อินเทอร์เน็ต‘หน้าใหม่’ดัน‘อีคอมเมิร์ซ’บูม

อินเทอร์เน็ต‘หน้าใหม่’ดัน‘อีคอมเมิร์ซ’บูม

การสำรวจ“ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่” ในต่างจังหวัดของ “เอ็ม อินเตอร์แอคชั่น” พบพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความเชี่ยวชาญและใช้งานมากขึ้น

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอ็ม อินเตอร์แอคชั่น จำกัด ดิจิทัล เอเยนซีในเครือกรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่ากลุ่มอินเทอร์เน็ต “หน้าใหม่” ที่ใช้งานผ่านมือถือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและขยายตัวทั่วประเทศ ทำให้การพูดถึง “สื่ออินเทอร์เน็ต”และ“สื่อดิจิทัล” มีมุมมองต่างไปจากเดิม

เพราะกำลังพูดถึงจำนวนผู้ใช้งานกว่า 38 ล้านคน จากตัวเลขผู้ใช้โซเชียล มีเดียปัจจุบัน ต่างจากช่วง 6-7 ปีก่อนที่จำนวนผู้ใช้เน็ตอยู่ที่ 15 ล้านคน มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียราว 5 ล้านคน ดังนั้นการวางแผนใช้งบประมาณผ่านสื่อที่เข้าถึงคน 2-5 ล้านคนในขณะนั้น จึงเป็นสื่อที่ยังไม่มีความสำคัญและมีบางสินค้าเท่านั้นที่จะเลือกใช้งบโฆษณา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสื่อดิจิทัล มาจากคนต่างจังหวัด กลุ่มผู้บริโภคตลาดแมส มีพฤติกรรมเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ “ครั้งแรก” เพิ่มขึ้น

ทั้งยังมีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตต่างจากคนกรุง โดยเติมเงิน 3จีรายวัน วันละ 9 บาท นิยม“ฟรีไวไฟ” ด้วยกระแสดังกล่าวทำให้ร้านค้าในต่างจังหวัด ต้องให้เซอร์วิสบริการไวไฟฟรีให้ลูกค้า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบทั้งร้านตัดผม ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวเรือ ปะยาง ที่ต้องให้บริการฟรีไวไฟ แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมคนต่างจังหวัด เรียนรู้การใช้มือถือในทุกพื้นที่ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ

รูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตของคนต่างจังหวัดยังใช้เป็น “เครื่องมือทำมาหากิน” เช่น การรับออเดอร์สินค้าทางไลน์ ขายสินค้าผ่านอินสตาแกรม ส่งผลให้คนมีอาชีพเสริมจากการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะใช้เป็นช่องทางทำมาหากินตอบโจทย์ผู้บริโภค จากความง่ายในการใช้งานและเข้าถึงผู้บริโภค

จากความพร้อมด้านเทคโนโลยี การให้บริการโครงข่าย 3จี และ4จี ทั่วประเทศ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตคนต่างจังหวัดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทุกพื้นที่ การเรียนรู้ใช้ประโยชน์จากโซเชียล มีเดียทั้งการซื้อขายสินค้า สิ่งที่ต้องจับตาและจะเกิดขึ้นชัดเจน

ในปีนี้ คือ “อีคอมเมิร์ซ” หรือ “ชอปปิง ออนไลน์” เป็นแนวโน้มที่มาแรง!

พบว่าลูกค้า 300 แบรนด์ที่เอ็มอินเตอร์แอคชั่นดูแลในขณะนี้ หากสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซได้ “ทุกแบรนด์” ขยับกันทั้งหมดแล้ว โดยธุรกิจการบิน ท่องเที่ยว ประกันภัย ได้เดินหน้าอีคอมเมิร์ซล่วงหน้าหลายปี ทำให้มีความเชี่ยวชาญและฐานข้อมูลที่สามารถต่อยอดและได้ประโยชน์จากตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ

ปีนี้จะเห็นกลุ่ม“ค้าปลีก”ขับเคลื่อนกลยุทธ์และลงทุนในอีคอมเมิร์ซ มากขึ้น หลังจากผู้บริโภคมีความพร้อม! ทั้งพฤติกรรมการซื้อและจำนวนกลุ่มผู้ใช้บริการ

ด้วยจำนวนลูกค้าและยอดขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นสูง ทำให้ทุกกลุ่มธุรกิจต่างมุ่งนำเสนอบริการ “ชอปปิง ออนไลน์” เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างยอดขาย เมื่อมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย เรียกว่าต้องการอะไร ก็สามารถหาซื้อได้จากสื่อออนไลน์ อีกทั้งความสะดวกสบายจากการจ่ายเงินที่ไม่ยุ่งยาก มีทางเลือกจ่ายหลายรูปแบบ ล้วนสร้างพฤติกรรมให้ผู้บริโภค “ชิน” กับการจับจ่ายออนไลน์และใช้งานแบบไม่กลัวเหมือนที่ผ่านมา “เรียกว่าความสะดวกเอาชนะความกังวลต่างๆ” ในยุคนี้

ปัจจุบันธุรกิจที่ทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ ยอดขายจากช่องทางดังกล่าวเติบโตอย่างต่ำ 30-50% หลายธุรกิจเพิ่มขึ้นแบบ“เท่าตัว” สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แบรนด์ต่างๆ จัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งด้านการสื่อสารและช่องทางขายสินค้า ทำให้วันนี้ “สื่อดิจิทัล” ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการ “โฆษณา” แต่เป็น “ช่องทาง” การขาย ที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญในยุคอีคอมเมิร์ช

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย We Are Social เดือน ม.ค.2559 รายงานว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยมีจำนวนกว่า 38 ล้านคน สัดส่วน 56% ของประชากร มีพฤติกรรมใช้งาน “ทุกวัน” 86% ขณะที่ Bain & Company ในเดือน มิ.ย. 2559 ระบุตลาด “อีคอมเมิร์ซ”ในประเทศไทยมีนักช้อป ออนไลน์ กว่า 23 ล้านคน ปีที่ผ่านมายอดจับจ่ายออนไลน์มีสัดส่วน 3.8% ของตลาดค้าปลีกไทย ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุมูลค่าปัจจุบันที่ 3 ล้านล้านบาท

วรรณา สวัสดิกูล ประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจออนไลน์ เทสโก้ โลตัส บริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด กล่าวว่าพฤติกรรมการจับจ่ายออนไลน์ของผู้บริโภคเติบโตก้าวกระโดดทุกปี จากการเดินหน้าขยายธุรกิจออนไลน์ปี 2555 พบอัตราการขยายตัวเป็นกราฟ“พุ่งสูง” แบบสองเท่าตัวทุกปี

วันนี้ธุรกิจออนไลน์จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญผลักดันการเติบโตของเทสโก้ โลตัส

จากการเก็บข้อมูลกลุ่มนักช้อป ออนไลน์ พบว่าเป็นผู้หญิง 77% ผู้ชาย 23% อายุ 25-44 ปี เป็นกลุ่มระดับกลางถึงบน มียอดช้อปต่อครั้งมากกว่าร้านค้า 3.5 เท่า ที่สำคัญมีความภักดี (Loyalty) สูง กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์จึงมุ่งดึงผู้บริโภคเข้ามามี “ประสบการณ์” หรือทดลองช้อปออนไลน์กับโลตัสให้ได้ ไม่ว่าช่องทางใดช่องทางหนึ่ง

“พบว่าลูกค้าที่มีประสบการณ์ช้อปออนไลน์กับโลตัส 60% จะกลับมาซื้อซ้ำ ดังนั้นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ใหม่ ที่มีโอกาสอีกมากจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

ปัจจุบันแพลตฟอร์มดิจิทัลของโลตัส ครอบคลุมเว็บไซต์ Tesco Lotus Shop Online ที่มีสินค้ากว่า 20,000 รายการ และเว็บไซต์ ลาซาด้า สินค้ากว่า 9,000 รายการ ตอบโจทย์ลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีบริการใหม่ ShopBox24 เจาะลูกค้าคอนโดมิเนียม สั่งซื้อผ่านแอพ “เทสโก้ โลตัส” บริการส่งสินค้าที่ตู้ล็อคเกอร์ตั้งอยู่ในคอนโดมิเนียม 48 แห่ง บริการ Click & Collect สั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและเลือกรับสินค้าด้วยตัวเองสาขา บริการส่งสินค้าทางมอเตอร์ไซค์ เน้นกลุ่มสินค้าอาหารสด รับสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง โดยร่วมมือกับ Happy Fresh จัดส่งสินค้า

การรุกธุรกิจออนไลน์ต่อเนื่องของโลตัส เพื่อรักษาตำแหน่ง“ผู้นำ”วงการค้าปลีกทั้ง“ออฟไลน์และออนไลน์”