นักสู้ “สำเพ็ง” โมเดลพลิกธุรกิจรอด

นักสู้ “สำเพ็ง” โมเดลพลิกธุรกิจรอด

“สำเพ็ง”ย่านค้าเก่าแก่ เผชิญความท้าทายรอบด้าน หลังพ้น“ยุคทอง”สิ่งทอ สู่ยุคผู้ขายมาก-ผู้ซื้อน้อย ตามติดการปรับตัว “นักสู้สำเพ็ง" พลิกโมเดลรอด

วานิช 1” ถนนสายหลักของ ตลาดสำเพ็ง ย่านค้าส่งเก่าแก่ เขตสัมพันธวงศ์ ที่มีธุรกิจหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในไทย วันนี้เต็มไปด้วย ร้านกิฟท์ช้อป เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ที่แซมสลับพอให้เห็นบ้างคือ ร้านขายผ้า ทั้งที่ถอยหลังไปไม่ถึงสิบปี 

กว่า 90% ของร้านรวงที่นี่ คือ ร้านค้าผ้า

สำเพ็ง คือ แหล่งค้าผ้าผืน ที่ทั้งใหญ่และเก่าแก่ของไทย ในยุครุ่งเรืองเชื่อกันว่าจะมีร้านผ้าอยู่ไม่ต่ำกว่าพันร้าน 

ปัจจุบันข้อมูลจากสมาคมพ่อค้าผ้าไทย ระบุว่า ผู้ค้าผ้าสำเพ็ง มีอยู่ประมาณ 700-800 ราย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสมาคมฯ อยู่ประมาณ 276 บริษัท ลดจากอดีตที่มีอยู่กว่า 300 บริษัท ทั้งที่ปิดกิจการ ควบรวมกิจการ รวมถึงลดขนาดธุรกิจ

ส่วนที่เติบโตมาก แซงหน้าธุรกิจผ้าไปเรียบร้อย คือ ธุรกิจ กิฟท์ช็อป ที่เพิ่งเข้ามาในสำเพ็งเมื่อไม่กี่ปีมานี้

สมัยก่อนคนมาสำเพ็ง เขามาซื้อผ้ากัน แถวนี้ก็ขายผ้าหมดแหล่ะ แต่เดี๋ยวนี้ กิฟท์ช็อป มีเยอะมาก และคึกคักกว่าสมัยก่อน ส่วนใหญ่พวกที่เขาเช่าที่ สู้ราคาไม่ไหว แต่กิฟท์ช็อปเขาสู้ไหว พูดง่ายๆ เขากำไรดีกว่า แต่เราทำกำไรลำบาก หลายเจ้าเลยย้ายไปอยู่ในซอย ไม่ก็ออกไปข้างนอก ไปสู้กันรอบนอก

คำบอกเล่าจากพนักงานเก่าแก่ของ ร้าน กิม ง่วน จั่น” ที่อยู่คู่สำเพ็งมาถึง 72 ปี พวกเขาเป็นหนึ่งในร้านเก่าแก่ที่ยังเหลือรอด และมองเห็นว่าสำเพ็งเปลี่ยนแปลงไปมากในวันนี้

จากตลาดค้าผ้า วันนี้สำเพ็งกลายเป็นหนึ่งในย่านการค้าที่ร่ำลือว่า ค่าที่แพงที่สุด!” แห่งหนึ่ง โดยราคาที่ดินตกตารางวาละไม่ต่ำกว่าล้านบาท ค่าเช่าต่อเดือนของร้านรวง อยู่ที่หลักแสนบาท ! เจ้าของร้านผ้าเดิม ซึ่งเน้นค้าส่งเป็นหลัก จึงเลือกขยับไปอยู่หลังร้าน ขึ้นชั้นสอง หรือไม่ก็ไปตั้งร้านในพื้นอื่น เพื่อปล่อยพื้นที่หน้าร้านให้เช่า เลยได้เห็นสินค้าอื่นเข้ามาแทนที่ผ้า

ความเปลี่ยนแปลงในสำเพ็งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ว่านี้ เล่นงานพวกเขามาพักใหญ่แล้ว 

ทว่า ดูจะส่งผลหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ สินค้าจีนราคาถูกจากจีนเข้ามาแข่ง วันนี้คนจีนยังหิ้วกระเป๋าเข้ามาทำการค้าในสำเพ็งและเยาวราชเพิ่มมากขึ้น ซ้ำเติมด้วยพฤติกรรมคนเปลี่ยน ผู้คนเลิกนิยมสั่งตัดเสื้อ กระทบถึงผู้ค้าผ้าไปด้วย จากเคยอยู่เฉยก็มีลูกค้าวิ่งเข้าหา วันนี้เลยต้องเปลี่ยนเป็นส่งเซลส์ไปวิ่งหาลูกค้า เวลาเดียวกันกับคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ซื้อกลับน้อยลง เลยต้องมาแข่งกันที่ราคา แล้วจะหากำไรได้จากไหนกัน

วันนี้ตลาดเป็นพิรามิดหัวกลับ ผู้ขายเยอะขึ้น แต่ผู้ซื้อน้อยลงทุกวัน และผู้ซื้อที่มีคุณภาพก็น้อยลงด้วย วันนี้โลกเล็กลง ใครๆ ก็สั่งซื้อสินค้าด้วยตัวเองได้ ขณะเศรษฐกิจไม่ดี การเงินของลูกค้ามีปัญหา ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาก็ไม่ได้สนับสนุนสิ่งทอมากนัก หลายๆ เจ้าเลยเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น เชื่อว่ามีหายไปไม่ต่ำกว่า 30% ธุรกิจนี้ ถ้าหัวใจไม่แข็งแรง ผมว่าทำลำบากนะ เพราะลงทุนสูง กำไรน้อย

คำยืนยันจาก ราม คุรุวาณิชย์หรือ นายห้างราม แห่ง ห้างผ้ากินรี แฟรนไชส์ศูนย์รวมผ้าครบวงจร ที่เริ่มค้าผ้าในสำเพ็งมาตั้งแต่วัย16-17 ปี ตามคนอินเดียส่วนใหญ่ในยุคนั้น ที่มักสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการมาค้าผ้าในสำเพ็ง แต่วันนี้แม้แต่พ่อค้าผ้าชาวอินเดียเอง เขาว่า น่าจะหายไปถึง 50% ทั้งจากไปเพราะอิ่มตัว และไปหาโอกาสในธุรกิจอื่น

วันนี้ผู้ค้าสำเพ็ง ถ้าไม่ปรับตัว อยู่ไม่ได้ ยิ่งนิ่งเท่ากับถอย ต้องทำการค้าเชิงรุก เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก

คำตอกย้ำจาก ไชยยศ รุ่งเจริญชัยนายกสมาคมพ่อค้าผ้าไทย เขาคือ ทายาทรุ่น 3 ผู้ค้าผ้าสำเพ็ง ที่กำลังรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสิ่งทอไทยอยู่ไม่ต่างกัน

ท่ามกลางโจทย์สาหัส แต่เขายังคงเชื่อมั่นในธุรกิจผ้า ว่าจะไม่มีวันล้มหายตายจากสำเพ็ง และยังมีศักยภาพมากมายซ่อนเร้นอยู่ เลยเป็นที่มาของการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ เพื่อขยับจากพ่อค้าผ้า ลูกหลานกงสี มาสู่ “ธุรกิจมืออาชีพ” ที่จะเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง พลิกโมเดลธุรกิจ ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ เลิก One Man Show แต่จะโตด้วยระบบและนวัตกรรม

เราต้องเปิดโลกทัศน์ตัวเอง ว่าตอนนี้โลกเขาไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่ทำของเก่าๆ อยู่ เราต้องหาจุดแข็งของเราให้เจอ ต้องผันตัวและไปหานวัตกรรม

ทายาทผู้ค้าผ้าสำเพ็ง ถอดหมวกนายกสมาคมพ่อค้าผ้าไทย บอกเล่าธุรกิจของเขา หลัง 2-3 ปี ก่อน กลับมามองธุรกิจของครอบครัว แล้วพบว่า ธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) เริ่มมองไม่เห็นอนาคต และนับวันก็มีแต่จะเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ เลยคิดเปลี่ยนมาทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งยังไม่หนีจากความเชี่ยวชาญ นั่นคือ เรื่องผ้า ที่มาของการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชนิดพิเศษ ที่ตอบโจทย์ทั้งป้องกันแบคทีเรีย ป้องกันรังสียูวี ลดกลิ่นเหงื่อ และคงทน แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสามารถไปพัฒนาเป็นสินค้าได้หลากหลายแม้แต่สิ่งทอที่ใช้ในวงการแพทย์

เป้าหมายคือ อยากขายเส้นใย แต่เพื่อให้ง่ายต่อการทำตลาด เลยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้น อาทิ ผ้าปูที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง และถุงเท้ากีฬา ภายใต้แบรนด์

“PERMA HEALCA” (เพอร์มา ฮีลก้า) โดยคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ภายใน 2 เดือนจากนี้

การคิดนวัตกรรม ต้องเสียทั้งเงินและเวลา สำหรับเขาทุ่มเทไปกว่า 2 ปีครึ่ง แถมยังหมดเงินไปเป็นล้าน อะไรกันที่ทำให้เชื่อมั่นว่าดีแน่ คนหนุ่มบอกเราว่า ต้องเริ่มจากมองโอกาสความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อน

ถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเป็นเรา เราต้องการมันไหม ถ้าทำออกมาแล้ว จะขายได้ไหม ราคาเป็นอย่างไร ผลิตได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่คิดเสียดีเยี่ยม แต่ต้นทุนแพง ขายไม่ได้ ต้องคิดให้ดีก่อนลงไปทำ แน่นอนการทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จ..ถอยไม่ได้” เขาเล่า

สิ่งที่จะเพิ่มความมั่นใจอีกขั้น คือ ต้องหาข้อมูล โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของตนเองเป็นต้นทุน ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นก่อนที่ยังร่วมบริหารองค์กรอยู่ เพื่อให้มองเห็นเป้าหมายเดียวกันให้ได้

เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด ซึ่งถ้าเราทำสินค้าให้ดีๆ เชื่อว่าตลาดยังไปได้อีกมาก จากเดิมเจน 1-2 อาจทำอยู่แค่ในสำเพ็ง หรือไปอาเซียนบ้าง ไกลสุดคือแค่นั้น แต่วันนี้เราจะไปให้ไกลกว่านั้น เราจะไปตลาดโลก เขาบอกเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงใน หจก. กิม ง่วน จั่น ที่อยู่คู่สำเพ็งมากว่า 7 ทศวรรษ เมื่อทายาทรุ่น 3 เศรษฐพงศ์ ศรีสุภรวาณิชย์ อดีตคุณหมอวัย 34 ปี ตัดสินใจลาออกจากแพทย์ มาสานต่อธุรกิจครอบครัวเมื่อ 5 ปีก่อน

ธุรกิจของ กิม ง่วน จั่น แตกแขนงออกไปหลากหลาย หลังลูกหลานได้ช่วยกันสานต่อ จากร้านขายผ้ายุคอากง ไปสู่โรงย้อม โรงพิมพ์ โรงทอผ้า ฯลฯ ส่วนตัวเขาเลือกที่จะบริหารร้าน กิม ง่วน จั่น ร่วมกับผู้เป็นพ่ออยู่ที่สำเพ็ง โดยได้นำแนวคิดใหม่ๆ มาร่วมพัฒนาและจัดหาผ้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น มีฟังก์ชันที่หลากหลาย จนสามารถขยายไปยังตลาดกลุ่มใหม่ๆ เช่น ยูนิฟอร์มพยาบาล เพื่อใช้ในห้องไอซียู เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันส่งให้กับโรงพยาบาลในสิงคโปร์

ยุคก่อนไทยรุ่งเรืองด้านแฟชั่น ต่างชาติมาเดินสำเพ็ง เดินประตูน้ำกันเยอะมาก แต่วันนี้ต่างชาติหายไป เราก็ต้องทำตลาดในเชิงรุกมากขึ้น คือต้องออกไปต่างประเทศ ไปหาเขา ซึ่งปัจจุบันเราสามารถขายได้เกือบทั่วเอเชีย รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งตลาดต่างประเทศเกิดขึ้นในยุคของผม

หมอหนุ่มบอกความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้กิจการของครอบครัวยังคงเติบโตในช่วง 5 ปี ที่เข้ามา แม้วันที่ยอดขายในประเทศต้องซบเซาลงเพราะพิษเศรษฐกิจ ทว่ายังมียอดขายต่างประเทศเข้ามาช่วยดึงธุรกิจไว้ได้

หนึ่งการปรับตัวสำคัญ ที่เรียกว่า พลิกโฉม วงการค้าผ้าสำเพ็งไปอย่างสิ้นเชิง ต้องยกให้ ห้างผ้ากินรี แฟรนไชส์ศูนย์รวมผ้าครบวงจร ทั้งส่งและปลีก ในสำเพ็ง ของนายห้างราม ที่อยู่มาประมาณ 7-8 ปี และขายแฟรนไชส์ไปแล้ว 2 สาขา ไอเดียธุรกิจที่เกิดจากการวิจัยตลาดแล้วพบว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักสำเพ็ง คนส่วนหนึ่งรู้จักแต่ไม่เคยมา ขณะที่บางส่วนไม่คิดจะมาด้วยซ้ำ! 

ส่วนคนที่มาก็ต้องเจอปัญหาสารพัด ทั้งร้อน เหนื่อย หาของยาก ของไม่มี ของขาด เดินทางลำบาก ไม่มีที่จอดรถ ฯลฯ เลยเป็นที่มาของแนวคิด ยกสำเพ็งไปให้บริการใกล้ๆ ลูกค้า ผ่านโมเดลการขายแฟรนไชส์ โดยคิดค่าแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ประมาณ 5 แสนบาท ไม่รวมค่าตกแต่งร้านและค่าสินค้า โดยคาดว่าจะใช้เวลาคืนทุนไม่เกิน 3 ปี

ปัจจุบันห้างกินรีมีสินค้ากว่า 350 รายการ และตั้งเป้าว่า ภายใน 2 ปี จะมีผลิตภัณฑ์ในระบบรวม 1,000 รายการ เพื่อก้าวสู่การเป็น ห้างค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุด! ได้ตามความมุ่งมั่นของเขา

การมาถึงของห้างผ้ากินรี ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับผู้ค้าผ้าสำเพ็ง เรียกให้ถูก ต้องบอกว่า เป็นโมเดลธุรกิจที่เอื้อต่อกันด้วยซ้ำ เมื่อผ้าที่ขายในร้านกินรี ก็มาจากพันธมิตรผู้ค้าผ้าในสำเพ็ง ที่เด็ดขาดไปกว่านั้น คือลูกค้าส่วนใหญ่ในห้างกินรี จะมาจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ผ่านเว็บไซต์ “กินรีเวิร์ลดอทคอม” (www.kinnareeworld.com) และช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา แม้แต่โฆษณา ยังเลือกเปิดช่องรายการในยูทูป เพื่อโปรโมทห้างกินรี 

เรียกว่าเป็นนวัตกรรมของห้างค้าผ้า ที่รับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้โดยแท้จริง ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญมี “ลูกค้าใหม่” เพิ่มขึ้นทุกวัน

สำเพ็งต้องปรับให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยเราต้องเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ความต้องการของตัวเราเอง เพราะว่าลูกค้ามีความหลากหลายมาก ถ้าเราสามารถตอบโจทย์เขาได้ เชื่อว่ายังมีโอกาสอีกเยอะ เพราะสิ่งทอไม่ใช่วงการเล็กๆ ผมยังเชื่อว่า ทุกวิกฤติ มีคนทำเงินได้เสมอ” เขาเชื่อเช่นนั้น

หนึ่งสิ่งสะท้อนความเชื่อ คือแม้วันนี้นายห้างราม จะขยายธุรกิจไปทำทั้ง อสังหาริมทรัพย์ เป็นนักลงทุน เทรดหุ้น เทรดทอง ฯลฯ แต่ธุรกิจหลักของเขาก็ยังเป็นพ่อค้าผ้า

ผมยังรู้สึกตื่นเต้นอยู่ทุกวัน ที่ได้ตื่นเช้าแล้วมาทำงานนี้ ทุกวันนี้ผมอาจหาเงินได้มากกว่าจากธุรกิจอื่น แต่ว่าสิ่งทอเป็นธุรกิจหลักที่ผมรัก เป็นแพสชั่น และยังตื่นเต้นทุกวันที่ได้ทำ เขาบอก

นี่คือตัวอย่างของการปรับตัว ฉบับผู้ค้าสำเพ็ง ผู้ไม่ยอมถูกกลืนหายไปจากโลก เพื่อขยับตัวเองจากธุรกิจตั้งรับ มาทำการค้าเชิงรุก ปรับองค์กรกงสี ให้มีความเป็นมืออาชีพขึ้น เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเทคนิคในการขาย ใช้ช่องทางออนไลน์มาเพิ่มจุดแข็งของธุรกิจ แม้แต่ไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสนองกลุ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงความพยายามพลิกฟื้นตลาดเก่าแก่ ให้กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง รับการมาถึงของรถไฟฟ้าในอนาคต อย่างการรวมตัวกันภายใต้เครือข่าย สำเพ็ง กรุ๊ป” ที่ในอนาคตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบร่วมกัน ภายใต้แบรนด์“Sampeng Group”  เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของสำเพ็งอีกทางด้วย

อนาคตของผู้ประกอบการในสำเพ็ง โดยเฉพาะผู้ค้าส่ง จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อที่ลูกค้ามาหาเรา เขาต้องรู้ว่า มาแล้วจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ต้องบริการดี มีความน่าเชื่อถือ และมีความรับผิดชอบ ซึ่งความเป็นมืออาชีพ และมีเอกลักษณ์ สำคัญมากกับอนาคตของพวกเรา

ระหว่างทางของการต่อสู้ ยังมีความหวังที่อยากส่งถึงภาครัฐ โดยพวกเขาบอกว่า อยากให้เข้ามารับรู้ปัญหาของผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เลิกมองเป็นอุตสาหกรรมต้องจับตา หรือเฝ้าระวัง เพราะทุกวันนี้ผู้ประกอบการสิ่งทอหลายราย ก็ปรับตัวไปมากแล้ว รวมถึงการสนับสนุนเรื่องเงินทุน และมาตรการทางภาษีต่างๆ เพื่อผ่อนแรง 

ผู้ลงทุนบนความเสี่ยงสูง อย่างพวกเขา เวลาเดียวกัน ยังอยากให้ไปสนับสนุนดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และปลุกย่านการค้าแฟชั่นต่างๆ ให้กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง เพื่อที่ธุรกิจในสำเพ็ง “ผู้ค้ากลางน้ำ” อย่างพวกเขา จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย

รัฐไม่ต้องปลุกตลาดสำเพ็ง เพราะสำเพ็งไม่ได้เน้นลูกค้ารายย่อย แต่ให้ไปปลุกตลาดแฟชั่น ไปส่งเสริมเขาให้แข็งแรง เพราะถ้าเขาขายดีขึ้นเมื่อไร เราก็จะขายดีไปด้วย ปลายน้ำดี เดี๋ยวกลางน้ำ ต้นน้ำ ก็คึกคักขึ้นมาเอง

ถ้าตลาดดีเสียอย่าง นักสู้เลือดสำเพ็งอย่างพวกเขา ก็พร้อมสู้ไม่ถอยอยู่แล้ว !!

--------------------

เกร็ดสำเพ็ง 

@ร้านเก่าแก่

ซิง ซิง คือชื่อของร้านผ้าเก่าแก่ที่สุดในสำเพ็ง โดยปิดตัวไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน หากอยู่ถึงปัจจุบัน จะมีอายุถึง 92 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าอมตะที่ยังอยู่คู่สำเพ็ง คือ ลิ่นฮะเฮง ที่คาดว่า จะมีอายุประมาณ 90 ปี ส่วนร้านเก่าแก่ อย่าง กิม ง่วน จั่น, เอี๊ยะล้ง, เอี๊ยะอัน ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนมีอายุเกินกว่า 70 ปีทั้งสิ้น

@ตำนานเวสป้า

เอกลักษณ์หนึ่งของสำเพ็ง คือการใช้ เวสป้า” เป็นยานพาหนะ ในการขนส่งผ้า ด้วยเบาะท้ายที่ใหญ่และยาวยื่น ทำให้สามารถวางของได้มาก ทั้งยังรับน้ำหนักได้ดี แถมแข็งแรงทนทาน เลยพร้อมจะบรรทุกของได้จำนวนมากๆ ตัวรถขนาดเล็ก ขับง่าย จอดง่าย และทรงตัวได้ดี ช่วงหน้ารถเป็นฝาสี่เหลี่ยมเหมือนเกราะกำบัง ช่วยป้องกันขาและเข่าไม่ให้ไปเกี่ยวสอยใครเข้าระหว่างขับ จึงหลบหลีกสะดวก ปลอดภัยในการขับ พร้อมทะลุทะลวงได้ทุกตรอกซอกซอย ที่สำคัญเวสป้า ยิ่งเก่า ยิ่งแพง

ตราบใดที่สำเพ็งยังมีผ้า เราก็จะยังเจอ “เวสป้า” ที่สำเพ็ง

@“สภาน้ำชาจีน-อินเดีย

สำหรับผู้ค้าผ้าสำเพ็ง โดยเฉพาะเจนหนึ่งและเจนสองที่ร่วมบุกเบิกสำเพ็งด้วยกันมา จะมีความสนิทสนมกันค่อนข้างมาก โดยถึงวันนี้พวกเขายังพบปะ พูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา ผ่าน “สภาน้ำชา” ซึ่งเป็นเสมือนจุดนัดพบของพ่อค้าสำเพ็ง ที่ในทุกวันจะมาเจอกันที่สภาน้ำชา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และอัพเดทเรื่องการค้าระหว่างกัน 

โดยจะมีทั้งสภาน้ำชาคนจีน และสภาน้ำชาคนอินเดีย ซึ่งแม้แต่ในร้านก็ยังมีโต๊ะน้ำชาไว้ต้อนรับ สำหรับคนเจนใหม่ เรื่องนี้อาจห่างไกลพวกเขา แต่ก็มีความพยายามที่จะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ของผู้ค้ายุคใหม่อยู่บ้าง

@“พ่อค้าจีนหิ้วกระเป๋ายึดพื้นที่

ในช่วงที่ผ่านมา มีนักธุรกิจจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ย่านการค้าเก่าแก่ของคนจีน อย่างสำเพ็งและเยาวราช แม้จะไม่ถึงขนาดมาตั้งเป็นบริษัท แต่ก็เข้ามาทำการค้ากันอย่างคึกคัก โดยคนในพื้นที่บอกเราว่า ถ้าไปดูตลาดเช้าสำเพ็ง ที่เริ่มขายกันตั้งแต่ประมาณตี 2 และเก็บของกันตอนตี 5-6 โมงเช้า (ก่อนเปิดตลาดสำเพ็ง) จะพบว่ามีพ่อค้าจีนจากแผ่นดินใหญ่ หิ้วกระเป๋าเอาของมาวางขาย โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากิฟท์ช็อปจากเมืองจีน 

ถามว่ามีมากขนาดไหน ตอบได้แค่ “ส่วนใหญ่” เป็นคนจีน ขณะที่เยาวราช ก็เริ่มเห็นคนจีนเข้ามาเข็นอาหารขายกันบ้างแล้ว

เวลานี้เยาวราชก็เต็มไปด้วยคนจีนแผ่นดินใหญ่ พวกที่มาเข็นน้ำขาย เข็นอะไรขายมีเยอะมาก อย่างสำเพ็งถ้ามาประมาณเที่ยงคืนจะเริ่มเห็น เขาตั้งบูธขายกันแล้ว พื้นที่ส่วนกลางในสำเพ็ง จะเปลี่ยนเป็นร้านค้าย่อยๆ ทั้งสองฝั่ง เขามาแบบต้นทุนต่ำ แต่ขยันมาก เราก็ต้องขยันให้มากขึ้น ถ้าถามว่าเขาเข้ามามากแค่ไหน เอาแค่ใน 5 ปีนี้ จากที่เคยเข้ามาร้อยราย เชื่อว่าวันนี้มีเป็นหมื่นราย!

คำบอกเล่าจากคนในพื้นที่ ถึงการเปลี่ยนแปลงอีกด้านของย่านการค้าเก่าแก่สำเพ็ง ที่ผู้เล่นเดิมต้องเร่งปรับตัวกันหนักขึ้น  

-----------------

สูตรสานต่อทายาทสำเพ็ง 

หนึ่งปัญหาสำคัญ ที่กำลังเกิดกับผู้ประกอบการสำเพ็ง คือ ทายาทไม่สนใจสานต่อธุรกิจ เพราะค้าขายผ้าดูไม่เท่ ไม่คูล ขณะที่บางธุรกิจก็ไม่มีทายาทให้สานต่อ บางรายเลยเลือกสืบทอดกิจการให้พนักงานในร้าน เช่น ลูกจ้างที่เก่ง ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก็อาจผันตัวมาเป็นเถ้าแก่เองได้

หนึ่งไอเดียปลูกฝังลูกหลาน ให้อยากสืบทอดกิจการ ต้องดูที่ กิม ง่วน จั่น ธุรกิจ 7 ทศวรรษ ที่สามารถเปลี่ยนความคิดลูกชายซึ่งเป็นคุณหมอ ให้กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวได้ โดย เศรษฐพงศ์ ศรีสุภรวาณิชย์ ทายาทรุ่น 3 หจก.กิม ง่วน จั่น บอกว่า 

ครอบครัวต้องให้ทายาทรุ่นใหม่ได้เข้ามาสัมผัสกับสิ่งที่ตัวเองทำ ตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งจะทำให้เจนใหม่เกิดความผูกพัน และอยากเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เช่นเดียวกับตัวเขาที่คลุกคลีกับกิจการที่บ้านมาตั้งแต่เล็ก พนักงานส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นคนเก่าคนแก่ ที่เคยเห็นหน้าคร่าตากันมานาน การจะสร้างการยอมรับ จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก เพียงแต่ในการทำงานต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนเจนเก่าและเจนใหม่ โดยคนรุ่นเก่าต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ขณะต้องใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า มาผสานไอเดียคนรุ่นใหม่ แล้วหา “จุดสมดุล” ระหว่างกัน

เพื่อให้การส่งต่อธุรกิจ จากรุ่นสู่รุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น