สมาคมสัตว์ปีกและผู้เลี้ยงไก่ชี้ทบทวน กม.ควบคุมฆ่าสัตว์ปีก

สมาคมสัตว์ปีกและผู้เลี้ยงไก่ชี้ทบทวน กม.ควบคุมฆ่าสัตว์ปีก

ผู้เลี้ยงไก่รายย่อย และ9สมาคมสัตว์ปีก ร้องเรียนหอการค้าไทย ระบุ ค่าธรรมเนียม ตาม พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ สร้างอุปสรรคให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีก

ตัวแทนเกษตรกรเลี้ยงไก่รายย่อย และ 9 สมาคมสัตว์ปีก มอบหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ ฯ พร้อมรับปากเร่งเจรจารัฐบาลให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจาก เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ...  จะทำลายภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกทั้งห่วงโซ่การผลิต กระทบการจ้างงานทั้งระบบกว่า  2 ล้านคน ฉุดความสามารถการแข่งขันของไก่เนื้อ กระทบส่งออก สูญรายได้เข้าประเทศร่วมแสนล้านบาท อีกทั้ง ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยยังต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงต่อการขาดทุนสะสมจนต้องเลิกกิจการในที่สุด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการรับมอบหนังสือ ร้องเรียนเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ จากตัวแทนผู้เลี้ยงไก่รายย่อยจังหวัดชัยภูมิ และ 9 สมาคมด้านปศุสัตว์สัตว์ปีก ว่า สภาหอการค้าฯ ได้พิจารณาแล้วเรื่องร้องเรียนของตัวแทนผู้เลี้ยงไก่รายย่อย และ 9 สมาคมด้านปศุสัตว์มีเหตุผล และเล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรเลี้ยงไก่ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไก่เนื้อทั้งระบบ แม้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์มีเจตนารมณ์ที่ดี ต้องการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ โดยที่  พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ไม่ได้กำหนดไว้ จึงสร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์สัตว์ปีกและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รายย่อยอย่างมาก

“สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาข้อร้องเรียนจากเกษตรกรรายย่อย และ 9 สมาคมด้านปศุสัตว์แล้ว คงสนับสนุนพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ เพราะมีประโยชน์ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมปศุสัตว์สัตว์ปีกไทยให้ได้มาตรฐานสากลและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองเป้าประสงค์แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 9 สมาคมด้านปศุสัตว์ ขอเสนอให้พิจารณายกเลิกในการเก็บค่าอากรการฆ่า และค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ เป็ด ห่าน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ฉบับใหม่” นายพจน์ กล่าว 

นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า ที่ผ่านมา 9 สมาคมสัตว์ปีก ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงเข้ายื่นหนังสือแก่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยชี้แจงให้รัฐพิจารณาเรื่องนี้อย่างถึ่ถ้วน ก่อนที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศจะล่มสลาย เพราะปริมาณไก่เนื้อที่เข้าโรงฆ่าต่อปี มีมากถึงกว่า 1,400 ล้านตัว เท่ากับต้นทุนที่มากขึ้นถึง 6,000 ล้านบาท จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถการแข่งขันของไทยในตลาดโลก จนทำให้ไทยต้องหลุดจากการเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อันดับ 4 ของโลก 

“อุตสาหกรรมไก่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่นำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศปีละ 9 หมื่นล้านบาท และกว่า 90% ของห่วงโซ่การผลิตนี้ยังเป็น Local Content หรือเป็นธุรกิจต่อเนื่องภายในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ผลุกพืชอาหารสัตว์ สัตวบาล สัตวแพทย์ ผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ ด้านการขนส่ง ล้วนแต่เป็นธุรกิจในประเทศของคนไทยแทบทั้งสิ้น  หาก พ.ร.บ.นี้ ผ่านการพิจารณาและบังคับใช้จริง อุตสาหกรรมไก่ของไทยอาจต้องพบกับอุปสรรคใหญ๋ที่่จะกระทบไปถึงธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายสาขาอาชีพซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกว่า 2 ล้านคน” นายวีระพงษ์ กล่าว 

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ปริมาณรวมถึง 681,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 89,000 ล้านบาท และคาดว่าปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ตัน มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐที่ผ่านมานั้น รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ปีก จึงยกเว้นค่าอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีก เพื่อสนับสนุนการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก และจูงใจให้ผู้ประกอบการด้านสัตว์ปีกนำสัตว์เข้าชำแหละในโรงงานที่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่เสียอากร ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้า และประโยชน์ยังตกอยู่กับผู้บริโภคที่ได้รับเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ที่สำคัญ โรงฆ่าสัตว์ปีกของไทยยังมีการลงทุนและพัฒนาด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่องในช่วง 40 ปีมานี้ จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ กระทั่งกลายเป็นผู้ส่งออกไก่ติดอันดับโลกได้ในปัจจุบัน 

นางถวิลย์ อภิเดชธนารักษ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายย่อย จ.ชัยภูมิ  กล่าวว่า เกษตรกรมีความกังวลอย่างมากกับกฎหมายฉบับนี้ ที่ระบุให้มีการเก็บอากรการฆ่าไก่ตัวละ 2 บาท และค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ตัวละ 2 บาท เกิดเป็นภาระต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับกันเป็นทอดๆ จากผู้ซื้อ ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาไก่เนื้อก็ตกต่ำอยู่แล้ว หากต้องจ่ายค่าอากรอีก  เกษตรกรก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนมากยิ่งขึ้น 

“ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหวราคาค่อนข้างผันผวน บางปีพอมีกำไร บางปีขาดทุน หากมีค่าอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียม นี้เพิ่มเข้ามา ก็จะเป็นการซ้ำเติมการขาดทุนยิ่งขึ้น อยากขอความเห็นใจจากภาครัฐ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องกู้เงินมาลงทุนเลี้ยงไก่ ถ้าขาดทุนสะสมอีกก็คงต้องเลิกอาชีพนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นางถวิลย์กล่าว