ชง กสท.ปรับ “3ช่องทีวีดิจิทัล”โฆษณาเกินเวลา

ชง กสท.ปรับ “3ช่องทีวีดิจิทัล”โฆษณาเกินเวลา

อนุฯคุ้มครองผู้บริโภค เสนอ กสทช. ปรับทางปกครอง “3 ช่องทีวีดิจิทัล” โฆษณาเกินเวลา พร้อมชงแนวทางกำกับโฆษณาทีวีชอปปิงเพิ่ม

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) วันจันทร์ที่  25 ก.ค.นี้ มีวาระการพิจารณา เรื่องร้องเรียนจากอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ขอให้ตรวจสอบระยะเวลาการโฆษณาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทธุรกิจระดับชาติ มีการโฆษณาเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

ที่ระบุว่า “การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ฯ ประเภทกิจการทางธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่ ให้หารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกิดชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10นาที”

จึงขอให้สำนักงานฯ ดำเนินการตรวจสอบช่องทีวีดิจิทัลระดับชาติ ได้แก่ ช่อง3 เอชดี ช่อง7เอชดี ช่อง 8 ช่องวัน และช่องเวิร์คพอยท์  

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่าคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนรวมทั้งได้เชิญตัวแทนช่องมาชี้แจง จึงมีข้อเสนอต่อ กสท. ดำเนินการปรับทางปกครองต่อบริษัท 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง3เอชดีช่อง7เอชดี และช่องเวิร์คพอยท์  ที่มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาและคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าวต่อผู้ให้บริการโครงข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้มีการกำกับ ติดตามไม่ให้ทั้ง 3 ช่อง มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอีก

นอกจากนี้คณะอนุคุ้มครองผู้บริโภคฯ เสนอ กสท.ควรมีแนวทางเพื่อกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค กรณี การออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งเป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง หลังได้รับเรื่องร้องเรียน เรื่องข้อมูลระยะเวลาการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ในรายการ “โอ ช้อปปิ้ง” โดยมีวาระการพิจารณาให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นการชั่วคราวในช่องจีเอ็มเอ็ม

รวมทั้งการพิจารณาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ของบริษัทไทยทีวี จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ผู้ค้ำประกัน

ส่วนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 ปี 2016 ของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) ล่าสุดบอร์ดกองทุน กทปส. ได้ตีกลับเรื่องมาให้ กสท.พิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้ง