'ดีแทค' เปลี่ยนองค์กรสู่ผู้นำดิจิทัล

'ดีแทค' เปลี่ยนองค์กรสู่ผู้นำดิจิทัล

"ดีแทคมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์กรให้เป็น Employer of Choice ในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล"

ท่ามกลางกระแสข่าวด้านลบของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่มาออกมาอยู่เรื่อยๆ ภายหลังไม่สามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่ 4จีใดๆเลย จาก กสทช. ทั้งการถอนการลงทุนของ “เทเลนอร์ กรุ๊ป” และการประกาศปรับลดพนักงานจำนวนมากในช่วง 1-2 เดือน “กรุงเทพธุรกิจ”ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงว่าทุกกระแสข่าวที่ออกมาล้วนเป็นเรื่องไม่จริงทั้งสิ้น


สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่
นางสาวนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลของดีแทคยืนยันว่า ข่าวการปรับลดพนักงานออก 40% ไม่มีความจริงแม้แต่นิดเดียว


ตามธรรมชาติแล้วองค์กรขนาดใหญ่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนพนักงานในระดับเปอร์เซ็นต์หลักเดียว มีคนออกและก็มีรับพนักงานใหม่อยู่ตลอด ในช่วงที่ผ่านมาเฉพาะที่ Head Office รับพนักงานใหม่มากถึง 200 อัตรา


“ดีแทคมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์กรให้เป็น Employer of Choice ในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ดังนั้นหน้าที่ของเอชอาร์ จึงต้องสร้างสมดุล เปิดโอกาสรับพนักงานใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในยุคดิจิทัล และต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเดิม และพนักงานที่มีอยู่ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น”

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัฒนธรรมองค์กรของดีแทคในรูปแบบใหม่ บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารคน เพราะทรัพยากรบุคคลจะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร โดยได้ลงทุนสรรหาพนักงานใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพเพิ่มเติม ผ่านทุกช่องทาง เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล

รวมไปถึงการรักษาและพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่มีศักยภาพสูง ถือเป็นส่วนสำคัญในการจัดการทุนมนุษย์ซึ่งเป็นการรักษาประสิทธิภาพขององค์กร ลดอัตราการสูญเสียบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ และนำมาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน

สู่ผู้นำดิจิทัลเซอร์วิสปี2020
ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดดีแทคกำหนดว่าในปี 2020 หรืออีก 4 ปีต่อจากนี้ ดีแทคจะพัฒนาเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำและเป็นแบรนด์ที่ลูกค้านึกถึงในการดำเนินชีวิตยุคดิจิทัล ซึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจดังกล่าว ศักยภาพองค์กรและคนทำงานจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัล

ดีแทคได้วางแนวทางไว้ 3 ประการคือ 1. การสร้างจิตวิญญาณของความเป็นสตาร์ทอัพในหมู่พนักงาน โดยการขับเคลื่อนให้เกิดความรู้สึกเป็นผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneur) 2. การสร้างบรรยากาศการทำงานที่เน้นความร่วมมือและเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เช่น การนำ facebook@work มาใช้เป็นที่แรกของประเทศไทย เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงาน และหน่วยธุรกิจอื่นๆ

และ 3. การสร้างและส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะความสามารถด้านดิจิทัลแบบรอบด้านที่จะเอื้อต่อการทำการตลาดในอนาคต

“เราต้องออกจากวัฒนธรรมในโลกแบบเดิม พัฒนาดิจิทัลแบรนด์ออกนวัตกรรมใหม่ไม่ใช่แค่โลกของวอยซ์ สร้างดิจิทัล Mildset ใหม่ให้แก่พนักงานเพื่อ Tranfrom องค์กร”

นอกจากนี้ ในประสบการณ์ของการทำหน้าที่เอชอาร์นั้น เธอ เล่าว่า สิ่งที่ยากและเป็นความท้าทายในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น คือ คนยังยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมา ดีแทคเคยประสบความสำเร็จในตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในธุรกิจโทรคมนาคม ปัญหาคือคนในองค์กรยังกอดความสำเร็จนั้นไว้ ความยากคือเราต้องทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราเคยประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าเราจะประสบความสำเร็จได้อีกในอนาคต ถ้าวันนี้เรายังไม่เปลี่ยน ซึ่งแผนการเปลี่ยนองค์กรให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในอีก 4 ปีนั้นในช่วงปีแรกขณะนี้ที่กำลังทำอยู่จะยากที่สุดคือการเปลี่ยนความเชื่อและเป็นความคิดของคน แต่ถ้าสามารถทำได้แล้วเป้าหมายก็จะสำเร็จได้

เพิ่มสเกลมาร์เก็ตติ้งให้ฝ่ายขาย
นางสาวนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ดีแทค กล่าวว่า หลังจากการปรับวัฒนธรรมองค์กรเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สิ่งที่จะเป็นต้วชี้วัดว่าประสบผลสำเร็จคือการนำออกไปใช้จริง พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรงต้องเจอลูกค้าทุกวันคือเซลล์
ดีแทคเองที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหาเรื่องงานขายบ้าง ไม่ใช่ว่ากลยุทธ์มาร์เก็ตติ้ง โปรโมชั่น แพ็คเกจไม่ดี แต่การสื่อสารลงไปในระดับถึงลูกค้าอาจจะมี

ความคลาดเคลื่อน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ดีแทคจัดเทรนนิ่ง ฝึกอบรมฝ่ายขายให้สื่อสารกับลูกค้าในยุคที่การแข่งขันเป็นดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น และสื่อสารสิ่งที่ดีแทคอยากจะส่งไปถึงลูกค้าได้ดีมากขึ้น

นอกจากนี้ ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาดีแทคดึงทีมขายจากบริษัทชั้นนำให้มาอยู่ในทีมมากขึ้น ทั้งยูนิลิเวอร์ และพีแอนด์จี พร้อมกับการสร้างแรงจูงใจในเรื่องของผลตอบแทน และทำให้เขาเชื่อว่ามีอนาคตเติบโตในตำแหน่งงานของตัวเองได้ ซึ่งมั่นใจว่า ความเชื่อและทัศนคติมีความสำคัญไม่น้อยกว่า หรือบางครั้งอาจจะมากกว่าทักษะและความสามารถก็ได้