“ยูนิโคล่” ปลุกตลาดฟาสต์แฟชั่น รุกอีคอมเมิร์ซรับวิชั่นโกลบอล

“ยูนิโคล่” ปลุกตลาดฟาสต์แฟชั่น รุกอีคอมเมิร์ซรับวิชั่นโกลบอล

ยุคที่โลกกั้นกันแค่คลิกนิ้ว ถึงคิวฟาสต์แฟชั่นเบอร์ 3 โลกอย่าง “ยูนิโคล่” ตบเท้าขยายช่องทางจำหน่ายสู่ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.uniqlo.com/th

นายชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ และหัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากยูนิโคล่ทั่วโลกเริ่มทยอยขยายธุรกิจฟาสต์แฟชั่นสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซตั้งแต่ปี 2555 โดยประเดิมตลาดญี่ปุ่นและไล่เลียงไปอีก 11 ประเทศทั่วโลก ล่าสุด ไทยเป็นประเทศที่ 12 ที่ได้ลุยธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ “UNIQLO ONLINE STORE” เพื่อจำหน่ายสินค้า ต่อยอดการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้าน ซึ่งที่ผ่านมาจำนวนสาขา 32 แห่ง ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เพียง 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ การรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ จะมาช่วยเติมเต็มและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใกล้หรือไกล และช่องทางตลาดอีคอมเมิร์ซตอบโจทย์ปรัชญาธุรกิจของยูนิโคล่ที่ว่า “made for all” ได้ครบครัน ทั้ง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ตอบสนองลูกค้าได้ทุกโลเกชั่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศไทย กระทั่งบนเขา บนดอย 2. ลูกค้าที่เคยเจอปัญหาซื้อเสื้อผ้าแล้วไม่มีไซส์  สีที่ชอบในช่องทางหน้าร้าน ก็หาซื้อได้ในออนไลน์ 3.จ่ายเงินปลายทางได้ และ 4.ซื้อแล้วไม่ต้องกังวลหากใส่ไมได้ เพราะคืนสินค้าได้ภายใน 30 วัน ยกเว้นกรณีที่แกะแพ็คเกจจิ้งแล้ว

นอกจากนี้ ช่องทางอีคอมเมิร์ซ  www.uniqlo.com/th ยังมีสินค้าจำหน่ายแบบเอ็กซคลูสีพด้วย โดยเฉพาะในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 29 ก.ค.นี้  จากนั้นจะมีสินค้าเอ็กซคลูสีพเข้ามาเติมต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะช่องทางออนไลน์ด้วย โดยช่องทางดังกล่าวจะมีสินค้าจำหน่ายนับหมื่นรายการ(เอสเคยู)

“ประเทศไทยมีคนเข้าถึงอินเตอร์ประมาณ 56% และมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซประมาณ 40% โดยตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยรวมทุกเซ็กเมนท์มีมูลค่าประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท สินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นถือว่าเป็นลำดับต้นๆที่ผู้บริโภคมีการชอปปิงออนไลน์ ขณะที่การทำตลาดอีคอมเมิร์ซของยูนิโคล่ ถือเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นรายแรกที่รุกตลาดดังกล่าวด้วย”

ปัจจุบันยูนิโคล่ ถือเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเบอร์ 3 ของโลก รองจากซาร่า และเอชแอนด์เอ็ม โดยมีการทำตลาดใน 19 ประเทศทั่วโลก และทำตลาดอีคอมเมิร์ซแล้ว 15 ประเทศ โดยรัสเซีย เบลเยี่ยม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ยังได้ทำอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ตาม จากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก เพื่อเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการผลักดันรายได้ช่องทางดังกล่าวเป็น 30% ภายในปี 2563