เผยผลสำรวจ หญิงไทยอ้วน!! อันดับ2เอเชีย

เผยผลสำรวจ หญิงไทยอ้วน!! อันดับ2เอเชีย

เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทย ล่าสุดพบมีภาวะอ้วนถึง19 ล้าน หญิงไทยอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ส่วน 7.7 ล้านคนเสี่ยงโรคเบาหวาน

ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงข่าวผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายว่า สสส.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทำการสำรวจสุขภาพประชาชนครั้งที่5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย21 จังหวัด จำนวน19,468ตัวอย่าง เพื่อสำรวจการเฝ้าระวังทางสุขภาพของคนไทยระดับประเทศ ใน 8 ประเด็น

ผลการสำรวจพบว่า1.การสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุจากร้อยละ19.9ในปี2552 เป็นร้อยละ 16 ในปี2557 จำนวนมวนที่สูบบุหรี่เพศชายเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ10.6 มวน เป็นวันละ11.2 มวน เพศหญิงลดลงจากเฉลี่ยวันละ9มวนเป็น7.7 มวน สัดส่วนคนที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ78เป็นร้อยละ72.6

2.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากร้อยละ7.3เหลือร้อยละ3.4จำนวนครั้งของการดื่มอย่างหนักเพิ่มขึ้นเพศชายจากค่ากลาง6 ครั้ง ต่อปีเป็นค่ากลาง3ครั้งต่อเดือนเพศหญิงจากค่ากลาง3ครั้งต่อปีเป็น2ครั้งต่อเดือน3.กินผักและผลไม้เพียงพอ400กรัมต่อวันขึ้นไปมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากร้อยละ17.7เป็นร้อยละ 25.9 หรือ1ใน4

4.การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่นเดินขี่จักรยานอยู่ในระดับคงที่ร้อยละ80 5.อัตราการบริโภคน้ำอัดลมน้ำหวานเครื่องดื่มหวานของกลุ่มเด็กอายุ2-14ปี เพิ่มขึ้นโดยเด็กอายุ2-5ปี เพิ่มจากร้อยละ10.5 เป็นร้อยละ12.5.อายุ6-9ปี จากร้อยละ14.5เป็นร้อยละ20.4 และอายุ10-14ปี จากร้อยละ 19.1 เป็นร้อยละ19.8

6.ภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกกลุ่มวัยจากร้อยละ34.7 ในปี2552 เป็นร้อยละ37.5 เพศชายเพิ่มจากร้อยละ28.4เป็นร้อยละ32.9เพศหญิงเพิ่มจากร้อยละ40.7เป็นร้อยละ41.8 ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีภาวะอ้วนถึง19ล้านคน 7.ภาวะความดันโลหิตสูงถึง13ล้านคนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4เป็นร้อยละ 24.7 เพศชายเพิ่มจากร้อยละ 21.5 เป็นร้อยละ25.6เพศหญิงจากร้อยละ21.3เป็นร้อยละ23.9

และ8.เบาหวาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 เป็นร้อยละ8.9 โดยประเทศไทยมีคนที่เป็นเบาหวานถึง4 ล้านคนที่น่าเป็นห่วงคือพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง7.7ล้านคน กลุ่มหลังหมายถึงร้อยละ5-10ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ

"แม้พฤติกรรมสูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งภาคนโยบายภาคสังคมและภาควิชาการแต่เป็นสิ่งที่สสส.และภาคีเครือข่ายยังคงต้องรณรงค์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ เดินหน้าสนับสนุนให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึง การส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัยและสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืนพร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลดหวานมันเค็มลง โดยเฉพาะมาตรการสำคัญในการเสนอมให้ออกกฎหมายเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นมาตรการที่จะช่วยลดปัญหานี้”พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว

ด้าน ศ.นพ.วิชัย เอกาพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะโรคอ้วนเบาหวานความดันกลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้นจากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วน(BMI ≥ 25 kg/m2) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพศชาย มีจำนวนร้อยละ 32.9 และเพศหญิงร้อยละ 41.8 โดยเพศชายในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนสูงสุดสำหรับผู้หญิงทุกภูมิภาคมีสัดส่วนไม่ต่างกันและภาวะอ้วนในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล

เมื่อเทียบกับดัชนีมวลกายหรือBMI พบว่าหญิงไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยดัชนีมวลกายเฉลี่ยของหญิงไทยอยู่ที่ 24.5 kg/m^2อันดับ1 คือมาเลเซียดัชนีมวลกายเฉลี่ย25.7 ขณะที่ผู้หญิงในญี่ปุ่นและฮ่องกงมีภาวะอ้วนลดลง ส่วนเพศชาย พบว่าอ้วนเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย อันดับ 1-7 ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

"ผู้หญิงยังมีสัดส่วนการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 9.8 และ7.9 ตามลำดับ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชุกสูงที่สุดตามด้วยภาคกลางภาคเหนือและภาคใต้ที่น่าสนใจคือร้อยละ43.1ของผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อนเท่ากับว่าภาระโรคเบาหวานในปัจจุบันมีคนที่เป็นเบาหวานแล้วมากกว่า4ล้านคนทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานอีกถึง7.7ล้านคนซึ่งภายในร้อยละ 5-10 ต่อปีจะป่วยเป็นเบาหวาน”ศ.นพ.วิชัยกล่าว