"ไอเชฟ" ดึง "บิ๊กดาต้า" สร้างจุดต่างร้านอาหาร

"ไอเชฟ" ดึง "บิ๊กดาต้า" สร้างจุดต่างร้านอาหาร

“ไอเชฟ” เร่งเครื่องพลิกโฉมบริการระบบพีโอเอสร้านอาหาร ผนึก “ไมโครซอฟท์” ดึงคลาวด์-บิ๊กดาต้าสร้างจุดต่าง

“ไอเชฟ” เร่งเครื่องพลิกโฉมบริการระบบพีโอเอสร้านอาหาร ผนึก “ไมโครซอฟท์” ดึงคลาวด์-บิ๊กดาต้าสร้างจุดต่าง ดีเดย์ลุยตลาดไทยเป็นทางการปี 2560 เชื่อโอกาสโตสูง ตั้งเป้าปั้นลูกค้า 300 ราย

นายเคน เฉิน รองประธานฝ่ายการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง ไอเชฟ(iCHEF) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการระบบพีโอเอสสำหรับร้านอาหารจากไต้หวัน เผยว่า นำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าเข้ามาเสริมศักยภาพบริการระบบพีโอเอสของบริษัท

กระบวนการขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกับไมโครซอฟต์และมหาวิทยาลัยในไต้หวัน เฟสแรกนี้มีธุรกิจร้านอาหาร 2 แบรนด์ รวม 30 สาขาเข้าร่วมโครงการ คาดว่าสามารถนำออกมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 2 ปีจากนี้

ระบบดังกล่าวทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์อาชัวร์ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลซึ่งแอพพลิเคชั่นไอเชฟสามารถบันทึกข้อมูลได้มากถึง 40 รายการจากการซื้อขายอาหารแต่ละครั้ง ข้อมูลที่ได้รวมถึงรสชาติที่ลูกค้าชอบ ชื่อพนักงานเสิร์ฟ เวลาการรอเสิร์ฟ ฯลฯ

ข้อมูลระบุว่า ร้านอาหารที่มีลูกค้า 100 คนต่อวันจะสร้างข้อมูลมากถึง 1 ล้านรายการในแต่ละวัน และคลาวด์สามารถเข้าไปช่วยประมวลผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที

“ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากธุรกิจร้านอาหารไม่เพียงมีแค่ตัวเลขรายได้ บริษัทจึงมุ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์พร้อมนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์เชิงบิ๊กดาต้าผสานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อว่าต่อไปธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ ทว่าราคาไม่แพง”

บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไต้หวัน สำนักงานสาขาในเมืองใหญ่หลายแห่งในเอเชีย รวมมีลูกค้ามากว่า 1,000 ราย ในแผนปีนี้กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อขยายฐานมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเข้ามาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทยภายในปี 2560 กลุ่มลูกค้าที่โฟกัสคือร้านอาหารขนาดเล็กหรือร้านอาหารเกิดใหม่ไม่เกิน 35 โต๊ะ พนักงานเสิร์ฟ 2-5 คน

ไอเชฟมองว่า ไทยเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย โอกาสเติบโตสูงด้วยจำนวนธุรกิจร้านอาหารและเอสเอ็มอีจำนวนมาก ขณะนี้เร่งเตรียมความพร้อมเพื่อปรับการให้บริการให้เข้ากับความเป็นท้องถิ่น

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าในไทย 3 ราย หลังเปิดสำนักงานคาดว่าภายในสิ้นปีหน้าจะมีลูกค้าไม่น้อยกว่า 300 ร้านอาหาร ขณะที่หลังจากประเทศไทยมองต่อที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เชื่อว่าตลาดยังมีช่องว่าง และความต้องการการบริหารจัดการร้านเฉพาะทางซึ่งบริษัทสามารถเข้าไปช่วยได้

นายเอกราช คงสว่างวงศา ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้บริษัทได้ร่วมสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การฝึกสอน ให้คำแนะนำ ซึ่งผลที่ได้ขณะนี้เกิดเป็นโมเดลจำลองพฤติกรรมลูกค้า พบข้อสังเกตที่น่าสนใจจำนวนมาก

สำหรับในประเทศไทยไมโครซอฟท์มีแผนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีนำบริการคลาวด์ “ไมโครซอฟท์ อาชัวร์” ไปพัฒนาบริการรวมถึงบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น
นอกจากธุรกิจร้านอาหาร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม กลุ่มที่มีโอกาสเช่นสตาร์ทอัพ การผลิต การแพทย์ อีคอมเมิร์ซ ผู้ที่ต้องการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบิ๊กดาต้า รวมถึงแมทชีนเลิร์นนิ่ง

“คลาวด์มีส่วนสำคัญช่วยลดค่าใช้จ่ายการลงทุนรวมถึงเวลา เช่นการนำไปใช้บนเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าสามารถลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่าหลักล้านบาท ประเมินคร่าวๆ ใช้งบการลงทุนหลักไม่กี่หมื่นบาท”

ปัจจุบันมีกลุ่มสตาร์ทอัพและนักพัฒนาในไทยที่นำคลาวด์โซลูชั่นบนแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์อาชัวร์ไปใช้อยู่ราว 40 ราย ปีนี้หวังผลักดันให้ได้ถึง 100 ราย

บริษัทวางคลาวด์เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญสำหรับการสร้างการเติบโตให้บริษัททั้งตลาดโลกและประเทศไทย