ข้ามกับดักธุรกิจ สู่ “ซีอีโอยุคดิจิทัล”

ข้ามกับดักธุรกิจ สู่ “ซีอีโอยุคดิจิทัล”

เมื่อธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล สูตรสำเร็จวันวาน หาใช่วิถีสำเร็จวันนี้ ถึงครา“ซีอีโอ”กลับเข้าห้องเรียน หาสูตรธุรกิจใหม่ ก่อนแหกโค้ง !!

ปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงในแวดวงธุรกิจ วิกฤติเศรษฐกิจ ต่างๆนานาที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนเป็นสัญญาณเตือนผู้นำธุรกิจไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ ว่าจะนิ่งดูดายรอดูปรากฎการณ์ ก้มหน้าทำธุรกิจในวิถีชีวิตเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป การเติบโตแบบซื้อมาขายไป หรือ ขายสินค้าแบบที่เคยทำมา หาใช่โจทย์สำหรับธุรกิจยุคนี้อีกต่อไป

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามากระเพื่อมภูมิทัศน์ใหม่ของการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ ตั้งแต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หากผู้ผลิตหน้าเดิมไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ย่อมถูกแทนที่ด้วยธุรกิจสายพันธุ์ใหม่

กรณีสุดคลาสสิคที่ถูกพูดถึงในแทบทุกเวที คือธุรกิจแท็กซี่ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแท็กซี่แม้แต่คันเดียว อย่าง อูเบอร์ (Uber) หรือ แอร์บีเอ็นบี (AirBnb) ธุรกิจบริการห้องพักที่ไม่ได้เป็นเจ้าของห้องพักสักห้อง !

ทั่วโลกยังมีปรากฎการณ์ธุรกิจสด ใหม่ มาเร็วและแรง ที่พร้อมจะสร้างตลาดใหม่แทนที่เถ้าแก่ตลาดเก่า แพร่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกขอเพียงมีอินเตอร์เน็ทเข้าถึง

ผ่านคำบอกเล่าของ นิโคลัส เอ แนช ประธานกลุ่ม บริษัทการีน่า ออนไลน์ (Group President of Garena) หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอาเซียน บริษัทที่ก่อตั้งในสิงคโปร์ ปัจจุบันมีพอร์ตธุรกิจ 3,700 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี เป็นบริษัทที่มีโมเดลการทำธุรกิจต่อธุรกิจ (Business to Business) ที่ใกล้เคียงยักษ์ออนไลน์จีนอย่าง อาลีบาบา (Alibaba.com) 

เขายังเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจชั้นนำระดับโลก อาทิ เป็นที่ปรึกษาวางกลยุทธ์ให้กับ แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปะนี (Mckinsey & Company), บริษัทไมโครซอฟท์ จำกัด , บริษัท เลอโนโว จำกัด และบริษัท ไอบีเอ็ม และเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ Morph.org องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจของโลก

นิโคลัสเปิดฉากพูดในคราวที่ได้รับเชิญมาเป็นผู้บรรยายเปิดตัวสถาบัน ลีด บิซิเนส (LEAD Business Institute) สถาบันปั้นผู้นำธุรกิจไทยให้ทันโลก เมื่อเร็วๆนี้ว่า หลังระบบไอที และอินเตอร์เน็ทถือกำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การปฏิวัติวงการธุรกิจมหาศาล

โดยเริ่มเห็นเด่นชัดเจนประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา อาทิ สิ่งที่เกิดกับยักษ์ธุรกิจสัญชาติอเมริกันอย่างเชฟรอน, เอทีแอนด์ที และอีกหลายบริษัทที่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านไอที และเทคโนโลยี รวมถึงอินเตอร์เน็ท อาทิ แอปเปิ้ล, กูเกิ้ล, ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ค, ไอบีเอ็ม

อย่างไรก็ดี ยังมีบริษัทยักษ์เดิม ที่รอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาเพราะปรับตัว สยายธุรกิจโดยการร่วมทุนกับบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไอที อาทิ ดิสนีย์ (Disney) บริษัทมูลค่าแบรนด์อันดับ 8 ของโลก มีมูลค่า 39,100 ล้านดอลลาร์  ที่หันไปจับมือกับธุรกิจ บริษัทแอนิเมชั่น ทำให้ธุรกิจยังเติบโตอยู่ได้ในโลกธุรกิจยุคใหม่

“บริษัทที่เป็นระดับท็อป 25 ของโลกส่วนใหญ่ คือ บริษัทเกียวกับธุรกิจไอที เปลี่ยนแปลงไปจากยุคเดิมอย่างเห็นได้ชัด" เขาแจกแจง พร้อมระบุว่า

ในอดีตส่วนใหญ่คนที่จบการศึกษามาแล้วจะกลับไปเรียนอีกครั้ง ในอีก 20 ปีต่อมา ทว่า เมื่อวัฎจักรธุรกิจและตำราโลกมีเรื่องราวใหม่ หากจะรอคอยให้ถึง 20 ปีอาจช้าไป

เขาให้เวลาเพียง 5 ปี นักธุรกิจต้องศึกษาค้นคว้าใหม่เพราะโลกเปลี่ยน ไม่หยุดนิ่งที่จะก้าวเดินไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจะนับได้ว่าเป็นผู้บริหารและผู้นำยุคใหม่ ที่พร้อมรับมือพลวัฒน์การเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว และรุนแรง (Dynamics)

**"4 เมกะเทรนด์"โกลบอล

ซีอีโอการีน่า ออนไลน์ ยังสรุปเมกะเทรนด์ธุรกิจในโลกอนาคต ที่จะเข้ามาแทนที่สินค้าและบริการแบบเดิมๆ ประกอบด้วย

1.ดิจิทัล คอนเทนท์ (Digital Content) ที่พัฒนาเนื้อหา ตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเเทิง

2.ค้าออนไลน์ (E-Commerce) ขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ท

3.การท่องเที่ยว (E-Tourism) กลุ่มเว็บไซต์ แอพลิเคชั่นต่างๆ ที่รับจองตั๋วเดินทาง โรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร ผ่านออนไลน์ เช่น Booking.com

และ 4.ระบบการชำระเงินผ่านดิจิทัล (Digital Payment)

ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของสมาร์ทโฟน ที่เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก

เขายังมองกลยุทธ์ของธุรกิจยุคใหม่ว่า การสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ จะเป็นเครืองมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจทวีคูณ ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย 

โดยฝั่งผู้ขายจะมีกลุ่มพันธมิตรที่เป็นคนขายร่วมกันในธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เช่นเดียวกับฝังคนซื้อที่จะรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ซื้อด้วยกันเอง

“ทั้งสองฝ่ายยังมีโอกาสที่จะเติบโตในตัวเอง เพราะแต่ละฝั่งจะมีกลุ่มของตัวเองที่สัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย กลุ่มผู้ขายก็มีธุรกิจที่หลากหลาย ขณะที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ พร้อมที่จะเป็นผู้มองหาผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันผู้ซื้อยังเป็นผู้ขายไปพร้อมกันได้ด้วย"

เขายกตัวอย่างเว็บไซต์อาลีบาบา ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการจำหน่ายสินค้า แต่ปัจจุบันมีทั้งลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกิจอาลีบาบา ก็ขยายจากคนขายของออนไลน์ เพิ่มเติมธุรกิจให้มีความหลากหลายในไลน์ที่เกี่ยวข้องกัน เริ่มต้นจากอาลีเพย์เมนท์ (ชำระเงินในระบบอาลีบาบา) และเพิ่มเติมด้วยอาลีอินชัวร์รัน ธุรกิจขายประกัน มองไกลไปถึงการเป็นผู้กู้เงิน ให้กับพ่อค้าที่ต้องการซื้อสินค้าไปขายต่อ

ความสัมพันธ์ที่แตกไลน์จากธุรกิจสู่ธุรกิจ ลูกค้ากับลูกค้า ที่เป็นเครือข่ายไขว้กันไปมาเช่นนี้ จึงทำให้อาลีบาบา กลายเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตทวีคูณ

**"12เส้นทาง"พลิกเทรนด์ธุรกิจไทย

นิโคลัส ยังสรุป 12 ธุรกิจใหม่ในอนาคต ที่เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย จะพัฒนาต่อยอดในอนาคต ประกอบด้วย

1.ธุรกิจด้านการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ อาจจะพัฒนาไปถึงการขนส่งผ่านทางโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) เพราะใช้ศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนของไทย 

2.การพัฒนาโปรแกรมแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ สำหรับการโปรแกรมแชท วอทแอพ หรือ ไลน์ ที่ต่อยอดไปขึ้นไปอีก มีโอกาสที่ไทยจะพัฒนาโปรแกรมเป็นของตัวเองได้ เพราะตลาดผู้บริโภคในไทยได้รับการตอบรับดีกับโปรแกรมเหล่านี้

3.ธุรกิจท่องเที่ยวผ่านออนไลน์ เพราะรายได้สำคัญส่วนหนึ่งของไทยเป็นผู้นำด้านธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาค ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะสามารถพัฒนาโปรแกรมสัญชาติไทยให้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมูลค่ามหาศาลได้ในอนาคต

4.ธุรกิจด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า เนื่องจากธุรกิจในอนาคตพยายามลดพื้นที่จัดเก็บคลังสินค้าจะถูกลดพื้นที่เพื่อลดต้นทุน จึงมีโอกาสของผู้ที่พัฒนาธุรกิจ ระบบ หรือโปรแกรมที่ใช้บริการจัดการด้านคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

5.ธุรกิจด้านการเงินและธนาคารออนไลน์ ที่ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ทางธนาคารยังไม่นำมาพัฒนาต่อยอดได้เต็มที่จึงเป็นโอกาสที่จะหยิบยกข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดให้บริการกับลูกค้าในภูมิภาค

6.การพัฒนาแอพพลิเคชั่น หรือโปรแกรมที่จะมีส่วนช่วยด้านการจราจรในไทย ที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาคนคนเมืองกรุง หากมีคนใดที่เห็นโอกาสพัฒนาโปรแกรมสำหรับแก้ปัญหาเหล่านี้ในไทย ถือว่าเป็นผู้นำธุรกิจอีกขั้นที่จะนำไปสู่การต่อยอดอื่นๆ มากมาย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางเส้นทางในภูมิภาคอาเซียน

7.การพัฒนาสินค้าไม่จำเจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ เช่น H&M เปลี่ยนคอลเล็คชั่นใหม่ในทุก2-3สัปดาห์ ทำให้ผู้บริโภคไม่เบื่อหน่ายกับการชอปปิง

8.บริหารจัดการด้านการการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่ยังเป็นปัญหาของไทยสูญเสียพลังงานไปกับการจัดการสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสของผู้ที่คิดค้น พัฒนาโปรแกรมที่ลดการสูญเสียการเผาผลาญเชื้อเพลิง

9.การพัฒนาการผลิต เครื่องมือแพทย์ หรือโบโอเทคโนโลยีเพื่อการแพททย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในกลุ่มโรงพยาบาลและห้องแล็ป ยังต้องการการต่อยอดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาล

10.เครื่องบินโซนิค (Sonic Flight) เครื่องบินเร็วกว่าเสียง ที่เคยพัฒนาในสหรัฐอเมริกา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แต่เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาปัดฝุ่นพัฒนาต่อยอดได้เพื่อใช้ในภูมิภาคอาเซียน เพราะเป็นพื้นที่ติดน้ำและทะเล จึงมีความเหมาะสมในการใช้งาน

11.พัฒนาโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่น ที่เชื่อมข้อมูลคอมพิวเตอร์ระหว่างการพัฒนาทักษะคนเชื่อมต่อกับการทำงานอุปกรณ์รวมถึงหุ่นยนต์

12.การคิดธุรกิจที่เกิดจากการรวมกลุ่มในภูมิภาค เพราะไทยเป็นตลาดที่เล็ก ขาดอำนาจต่อรอง แต่หากมีการรวมกลุ่มทุกประเทศในอาเซียน คิดกลยุทธ์เชื่อมโยงกันก็นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจที่จะแข่งขันได้ในเวทีโลก

**เจาะแก่นแพร่พันธุ์ “สตาร์ทอัพ”

มาว่ากันที่เรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 เศรษฐกิจใหม่ของไทย นิโคลัส มองตัวอย่างของการพัฒนาสร้างผู้ประกอบการใหม่ เพาะพันธุ์สตาร์ทอัพ ที่รัฐบาลพัฒนาคนไปสู่อนาคตใหม่ของประเทศไทยว่าไม่ใช่เพียงแต่นโยบาย จะต้องเริ่มจากระบบการศึกษา การพัฒนาคน โดยสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ

การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศจะต้องมีจับมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเพิ่มกำลังคนรองรับในอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องเพิ่มวิศวกรตัวฉกาจ รวมถึงพัฒนาคนที่เก่งเรื่องโปรแรมคอมพิวเตอร์อีก 3 เท่าจากปัจจุบัน

ประเทศไทยควรจะต้องภาพที่ใหญ่เข้าไว้ว่าอนาคต (Think bigger pictures) ธุรกิจไทยในอีก10ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร และมีอะไรมารองรับ โดยเฉพาะการมองไปถึงการเพิ่มกำลังคนจากประเทศอาเซียน

เช่น สิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาแล้ว คือ การให้ทุนนักศึกษา ในเวียดนาม หรือจีน เพื่อเข้ามาศึกษา และพัฒนาจนกระทั่งได้สัญชาติ (Citizen) ทำงานในสิงคโปร์ เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเกิดการเปลี่ยนผ่านเพิ่มจำนวนคนไทยจึงควรมองการให้ทุนประชากรในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ที่เข้ามาพัฒนาประเทศและยังช่วยเข้าใจตลาดเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีทักษะด้านการเจรจาต่อรองกับนักลงทุน ที่เข้าลงทุนในไทย เช่น หากเข้าตั้งโรงงานด้วยการถือหุ้น 40% ต้องถ่ายทอดความรู้การพัฒนาผู้บริหารระดับผู้จัดการอีก 400 คน เป็นต้น

เพราะกุญแจสำคัญของธุรกิจในยุคต่อไปไม่ใช่ “ทุน” ไม่ใช่ “ทรัพย์สิน” แต่คือ “คน” หรือ ทุนมนุษย์ (Human Capital) ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเศรษฐกิจ เปลี่ยนประเทศ กระทั่งเปลี่ยนโลก

นอกจากนี้ สิ่งที่ไทยจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้รวดเร็วที่สุด คือ การวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายในประเทศ ดังเช่นที่รัฐบาลเวียดนามทำ แม้จะเป็นเติบโตตามหลังไทย แต่รัฐบาลเวียดนาม กล้าหาญที่จะประกาศการลงทุนด้านอินเตอร์เน็ท ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาในยุคหน้า ดังเช่นที่เกาหลีประสบความสำเร็จเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม

ส่วนการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจสตาร์ทอัพ เขาบอกถึงที่สุดของบริษัทด้านการลงทุนสตาร์ทอัพระดับโลก 3 ราย ที่ประเทศไทยจะต้องไปจีบมาให้ได้ คือ Sequoia, Kleiner Perkins , Accel จัดว่าเป็นที่สุดของบริษัทนักลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีทั้งพันธมิตรและองค์ความรู้

ใน 3 เจ้านี้มีมาตั้งบริษัทในอาเซียนเพียงรายเดียว คือ Sequoia ตั้งที่สิงคโปร์ที่เหลืออีกสองรายยังไม่เคยมาดูตลาดอาเซียน จึงเป็นแต้มต่อที่ไทยจะต้องชิงความได้เปรียบไปคว้าตัวบริษัทเหล่านี้มาปักฐานลงทุนกับสตาร์ทอัพในไทยให้ได้ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่เพียงมีเงิน แต่มีประสบการณ์ องค์ความรู้ เครือข่ายเทคโนโลยี และเครือข่ายธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทยไปเชื่อมต่อและเรียนลัด (Shortcut) ก้าวไปสู่ระดับโลก (Global)

สิ่งที่ไทยจะต้องจัดการเศรษฐกิจในประเทศให้ได้ คือ การหาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในตลาดและก้าวไปพัฒนาต่อยอดตอบสนองตลาดระดับโลก

การวิจัยพัฒนาและทดลองหลากหลายธุรกิจในประเทศให้มีจำนวนมากเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะก้าวไปสู่การค้นหาธุรกิจที่จะเปลี่ยนโลกได้แม้ใน10กลุ่มธุรกิจจะสำเร็จเพียง1-2 รายก็จะเป็นจุดเริ่มที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการไทย

“จงโฟกัสในสิ่งที่ยิ่งใหญ่แห่งโลกอนาคต” เขาทิ้งท้าย

--------------------------------------

เปิดหลักสูตร “ไพโอเนียร์” ธุรกิจไทยรุกโลก

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกิตติคุณของสถาบัน ลีด บิซิเนส (LEAD Business Institute) หลักสูตรผู้นำธุรกิจระดับโลก (Global Business Leader-GBL) ที่เปิดตัวรุ่นแรกในไทย ไปเมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา เล่าว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ 3 สถาบัน ประกอบด้วย วิทยาลัยอุตสาหกรรมและแรงงานสัมพันธ์ (The Industrial Labor Relations School - ILR), สถาบันด้านการบริหารจัดการโรงแรม (School of Hotel Administration -SHA) และหลักสูตรด้านการการบริหารจัดการ (Johnson Graduate School of Management) ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กลุ่มมหาวิทยาลัย ในไอวี่ลีก (Ivy League Universities)

หลักสูตรนี้ถูกพัฒนาเพื่อ “ติวเข้ม” ธุรกิจใหม่ ในโลกยุคใหม่ทั้งกับเถ้าแก่ และผู้บริหารธุรกิจไทยที่ต้องการก้าวไปสู่การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่

ที่มาของการจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาธุรกิจไทยเพราะมองเห็น “เทรนด์ธุรกิจโลก” ที่ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจใหม่เข้ามาแทนที่ธุรกิจเก่า อาทิ ธุรกิจการเงินในปัจจุบัน นำเทคโนโลยีด้านการเงินมาดำเนินธุรกิจ ทั้งระบบชำระเงิน และชำระราคาสินค้าและเก็บรักษาหุ้นโดยผ่านเทคโนโลยี บ่งบอกให้รู้ว่าผู้ให้บริการยุคเดิมๆ เริ่มถูกแทนที่

“ปรากฎการณ์ความเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก ทำให้ไทยไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ต่อไป ต้องเปิดรับข้อมูล พร้อมเรียนรู้โมเดลธุรรกิจใหม่ และเชื่อมโยงสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อต่อยอดความสำเร็จทั้งในวันนี้และวันหน้า โดยเฉพาะกลุ่มด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fin tech) มาเร็วมาก และเริ่มมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนมากขึ้น”

หลักสูตรนี้จัดขึ้นโดยเป็นการรวบรวมเหล่านักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของเมืองไทยหลากหลายสาขาอาชีพกว่า 49 คน สัดส่วน 80% มาจากภาคธุรกิจต่างอุตสาหกรรม และ20%เป็นภาคการเมือง และภาครัฐ ที่สำคัญเป็นผู้นำยุคใหม่ ที่มีอายุตั้งแต่ 30-45 ปี

อาทิ เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริการร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่ออีเวนท์ระดับโลก, แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ทายาทผู้นำธุรกิจสื่อ ,วัชระ แก้วสว่าง (เสี่ยป๋อง) เซียนหุ้นพันล้าน ฯลฯ

หลักสูตรจะหวังผลในการ พัฒนาการเป็นผู้นำธุรกิจยุคใหม่ การบริหารจัดการธุรกิจ เมื่อจบโครงการผู้ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตร 4 เดือน สัปดาห์ละครั้ง จะทำให้ทุกคนจะเกิดการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ร่วมกัน และมีการเชื่อมเครือข่ายซึ่งกันและกัน

เพราะความสำเร็จในธุรกิจยุคใหม่จะต้องเติบโตไปพร้อมกันกับเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ  

“เดินไปด้วยกันกับเพื่อนในความมืดดีกว่าเดินคนเดียวท่ามกลางแสงสว่าง หมายถึงมีเพื่อนย่อมไปถึงจุดหมายปลายทางที่ดีและยิ่งใหญ่กว่า และที่สำคัญนักธุรกิจที่ดีต้องหมั่นเรียนรู้สม่ำเสมอ เต้นฟุตเวิร์คตลอดเวลา"

ดังที่ “โมฮัมหมัด อาลี” อดีตยอดนักมวยชาวอเมริกันในรุ่นเฮฟวี่เวทผู้เป็นตำนาน กล่าวไว้ว่า อย่าหยุดฝึกฝน แล้วจะใช้ชีวิตที่เหลือ อย่าง แชมป์เปี้ยน

-------------------------------------

เปิด“ห้องเรียนผู้นำ”

อัพเดทธุรกิจยุคดิจิทัล

เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนท์อันดับ 7 ของโลก กลับมาเรียนหนังสือลับคมธุรกิจเพื่อเตรียมธุรกิจเก่าข้ามยุคดิจิทัล เจ้าตัวมองว่า ธุรกิจใดๆ ก็ตามในโลกนี้ไม่ใช่เพียงทำอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเก่งเพียงด้านเดียวแล้วประสบความสำเร็จได้ในทันที แต่จะต้องผสมผสานหลากหลายศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

“ผมมาอัพเดทธุรกิจให้ก้าวทันเทคโนโลยี เพราะมีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่มากมายบนโลกใบนี้ ดังนั้นเรารู้ก่อนก็เปลี่ยนก่อน"

สิ่งที่เขาสนใจในการเรียนหลักสูตรผู้นำ คือกรณีศึกษา เบื้องหลังที่มาก่อนประสบความสำเร็จของธุรกิจจากระดับปรมาจารย์ที่เข้าไปวิจัยและถอดบทเรียนมาเล่าให้ฟังถึงกลยุทธ์วิธีการ กุญแจของการประสบความสำเร็จในโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่ทฤษฎีแต่เป็นผลจากการเข้าไปทำธุรกิจจริง

แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเหตุผลของการกลับมาเรียนห้องเรียนผู้นำธุรกิจ โดยมองว่า ผู้บริหารในยุคปัจจุบันต้องเป็นผู้บริหารยุคมิลเลนเนียม และยุคดิจิทัล มองว่าความรู้ที่เรียนมาในยุคก่อนในมหาวิทยาลัยสอนใช้ไม่ได้แล้วกับธุรกิจปัจจุบัน

การเข้ามาเรียนในห้องเรียนใหม่เสมือนมาเติมไฟไอเดียธุรกิจจากนักธุรกิจหลากหลายสาขาอาชีพ ศาสตราจารย์จากธุรกิจชั้นนำ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อนำไปประยุกต์โมเดลธุรกิจใหม่ให้กับตัวเองได้ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทนที่จัดว่าเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเขามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้ปัจจุบันราคายังไม่คุ้มค่า แต่ในไม่ช้าเชื่อว่าพลังงงานทดแทนจะถูกนำมาใช้ตลอด24ชม.ดังนั้นการทำความเข้าใจธุรกิจในยุคหน้า จึงเชื่อมต่อกับธุรกิจที่กำลังเดินได้

ขณะที่ สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลของการมาเรียนรู้การเป็นผู้นำโลกยุคใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงลูกค้า ธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะแม้คนจะเริ่มให้ความสนใจกับการประกันภัยมากขึ้น แต่คู่แข่ง และพฤติกรรมผู้บริโภคก็แตกต่าง และเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว

“ภาคการเงิน รวมถึงภาคประกันภัย ก็เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนลยี จึงต้องพัฒนาสินค้า โมเดลธุรกิจใหม่ เรียนรู้ค้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมตอบโจทย์ผู้บริโภค”

ที่สำคัญธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว การเข้ามารู้จักเพื่อนธุรกิจ สร้างเครือข่าย และเรียนรู้ข้อมูลธุรกิจใหม่จากหลากหลายอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยชั้นนำได้สรุปถอดบทเรียน จะเป็นโอกาสในการพัฒนารูปแบบธุรกิจได้หลากหลายในพร้อมรับโลกยุคดิจิทัล

เขามองว่า ผู้บริโภคยุคปัจจุบันสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างประสบการณ์ ที่ต้องหาโมเดลที่สะท้อนมาจากความคิดของการเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคโดยตรง จะมีโอกาสค้นพบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจได้

ชุติมา ดุรงค์เดช ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กร บริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องกรองน้ำ เธอคือ ทายาทรุ่น 2 จากธุรกิจครอบครัว มองว่า ข้อมูลจากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก บวกกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นผ่านเพื่อนร่วมรุ่นโดยตรง จะเป็นการค้นพบพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับธุรกิจเติบโตได้อีกหลากหลายด้าน

“รุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็เติบโตมาจากธุรกิจซื้อมาขายไป แต่หากในยุคนี้การเข้ามาเรียน ได้รับการพัฒนาความคิดธุรกิจโมเดล มีนำไปใช้ (Input) ที่แตกต่างกันที่ช่วยให้เรามีไอเดียเป็นของตัวเอง มีการวิจัย และมีการพัฒนานวัตกรรมที่มีรูปแบบการทำธุรกิจเฉพาะเราเอง โดยไม่ต้องไปลอกเลียนแบบ ที่เป็นโมเดลธุรกิจแบบเดิม”