เผย'จมน้ำ'ทำเด็กไทยดับเดือนละ 91 คน

เผย'จมน้ำ'ทำเด็กไทยดับเดือนละ 91 คน

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติ 10 ปี เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 10,923 คน เฉลี่ยเดือนละ 91 คน แนะฝึกให้ว่ายน้ำให้เป็น

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า อุบัติเหตุของเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำในแต่ละปีประมาณ 372,000 คน มากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุอันดับที่ 3 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเอดส์ สำหรับในประเทศไทย พบเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 มากกว่าเด็กที่เป็นไข้เลือดออก และจากการจราจร ซึ่งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาระหว่าง พ.ศ.2549-2558 มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจำนวน 10,923 คน เฉลี่ยเดือนละ 91 คน ส่วนมากเกิดจากการลงไปเล่นน้ำหรือพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อขุด อ่างน้ำ เพราะบ่อน้ำมักจะมีลักษณะที่ลาดชันและลึก ซึ่งบางแห่งไม่มีการสร้างรั้วหรือติดป้ายหรือมีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตพบว่ากว่า 400 ราย อายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจมน้ำ ในแหล่งน้ำที่อยู่ในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง ตุ่มน้ำ อ่างน้ำ บ่อเลี้ยงปลา ดังนั้นผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องใส่ใจและสอนเด็ก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม" อย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บ เมื่อเห็นสิ่งของตกลงไปในน้ำอย่าเก็บของต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บให้ และอย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มไปในภาชนะ ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก 3 ข้อ คือ 1.ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ เช่น ขณะทำงานบ้าน โทรศัพท์ เปิด-ปิดประตูบ้าน 2.จัดการแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ เช่น เทน้ำทิ้งหลังการใช้งาน ปิดฝาตุ่ม/ถังน้ำที่บรรจุน้ำไว้ ล้อมรั้วบ่อน้ำ สร้างประตูกั้น และ3.กำหนดพื้นที่เล่นให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-2 ปี สร้างคอกกั้นความสูงอย่างน้อย 51 เซนติเมตรขึ้นไป คอกกั้นแบบมีซี่ราว ต้องมีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร คอกเป็นแนวตั้งเพื่อไม่ให้เด็กสามารถปีนได้ และเป็นวัสดุที่ปลอดภัย

ส่วนเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี มีประมาณ 8.3 ล้านคน พบว่ายน้ำเป็นประมาณ 2 ล้านคน และมีเพียง 3 แสนกว่าคนที่มีทักษะในการเอาชีวิตรอดได้ คือเมื่อประสบเหตุตกน้ำ สามารถลอยตัวเพื่อรอความช่วยเหลือได้รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนหลักสูตรถึง 21 เท่าตัว และมีทักษะการช่วยเหลือเด็กที่ตกน้ำหรือจมน้ำได้ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนมากถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นมาตรการป้องกันคือ “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือปฐมพยาบาล จัดการแหล่งน้ำเสี่ยง"

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกันการจมน้ำ โดยได้ส่งเสริมการสร้างทีมผู้การการดี (Merit Maker) ตั้งแต่ปี 2558 ใช้แนวทางประชารัฐ ภาครัฐ เอกชน จิตอาสา ชุมชนและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ตนเอง ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ได้แก่ การกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ การนำข้อมูลมาช่วยแก้ไขปัญหา การจัดการแหล่งน้ำที่เสี่ยงเกิดเหตุ การดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้คำแนะนำแก่ครูพี่เลี้ยงและจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยการให้ความรู้ในสถานบริการสาธารณสุขแก่ผู้ปกครอง เช่น เดียวกับการให้วัคซีน การส่งเสริมหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การฝึกช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการศึกษาวิจัย/ติดตามประเมินผลต่อไป จากการประชุมในเวทีผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ครั้งที่ 3 ที่ประเทศศรีลังกา พบว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำต้องเกิดจากความร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายสหสาขา และดำเนินการในหลายมาตรการควบคู่กันไป จึงได้มีนโยบายเร่งสร้างทีมเครือข่ายผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำให้ครอบคลุมทุกตำบล