“แพ 500 ไร่” ธุรกิจคิดแบบ “ธรรมชาติ”

“แพ 500 ไร่” ธุรกิจคิดแบบ “ธรรมชาติ”

“แพ 500 ไร่” คือรีสอร์ทยอดนิยมขวัญใจนักท่องเที่ยว ที่เริ่มธุรกิจด้วยการคิดแบบ "ธรรมชาติ" อยู่ร่วมกับชุมชน และเชื่อในความสำเร็จที่แบ่งปันได้

ราคาค่าบริการตั้งแต่หัวละ 6 พัน ไปจนถึงกว่า 2 หมื่นบาท! ทำให้ชื่อของ “แพ 500 ไร่” ฉีกตัวเองไปจากแพที่พักน้อยใหญ่ในเขื่อนเชี่ยวหลาน เขาสก สุราษฎร์ธานี ขณะที่ย้อนไปแค่ไม่กี่ปี ที่พักบริเวณนี้ เคยขายได้แค่ 500-600 บาท เท่านั้น!

“แพ 500 ไร่ ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจ แต่เราทำธุรกิจให้ซัคเซส เพื่อสร้างให้เชี่ยวหลานเกิดขึ้น ทำให้เมืองโต และตั้งราคาที่ไปไม่แข่งกับคนอื่น เพื่อที่เมื่อคนโทรเข้ามาแล้วแพง หรือเต็ม ลูกค้าจะได้ล้นไปหาเพื่อนๆ”

ถ้อยคำสะท้อนแนวคิดของ “เบิ้ล-อติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์” เจ้าของรีสอร์ท แพ 500 ไร่ (www.500rai.com) ถึงที่มาของการตั้งราคาเพื่อ “กำหนดมูลค่าของสถานที่” หลังได้ร่วมปลุกปั้น “เขื่อนเชี่ยวหลาน” จนกลายเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยว “ต้องห้ามพลาด” ของนักท่องเที่ยว

เขาคือหนุ่มวิศวะ อดีตเด็กเกเร พ่วงท้ายด้วยสถานะ “ยากจน” ผู้ตัดสินใจกลับมาหาทางทำกินที่บ้านเกิด ใน อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยต้นทุนที่มีก็แค่ ชอบท่องเที่ยว ชอบพูดและชอบคุย เขาเริ่มจากทำทัวร์นำเที่ยว โดยให้บริการอย่าง “ซื่อตรง และซื่อสัตย์” เมื่อคนรับบริการเกิดความประทับใจ จึงเกิดเป็นกระแสบอกต่อปากต่อปาก จากกิจการเล็กๆ เลยค่อยๆ ขยับขยายใหญ่ขึ้น ภายหลังจึงขยายมาเปิดแพที่พัก เพื่อให้บริการลูกค้าอย่าง “ครบวงจร” ขึ้น

ที่มาของรีสอร์ท “แพ 500 ไร่” ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท รักษ์สุราษฎร์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เขาบอกว่า ตั้งใจให้เป็นทั้งโมเดลต้นแบบ และแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งปลุกให้ผู้คนในชุมชน ซึ่งเคยมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มาหาโอกาสเพิ่มเติมจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยตั้งแต่วันเริ่มต้นธุรกิจ ก็เลือกทำธุรกิจที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีชุมชนเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการธุรกิจ

“อย่างอดีตเราทำเรือนำเที่ยวเอง แต่ปัจจุบันให้ชาวบ้านทำ 100% เราเป็นแพเอกชนที่มีลูกค้ามากที่สุด ขณะเดียวกัน ใช้เรือชาวบ้าน 100% อดีตเราใช้รถของชาวบ้านและลูกน้องให้บริการลูกค้า วันนี้เราใช้รถของเราเอง แต่ผลักดันให้พวกเขาไปเป็นเจ้าของกิจการ แล้ววิ่งรถเสริมกับเรา และสามารถรับงานนอกได้ด้วย” เขาบอกไอเดีย

ขยับไปอีกขั้น ด้วยการไปทำโครงการร่วมกับชุมชน เพื่อเชื่อมโยงการเกษตร เข้ากับธุรกิจท่องเที่ยว   โดยรับผลผลิตทางการเกษตรจากชาวบ้านโดยรอบ มาให้บริการในรีสอร์ท รวมถึง ใช้ แพ 500 ไร่ เป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ หมอนยางพารา ฯลฯ เพื่อช่วยกระจายสินค้าชุมชน พร้อมขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย

การเติบโตของแพ 500 ไร่ เลยเป็นการโตไปพร้อมกับชุมชน หน้าที่ของพวกเขาก็แค่ ต้องสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ โดยเริ่มจากสร้างคอนเซ็ปต์ที่พัก ให้มีผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยของแถมที่ไม่ใช่แค่ความสุข แต่คือการได้มีส่วนร่วมกับชุมชน และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย

ธุรกิจคิดแบบ “ธรรมชาติ” ใช้  3 ธรรมชาติ” มาเป็นจุดขายสำคัญ ตั้งแต่  1.“มีธรรมชาติที่สวยงาม” การันตีด้วยการคว้ารางวัล Best Location 2016 จากนิตยสารโลนลีแพลนเน็ต มาสดๆ ร้อนๆ ตามมาด้วย 2.“พนักงานและรูปแบบการให้บริการที่เป็นธรรมชาติ” โดยคนที่เข้ามาพักที่นี่ จะได้รับบริการจากพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ตามนโยบาย 80% ใช้คนในพื้นที่ จึงให้บริการด้วยความใสซื่อ และจริงใจ สัมผัสได้ถึงความเป็นไทย และคนโลโคขนานแท้

แม้จะเป็นชาวบ้านทำ และทำกันแบบธรรมชาติๆ แต่ใครจะคิดว่า แพ 500 ไร่ ได้รางวัล “ความเป็นเลิศด้านการบริการ” (Best Service Excellence) การันตีความเจ๋ง มาแล้ว

ปิดท้ายกับ 3.”ผู้เข้าพักจะดึงความเป็นธรรมชาติของตัวเองกลับมา” โดยทุกคนจะเหมือนถอดหัวโขน ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีภาระ ไม่ต้องกลัวใครตามงาน เป็นโอกาสที่จะได้ใช้เวลากับตัวเองและคนที่รักอย่างเต็มที่

รีสอร์ทที่ตอบโจทย์ความเป็นธรรมชาติ ด้วยที่พักซึ่งไม่มีการเติมแต่งสิ่งอำนวยความสะดวกหรูหรา ลืมไปเลยอ่างจากุซซี่ เพราะแม้แต่ ทีวี ตู้เย็น และสัญญาณไวไฟ ยังไม่มีด้วยซ้ำ เรียกว่า ฉีกกฎรีสอร์ทราคาแพงไปจนสิ้น ใครจะคิดว่า ห้องพัก ที่มีอยู่เพียง 18 ห้อง รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน แถมยังมีค่าบริการรวมแพคเก็จแพงลิบลิ่ว แต่กลับมีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แบบ “ไม่มีฤดูกาล” และลูกค้ากว่า 90% คือคนไทยซะด้วย

ที่สำคัญทุกคนที่มาเที่ยว ไม่มีใครบ่นว่าแพงเลยสักนิด

“ทุกคนที่เข้ามา ไม่มีใครพูดถึงเรื่องวัตถุเลย ทำไมคนจ่ายขนาดนี้ ไม่พูดเรื่อง อ่างจากุซซี่ หรือห้องพัก แต่กลับพูดแค่  พนักงานบริการดี วิวสวย อาหารอร่อย พูดแต่เรื่อง ‘หัวใจ’ แล้วมองข้ามวัตถุไปเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น”

เขาบอกการตอบรับเชิงบวก จากจุดยืนที่วางไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น จนสามารถคว้ารางวัล Thailand Boutique Awards สาขา อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ประจำปี 2014-2015) ซึ่งจัดโดย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “KTC” มาครอบครองได้ ซึ่งความสำเร็จในตัวธุรกิจ ไม่สำคัญเท่า การได้เห็นท้องถิ่นที่รัก เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีคนเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงในเชี่ยวหลาน ทว่ายังรวมถึงชุมชนรอบนอกด้วย

“ทุกอย่างกระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ ผมเริ่มจากทำ แพ 500 ไร่ เอาแพมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยว ทีนี้แพอื่นก็เกิดขึ้นตามมา ส่งผลต่อคนขับเรือ พอคนเรือได้ รีสอร์ท และร้านอาหารรอบๆ นอก ก็ได้ด้วย ตอนนี้เรากำลังทำรายได้เพิ่ม จากท่องเที่ยวชุมชนและท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในเขื่อน เช่น ล่องเรือแคนนู แพกระบอกไม้ไผ่ สวนผลไม้ หรืออะไรอีกหลายๆ อย่าง เพื่อขยายผลออกไปจากตรงนี้” เขาบอกภารกิจที่ยังไม่หยุดนิ่ง

เพื่อให้ธุรกิจจาก “ธรรมชาติ” ได้อยู่เคียงคู่กับชุมชน และยังคงแบ่งปันความสำเร็จร่วมกันได้