หนี้สาธารณะต่ำ เปิดช่องรัฐบาลกู้ลงทุน

หนี้สาธารณะต่ำ เปิดช่องรัฐบาลกู้ลงทุน

หนี้รัฐบาลกับหนี้ท้องถิ่นของไทยกับประเทศอื่น จะเห็นว่า ไทยยังมีหนี้ในระดับค่อนข้างต่ำ หรือ ราว 31.60%

ยอดหนี้สาธารณะคงค้างของไทในปัจจุบันถือว่า ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รองรับการระดมเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลได้ตามแผน โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ประเมินว่า ในช่วงที่รัฐบาลมีแผนใช้เงินลงทุน 7-8 ปีข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือต่อจีดีพีจะไม่ขยับสูงเกินกว่า 50% ต่อจีดีพีอย่างแน่นอน

ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับ 43.35%ต่อจีดีพี เมื่อเทียบ 10 ปีย้อนหลัง ถือว่าทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2550 อยู่ที่ 37.13% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย ถือว่า หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าอยู่มาก และ เมื่อเทียบช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยปรับตัวสูงเกินกว่า 50%ต่อจีดีพี

หากเทียบหนี้รัฐบาลกับหนี้ท้องถิ่นของไทยกับประเทศอื่น จะเห็นว่า ไทยยังมีหนี้ในระดับค่อนข้างต่ำ หรือ ราว 31.60% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ เช่น กรีซและอิตาลี ซึ่งมีหนี้สูงเกิน 100% ต่อจีดีพี นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เนื่องจาก หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เกิดจากการกู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลในอดีตและการกู้มาเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลให้จีดีพีประเทศขยายตัว

หนี้สาธารณะไทยต่ำเทียบประเทศอื่น

“ขณะนี้ ระดับหนี้สาธารณะของไทยเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศกำลังเกิดใหม่ด้วยกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่ 57.41% ฉะนั้น ถือว่า อยู่ในระดับต่ำ และ ยังมีช่องว่างที่เราจะกู้ได้อีกพอสมควร ถ้ารัฐบาลลงทุนได้ตามแผน เศรษฐกิจก็จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง หากประมาณการเพียงแค่แผนที่รัฐบาลจะลงทุนอย่างเดียวโดยไม่นับรวมการลงทุนภาคเอกชน มีการประเมินกันว่า จีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3-4% แต่หากเอกชนลงทุนตามก็น่าจะโตได้ถึง 5%”นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสบน.กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะเริ่มลงทุนอย่างชัดเจนนับจากไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ขณะนี้ มีหลายโครงการลงทุนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และ มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุน บางโครงการอาจล่าช้าไปเริ่มลงทุนในไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 1 ของปีหน้า หากรัฐบาลลงทุนชัดเจน ก็จะทำให้เอกชนเชื่อมั่นการลงทุน

คาดครึ่งหลังรัฐลงทุน6.6หมื่นล้าน

ภายในปีนี้ จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ 18-19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท คาดว่า ภายในปีนี้ จะมีการเม็ดเงินลงทุนราว 6.6 หมื่นล้านบาทจากโครงการเหล่านั้น

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลทั้ง 20 โครงการ มูลค่าโครงการ 1.410 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะลงนามภายในปีนี้ มีเพียง 1 -2 โครงการ ที่อาจไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในปีนี้ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ไทยกับญี่ปุ่น เป็นต้น เมื่อมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว จะทำให้ในปีหน้าและอีก 3 ปีข้างหน้า เม็ดเงินลงทุนในโครงการดังกล่าว จะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัว

ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย- มีนบุรี มูลค่า 5.66 หมื่นล้านบาท,สายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 5.46 หมื่นล้านบาท และรวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่อีกหลายเส้นทาง เป็นต้น

เผยยอดหนี้สาธารณะลด7.2หมื่นล.

ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบัน ไม่ถือว่า เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุน และ ระดับปัจจุบัน ก็ถือว่า ทรงตัว ไม่ได้ปรับตัวสูงอย่างที่หลายคนคิด และ แม้ว่า รัฐบาลจะมีแผนการลงทุนในระยะยาว ระดับหนี้สาธารณะของเราก็จะไม่ปรับตัวสูงเกิน 50% ต่อจีดีพี ถือว่า อยู่ในกรอบความยั่งยืนการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 พฤษภาคม 2559 มีจำนวน 5.97 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.35%ของจีดีพี แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาลจำนวน 4.42 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินจำนวน 1.03 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)จำนวน 5.21 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 7.2 หมื่นล้านบาท

หนี้สาธารณะ 5.97 ล้านล้านบาทดังกล่าว ยังแบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5.63 ล้านล้านบาทหรือ 94.17% และหนี้ต่างประเทศ 3.5 แสนล้านบาท(ประมาณ 9.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 5.83% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5.2 ล้านล้านบาท หรือ 87.02% และหนี้ระยะสั้น 7.8 แสนล้านบาท หรือ 12.98% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด