ควินเต็ต ฟอร์ เดอะ สปิริตส์ ออฟ อาเซียน เมื่อตะวันออกพบตะวัน

ควินเต็ต ฟอร์ เดอะ สปิริตส์ ออฟ อาเซียน เมื่อตะวันออกพบตะวัน

บทเพลงที่ “สังเคราะห์” ดนตรีพื้นบ้าน และ ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยตะวันตก ให้ไปสู่ความเป็นสากล ด้วยความคิดดนตรีที่ซับซ้อน

 

  อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร เป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกคนไทย นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์สอนด้านการประพันธ์ดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานดนตรีออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยแรงสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ระยะหลังให้ทุนการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ ออกมา ลักษณะการ “คอมมิชชั่น” งาน โดยพ่วงเงื่อนไขสำคัญ ให้ผู้สร้างสรรค์ต้องเขียนงานเชิงวิชาการ อธิบายขบวนการสร้างสรรค์,โน้ตเพลง, แผ่นซีดี และการแสดงคอนเสิร์ตเผยแพร่ผลงาน ทำให้เกิดงานบุกเบิกด้านสังคีตศิลป์ จัดทำออกมาเป็น “แม่แบบ” (ในการขอเงินทุนสนับสนุน) ชิ้นแรก คือ เปียโนคอนแชร์โตแห่งกรุงสยาม ผลงานของ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร

และล่าสุดจากการสนับสนุนของ วช. เช่นเดียวกัน อ.ณรงค์ฤทธิ์ จะมีผลงานเพลงคลาสสิกร่วมสมัย บรรเลงลักษณะ “เปียโน ควินเต็ต” ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชิ้น ได้แก่ เปียโน, ไวโอลิน 2 ตัว, วิโอล่า และเชลโล ออกเผยแพร่ ในชื่อ ควินเต็ต ฟอร์ เดอะ สปิริตส์ ออฟ อาเซียน (Quintet for the Spirits of ASEAN) โดยกำหนดแสดงในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2559 เวลา 18.00 น. ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทเพลง ควินเต็ต ฟอร์ เดอะ สปิริตส์ ออฟ อาเซียน เป็นบทเพลงลักษณะโปรแกรม มิวสิค – ดนตรีที่สร้างสรรค์ออกมาเพื่อบรรยายภาพหรือเรื่องราวต่างๆ ความยาวประมาณ 45 นาที ประกอบด้วยกัน 12 ท่อน ท่อนเพรลูด, ท่อนหลัก 10 ท่อน และท่อนโพสต์ลูด

เป็นดนตรีที่ผู้แต่งเพลง เขียนไว้ในคำบรรยายเพลงบางส่วนว่า นำเอาเทคนิคดนตรีอาเซียนมาประยุกต์ใช้กับเทคนิคดนตรีตะวันตก อาทิ การตั้งบันไดเสียง, ลีลาจังหวะ, สังคีตลักษณ์, การประสานเสียง, เนื้อดนตรี

ไม่ใช่บทเพลง “เรียบเรียง” แต่เป็นบทเพลงที่ “สังเคราะห์” ดนตรีพื้นบ้าน และ ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยตะวันตก ให้ไปสู่ความเป็นสากล ด้วยความคิดดนตรีที่ซับซ้อน

ผู้เขียนอ่านแล้ว เกิดคำถามขึ้นในใจ ด้วยอยากได้ความรู้เบื้องลึกการสร้างสรรค์บทเพลงนี้ เพื่อให้การฟังเพลงเกิดความรื่นรมย์ยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับฟังคำตอบเป็นอย่างดีจาก อ.ณรงค์ฤทธิ์ ระหว่างฟังการฝึกซ้อมของวง เดอะ โปร มิวสิกา อองซอมเบลอ ประกอบด้วย ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน), สเตลลา คิม (ไวโอลิน), ลิโอ ฟิลลิปส์ (วิโอลา), แซลลีย์ คิม (เชลโล) และ พรพรรณ บรรเทิงหรรษา (เปียโน)

  0 0 0 0 0

อ.ณรงค์ฤทธิ์ เกริ่นนำการสนทนาว่า “ไม่ค่อยได้เขียนงานเชมเบอร์ มิวสิค เป็นงานในฝันที่อยากแต่งมาก เพราะวงเปียโน ควินเต็ต เป็นการรวมวงที่เปอร์เฟคต์มาก ดนตรีอาเซียนมีแยะมาก ผมดึงมาเฉพาะเท่าที่อยากเอามา เป็นเสียง เป็นความรู้สึกอาเซียน เป็นภาพอาเซียน ที่กระทบใจผม”

“เพลงนี้คล้ายกับเป็นอัลบั้มรูป หน้าปกเป็นเพรลูด ข้างในเป็นรูปภาพต่างๆ 10 รูป จบลงด้วยท่อนโพสต์ลูด เป็นการผสมผสานเสียงดนตรีอาเซียนกับดนตรีคลาสสิกตะวันตก ผมร่ำเรียนมาทางดนตรีคลาสสิก ผมจึงถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาดนตรีที่คุ้นเคย”

“การฟังเพลงนี้ มีทั้งยากและง่าย ที่ยากเพราะอาจมีสำเนียงดนตรีที่หลายคนไม่คุ้นเคย เช่น เสียงดนตรีกระด้างมากๆ หรือลักษณะจังหวะที่ซับซ้อน ที่ฟังง่ายเพราะเพลงนี้เป็นโปรแกรม มิวสิค แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผม เพราะผู้ฟังแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างๆ กัน”

“ท่อนที่พูดถึงพระรัตนตรัย คนที่ไม่คุ้นเคยกับการสวดมนต์ อาจรู้สึกไม่พิเศษอะไร ท่อนพูดถึงดนตรีพม่า พูดถึงทะเลสาบในพม่า บางคนอาจนึกไม่ออก หรือคนไม่รู้จักแคน ฟังท่อนที่แทนเสียงแคน อาจรู้สึกเฉยๆ”

“ทำนองเพลงอาเซียน ผมใช้นิดเดียว เป็นความตั้งใจ เพราะไม่ใช่การเรียบเรียงเพลง แต่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยผมดึง Character ออกมา แล้วสร้างงานใหม่ บนพื้นฐานดนตรีอาเซียน ให้ได้กลิ่นอายอาเซียน”

อ.ณรงค์ฤทธิ์ ขยายความและตอบคำถามผู้เขียนเกี่ยวกับบทเพลงบางท่อนว่า

ท่อน 2 – บทสรรเสริญพระรัตนตรัย / ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงของวัดในพระพุทธศาสนา อาทิ เสียงระฆัง เสียงกระดิ่งของวัด เป็นท่อนที่ผู้เขียนคิดว่า เสียงประสานแปลกหู เด่นด้วยเสียงเปียโน

อ.ณรงค์ฤทธิ์ - “ผมชอบเสียงระฆัง ฟังแล้วติดอกติดใจ ในท่อนนี้มีบทสวดมนต์เข้ามาด้วย ให้เครื่องสายเล่น”

ท่อน 3 – ลำสีพันดอน / เป็นท่อนที่ทุกอย่างเกี่ยวกับเสียง “แคน” ใช้เทคนิคการบรรเลงไวโอลินแทนเสียงแคน มีการเล่นโน้ตคู่ที่ ให้เสียงสายเปล่า เล่นแทนเสียงโดรน (Drone) ที่เล่นคลอไปพร้อมแนวทำนองหลัก

ท่อน 4 – หน้ากาล / หน้ากาลเป็นรูปหน้าเทพที่ดูดุร้าย ที่จบลงด้วยการกินตัวเองหมด เป็นท่อนที่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่า เสียงดนตรีและจังหวะ ค่อนข้างโหด ซับซ้อน มีการใช้เทคนิค “รูดสาย” และการ “รัวเสียง” ของกลุ่มเครื่องสาย ทำนองเพลงหลักบางส่วน ออกสีสันเพลงไทย โดยเฉพาะท่อนเดี่ยวไวโอลิน

อ.ณรงค์ฤทธิ์ - “คนแต่งสร้างความซับซ้อนทางดนตรีในท่อนนี้ แต่คนฟังไม่จำเป็นต้องซับซ้อนตามไปด้วย จังหวะซับซ้อนในแง่ของการเล่น เพื่อให้ได้ Effect ที่ผู้แต่งต้องการ คนฟังอาจไม่รู้สึกซับซ้อน อาจฟังแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน แต่คนเล่นอาจเล่นยากหน่อย”

ท่อน 5 – เกจอก เลซุง / เกจอก คือ กระบวนการตำข้าวเปลือก และ เลซุง คือ วัสดุที่ทำจากท่อนไม้ขนาดใหญ่ และขุดให้กลวง ผู้เขียนคิดว่าท่อนนี้ ผู้เล่นเครื่องสาย คงจะหวาดหวั่นเวลาเล่น กลัวเครื่องดนตรีของตนเองจะ “ช้ำ” เพราะเกือบทั้งท่อนบรรเลงโดยใช้มือ “ตบ” หรือ “เคาะ” เบาๆ ไลงบนเครื่องดนตรี

เป็นการเลียนแบบจังหวะการกระทุ้งข้าว ผ่านการเคาะเครื่องดนตรีได้เหมือนมาก เล่นเพลงนี้จบ นักดนตรีต้องตั้งเสียงเครื่องดนตรีของตนเองใหม่ เพราะการเคาะ การตบไปบนเครื่องดนตรีนานๆ อาจทำให้สายของเครื่องดนตรี เสียงคลาดเคลื่อนไป

อ.ณรงค์ฤทธิ์ - “ผมใช้นักดนตรีสี่คน แทนไม้ 4 อัน สร้างเสียงกระทุ้ง จากการตำข้าว”

ท่อน 6 – กาลุลา / กาลุกา คือ เครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทเปอร์คัสชั่น แถบหมู่เกาะตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์และเกาะสุลาเวสีของประเทศอินโดนีเซีย

อ.ณรงค์ฤทธิ์ - “สำเนียงดนตรีอาเซียน อยู่ที่โน้ตที่ใช้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 ตัว”

ท่อน 7 – คะยอ / คะยอ หมายถึง เครื่องสายในดนตรีพม่า อาจารย์บอกว่า “ผมเอาตัวซาวด์ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้มา ผ่านลักษณะทำนองเพลงที่เปลี่ยนคีย์อยู่ตลอดเวลา”

ท่อน 8 – บุโรพุทโธ / บุโรพุทโธ เป็นพุทธสถาน บนเกาะชวา ของอินโดนีเซีย แนวคิดในการแต่งท่อนนี้ อาจารย์เผยว่า “เอาโครงสร้างสถาปัตยกรรมของพุทธสถานแห่งนี้ มาเป็นโครงสร้างของเพลงครับ”

ท่อน 9 – อิเหนาและบุษบา ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากตอนที่อิเหนาซ่อนตัวอยู่หลังองค์พระ เพื่อแอบดูบุษบา และพยายามไล่ต้อนค้างคาวออกมาเพื่อให้เทียนดับ เปิดโอกาสให้อิเหนาได้ไปจับเนื้อต้องตัวบุษบา ผู้แต่งเล่าว่า

“ท่อนนี้ บรรยายถึงค้างคาวจำนวนมากที่กำลังบินอยู่ บินไม่พร้อมกัน ผ่านการด้นสด ในบางช่วง ฟังเหมือนค้างคาวบิน หรือการไล่ค้างคาวโดยใช้เสียงเปียโนบรรเลง”

ท่อน 10 – ทะเลสาบอินเล / ทะเลอินเล อยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ผู้แต่งประยุกต์ระบบเสียงจากดนตรีพม่า มาเป็นระบบเสียงหลักของท่อน เป็นเพลงในจังหวะช้าๆ เยือกเย็น ฟังสบายๆ “เหมือนอยู่หน้าทะเลสาบ” อย่างที่ผู้แต่งบอกไว้

ท่อน 11 – วงฆ้องของเผ่าม้ง / ท่อนนี้ใช้สังคีตลักษณ์ การแปร (Variations) เป็นท่อนที่มี ทำนองหลักสั้นๆ ของดนตรีม้ง ที่เหลือเป็นวาริเอชั่นส์ ผู้เขียนฟังแล้วคิดว่าอาจไม่เป็น ธีม แอนด์ วาริเอชั่นส์ ที่ผู้ฟังบางคนคุ้นเคย เพราะออกสีสันแปลกใหม่อยู่หลายช่วง

ท่อนสุดท้าย – โพสต์ลูด / เป็นท่อนยาวที่สุด เป็นท่อนสรุป เอาทำนองเพลงในท่อนต่างๆ มาผสมผสานรวมกัน อ.ณรงค์ฤทธิ์เปรยถึงแนวคิดการแต่งว่า

“เปรียบได้กับปกหลังของอัลบั้มภาพ ปิดอัลบั้มพร้อมความประทับใจ เป็นท่อนที่มีหลายๆ เสียงผสมกัน”

ความสนใจ หรือ การศึกษา เรื่องเพลงและดนตรี ผ่านการอ่านคำบรรยายเพลงเพียงอย่างเดียว คงไม่อาจครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ถ้าไม่ไปฟัง “การบรรเลงจริง” หรือฟังผ่านสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี

คอนเสิร์ต “ควินเต็ต ฟอร์ เดอะ สปิริตส์ ออฟ อาเซียน” วันพรุ่งนี้ นอกจากจะชมและฟัง “ฟรี” แล้ว ยังมีแผ่นซีดี “แจก” ให้ไปฟังต่อที่บ้านด้วย.