'พันล้าน' พันธกิจ บิสซิเนสอะไลเม้นท์

'พันล้าน' พันธกิจ บิสซิเนสอะไลเม้นท์

บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ เร่งเครื่องโต เดินหน้าขยายงานขายสู่โรงพยาบาลเอกชน หวังสัดส่วนรายได้ 10% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

'อยากเห็นรายได้รวมกลับขึ้นไปยืนระดับ 1 พันล้านบาท เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2557' 

'สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ หรือ BIZ ผู้จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) และให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ (Maintenance Service) ยืนยันเป้าหมายกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek'

'ผลิตภัณฑ์ใช้งานง่าย และมีบริการหลังการขายต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน' ถือเป็นหนึ่งจุดเด่นสำคัญของหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 28 ก.ค.2559 ราคาหุ้นละ 2.90 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท
สะท้อนผ่านคำยืนยันของเหล่านักวิเคราะห์ที่ระบุในทำนองเดียวว่า การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจะทำให้หุ้น BIZ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน

ปัจจุบัน 'บิสซิเนสอะไลเม้นท์' รับรู้รายได้จาก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประเภทชุดเครื่องฉายรังสี ,ผลิตภัณฑ์ประเภทชุดเครื่องมือและระบบ และ ผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์อื่นๆ 2.รายได้จากการให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ คิดเป็นสัดส่วน 75-80% และ 15-20% ตามลำดับ

ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล,คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่า ทิศทางธุรกิจการรักษาโรคมะเร็งด้วยเครื่องฉายรังสีและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เฉพาะทางที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกำลังจะเป็นที่นิยมในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องมือในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงยังขาดแคลนจำนวนมาก

สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ในปี 2558 เมืองไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ควรได้รับการฉายรังสีอยู่กว่า 65,000 คน ขณะที่มีจำนวนคนที่สามารถเข้ารับการรักษาต่อเครื่องฉายรังสีอยู่ที่ 400 คนต่อเครื่องต่อปี

แต่ปัจจุบันเมืองไทยมีจำนวนเครื่องฉายในรูปแบบของเครื่องเร่งอนุภาคเพียง 70 เครื่อง สวนทางกับความต้องการใช้ที่ควรอยู่ระดับ 165 เครื่อง (บนฐานจำนวนผู้ป่วยในปี 2558) จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า เครื่องฉายรังสียังขาดแคลน !!

'เครื่องมือฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งมาแน่นอน ฉะนั้นบริษัทพร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีกว่า15 ปี เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง' 

ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 32.06% บอกว่า เป้าหมายการทำธุรกิจสำคัญขององค์กรแห่งนี้คือ ต้องสร้างความแตกต่างในเชิงการขาย ด้วยความที่บริษัทเป็นผู้นำการให้บริการแบบครบวงจร (Solution Provider) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา

ฉะนั้นต้องมีความหลากหลายของสินค้า (One stop shopping) อธิบายง่ายๆ ลูกค้ามาหาเราต้องได้รับบริการแบบครบวงจร เริ่มต้นตั้งแต่ให้คำปรึกษา ออกแบบ สำรวจห้องที่ติดตั้งเครื่องมือ และติดตั้งเครื่องมือ

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในลักษณะงานโครงการ คือ บริษัททำงานเป็น Solution Provider โดยรับผิดชอบตั้งแต่ส่วนงานโครงสร้าง และงานระบบต่างๆ เช่น งานระบบไฟฟ้า งานระบบหล่อเย็น และงานตกแต่งภายใน

ลักษณะการทำธุรกิจเช่นนี้ จะส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ทั้งโครงการ นั่นหมายความว่า บริษัทจะต้องดำเนินการก่อสร้างห้องฉายรังสี สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ และติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เมื่อคณะกรรมการตรวจรับงานแล้วเสร็จ บริษัทจึงจะรับรู้รายได้ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินงานในแต่ละโครงการจะอยู่ระหว่าง 210-360 วัน

ในอดีตบริษัทจะมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน แต่เมื่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแล้ว จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น เป้าหมายของการระดมทุนครั้งนี้ คือ นอกจากนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแล้วยังจะนำไปใช้รองรับการรับงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

'อุปสรรคการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา คือ เคยกู้เงินธนาคาร 900 ล้านบาท ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 10-20 ล้านบาท เราต้องการปลดภาระส่วนนี้' 

'สมพงษ์' เชื่อว่า โอกาสในการขยายธุรกิจยังมีอีกมาก โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์เข้าไปในโรงพยาบาลเอกชน หลังหลายๆโรงพยาบาล เริ่มหันมาเน้นการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีกำลังเงินมากพออาจมาทำการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ตามแผนการทำธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2560-2564) สัดส่วนรายได้จากงานเอกชนจะขยับเป็น 10% ขณะที่งานภาครัฐจะอยู่ระดับ 90% แตกต่างจากปัจจุบันที่มีงานรัฐเกือบ 100%

นอกจากนั้นบริษัทอาจมีรายได้จากงานบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ตามยอดขายเครื่องที่สูงขึ้น ปัจจุบันรายได้ส่วนนี้คิดเป็น 15-20% ของรายได้รวม
เมื่อถามถึงมูลค่างานในมือ (Backlog) เขา ตอบว่า ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 640 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งานจ้างปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องวางแผนการรักษาและระบบเครือข่ายโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มูลค่า 19.95 ล้านบาท 2.งานเครื่องเร่งอนุภาค บจก.ศูนย์วิจัยและรักษามะเร็งกรุงเทพ มูลค่า 54.20 ล้านบาท 3.งานเครื่องฉายรังสีอัตราปริมาณรังสีสูงแบบพิเศษโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มูลค่า 154 ล้านบาท

4.งานเครื่องเร่งอนุภาค โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มูลค่า 116.50 ล้านบาท 5.งานเครื่องฉายรังสี เครื่องจำลองการฉายรังสีและเครื่องวางแผนการรักษา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ มูลค่า 77.50 ล้านบาท และ 6.งานเครื่องเร่งอนุภาค คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล มูลค่า 218.45 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายรายได้รวมในปี 2559 อาจอยู่ระดับ 500 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 318 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารับงานใหม่อีก 2-3 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นงานโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาล หากได้รับงานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน ในการรับรู้รายได้

'ปีนี้อาจมีอัตรากำไรขั้นต้น16-20% และอัตรากำไรสุทธิ 7-10% ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อยู่ระดับ 15.77% และ 6.52% ตามลำดับ' 

เขา ทิ้งท้ายว่า วิธีการรักษาโรคมะเร็งมีหลากหลายหนทาง แต่วิธีที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันมีไม่เกิน 3 วิธี คือ 1.การผ่าตัด 2.การฉายรังสี และ 3.การใช้เคมีบำบัด (คีโม) ซึ่งการฉายแสงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง

หากพิจารณาสถิติทั่วโลกจะพบว่า คนไข้โรคมะเร็ง 100 คน จะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา 50-60% หมายความว่า คนไข้ 100 คน จะต้องใช้รังสีรักษา 50-60 คน ตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีฉายรังสี แต่เครื่องฉายรังสีจะสามารถรองรับผู้ป่วยโรงมะเร็งได้ต่อปีเฉลี่ย 400-500 รายเท่านั้น ฉะนั้นมีโอกาสที่โรงพยาบาลต่างๆจะต้องลงทุนเพิ่มเติม

'การลงทุนเครื่องฉายรังสี 1 ห้อง ต้องใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่มีใครเข้ามาทำธุรกิจเดียวกับเรา มีผู้นำเข้าและจำหน่ายเพียง 2 รายเท่านั้น'

ทันทีที่ 'สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์' เรียนจบปริญญาตรีด้านเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2528 และปริญญาโท ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า (NIDA)

เขาตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพมนุษย์เงินเดือนแห่งแรกในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของรัฐบาล ในสาขารังสีรักษา (การฉายแสง) ผู้ป่วยโรงมะเร็ง ผ่านมา 1 ปี มีแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็ง หรือลดการสูญเสียจากโรคมะเร็ง

สุดท้าย 'สมพงษ์' ผันตัวเองเข้ามาสู่วงการขายเครื่องมือทางการแพทย์ ก่อนจะย้ายมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในบริษัทแห่งใหม่ ช่วงนั้นเขามีโอกาสรู้จักกับ 'วรวิทย์ สีลภูสิทธิ์' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินและทรัพยากรมนุษย์ บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์
สุดท้าย 'สมพงษ์' และ 'วรวิทย์' ตัดสินใจแยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัทในปี 2543 หลังมีความเชื่อว่า เครื่องฉายรังสีจะเป็นที่นิยมในเมืองไทย สวนทางกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้บริหารในบริษัทแรกที่มีความเห็นต่าง งานชิ้นแรกแม้จะไม่ราบรื่นนัก แต่ก็สามารถปิดดีลผลิตภัณฑ์ให้โรงพยาบาลรัฐบาล มูลค่า 50 ล้านบาท ได้สำเร็จ