิตระหว่าง 7-9.9 เมกะวัตต์และมีมูลค่าระหว่าง 400-800 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่ามูลค่าและสภาพทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตามการซื้อโครงการเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมของผู้ลงทุนว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าเน้นการลงทุนระยะยาวอาจไม่ลงทุนโครงการประเภทนี้ แต่เจ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลบางแห่งก็ไม่เปลี่ยนเป็นระบบFiT เพราะมองว่าถ้าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนในระบบAdderดีขึ้นในระยะยาว

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนเป็นFiTสามารถเปลี่ยนผู้ถือหุ้นได้และไม่ผิดจุดประสงค์ของกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด เนื่องจากเดิมโครงการเหล่านี้ขาดทุนอย่างหนัก ไม่สามารถขายได้และธนาคารก็ไม่อยากยึด เพราะเกรงจะเป็นภาระ

ดังนั้น กพช. จึงมีนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องแจ้งความประสงค์ต่อ กกพ. เพื่อเปลี่ยนเป็นระบบFiTภายในเดือน ส.ค. นี้ และปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีผู้ต้องการเปลี่ยนมากน้อยเท่าใด

ก่อนหน้านี้ สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีสมาชิกราว 25-30 รายร้องเรียนต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขอให้เปลี่ยนจากระบบAdderเป็นFiTเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เพราะระบบAdderให้ผลตอบแทนต่ำกว่าต้นทุน และในที่สุด กพช. ก็เห็นชอบให้เลือกเปลี่ยนเป็นFiTและได้รับFiT Premiumแต่ต้องลดระยะเวลาการเดินเครื่องด้วยระยะเวลาที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว พร้อมลดระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงท้ายลงอีก 2 ปี 3 เดือน- 4 ปี 8 เดือน