โลกการ์ตูนของ 'สะอาด'

โลกการ์ตูนของ 'สะอาด'

การ์ตูนนิสต์รุ่นใหม่ไฟแรง เจ้าของลายเส้นไก่เขี่ย แต่เปี่ยมด้วยเนื้อหาเพื่อสังคม การเมือง จนถึงเรื่องไร้สาระ

ในชีวิตทั่วไป ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ หรือ 'ภูมิ' อาจจะเป็นแค่เด็กหนุ่มวัยเบญจเพสทั่วๆ ไปคนหนึ่ง แต่ในโลกของลายเส้น เขาคือการ์ตูนนิสต์ผู้มีชื่อว่า 'สะอาด' นามปากกาที่ออกจะขัดแย้งกับสไตล์การวาด แต่การ์ตูนลายเส้นไก่เขี่ยของเขากลับสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้อย่างเหนียวแน่น จนปัจจุบันมียอดคนตามอ่านบนเฟซบุ๊ค (Sa-ard) มากถึงกว่า 130,000 คน

ไม่เพียงลายเส้นแหวกขนบการ์ตูนญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคยเท่านั้น แต่เนื้อหาเรื่องราวที่เขาเล่าออกมายังผิดแปลกจากการ์ตูนกระแสหลักที่นักอ่านบ้านเรานิยม โดยในขณะที่การ์ตูนวายสายจิก(หมอน) เนื้อหาดราม่า การ์ตูนกีฬา หรือจะแอ็คชั่นอ่านมันบันเทิงอารมณ์ ยังคงครองใจนักอ่าน แต่ผลงานการ์ตูนแก๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมการเมืองของเขาก็สามารถเบียดขึ้นมาสร้างฐานคนอ่านได้ด้วยเช่นกัน

ถ้าเป็นถนนสายอาชีพแบบทั่วไป ภูมิอาจมีอายุงานราวๆ 3 ปีหลังคว้าใบปริญญา แต่สำหรับโลกการ์ตูน นายสะอาดคนนี้มีโลดแล่นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี ตั้งแต่การเขียนบล็อกการ์ตูนบนเว็บไซต์สมัย ม.ต้น จนเข้าตา บก. ได้ส่งเรื่องตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูน มีผลงานรวมเล่มตีพิมพ์ โดยสร้างชื่ออย่างเป็นทางการจาก "ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง" คว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติ ประจำปี 2012 ซึ่งหลังจากเจ้าตัวเดินไปทางไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่น เขาก็คลอดผลงาน "ชายผู้ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนของตัวเอง" ตามออกมา

นอกจากผลงานในเฟซบุ๊คในชื่อ "Sa-ard" ร่วมด้วยเพจน้องใหม่ครอบครัวสุดเกรียนอย่าง "ครอบครัวเจ๋งเป้ง" แล้ว ปัจจุบันเขามีงานเขียนแก๊กลงนิตยสาร 3 ฉบับ คือ มติชน, สารคดี และยีราฟ (สำนักพิมพ์แซลมอน) ที่เหลือเจ้าตัวบอกว่า เป็นงานกึ่งๆ ฟรีแลนซ์ คือ เขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร Let’s และงานเขียนสารคดีลงเฟซบุ๊คซึ่งเป็นการร่วมงานกับเอ็นจีโอ ที่เผยแพร่แล้ว คือ เรื่อง "กื้ด : ชีวิตเด็กโรงเรียนนานาชาติ(พันธุ์)" และต่อด้วย "คนกับป่า : จากทาร์ซานถึงปกาเกอะญอ" (ทำร่วมกับโครงการพลิกฟื้นผืนดินไทย โดยออกซ์แฟม)

"ตอนนี้กำลังเขียนเรื่องพลังงานอยู่ครับ" เขาเอ่ย

และย้อนกลับไปเล่าถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูนว่า ด้วยความที่สามคนพี่น้องในบ้านเขารักที่จะอ่านและเขียนการ์ตูนกันทั้งนั้น ทำให้ถึงคะแนนวิชาศิลปะจะเห่ยเพราะวาดรูปไม่สวย ระบายสีไม่เก่ง แต่เขาก็ยังมีโลกอีกใบไว้ปลดปล่อยจินตนาการ แลกกันเขียน แลกกันอ่าน กับพี่สาว และพี่ชาย

"เริ่มจากการ์ตูนนินจาที่เขียนให้พี่น้องช่วยกันอ่าน และการ์ตูนแอ็คชั่นทั่วไป พอ อยู่ ม.ต้น เริ่มรู้ว่า การ์ตูนมีมากกว่าที่เคยคิด เห็นพี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) เขียน ฮีชีอิท (hesheit) ซึ่งมันเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ก็เลยเริ่มเปลี่ยนแนวเขียน พูดถึงเรื่องชีวิตประจำวันมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มสนใจประเด็นต่างๆ มากขึ้น ชอบอ่านหนังสือมากขึ้น เริ่มเขียนเนื้อหาแนวธรรมะ แต่ก็ยังเล่าเรื่องสไตล์ติ๊งต๊องเหมือนเดิมนะ (หัวเราะ) ก็มีตั้งแต่ จักรวาล วิทยาศาสตร์ หรือสังคม การเมือง ขึ้นอยูกับความสนใจตอนนั้น"

หลัง 'สะอาด' เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านนิยสารการ์ตูนต่างๆ ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย ในที่สุดเขาก็ได้มีหนังสือของตัวเองเล่มแรกในชีวิตตอนเรียน ปี 1 (วารสารฯ ธรรมศาสตร์) เป็นการ์ตูนรวมเรื่องสั้นเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ตามความฝัน

"มันยิ่งใหญ่มากเลยครับ ผมหวังไว้มาก เพราะหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนการพิสูจน์ตัวเองว่า เราจะอยู่ในวงการนี้ได้มั้ย แต่ที่ตลกคือ ช่วงนั้นผมฝันว่า ตัวเองกำลังจะตาย แล้วผมก็คิดในใจตอนฝันว่า ‘กูขอออกรวมเล่มก่อนเหอะ’ (หัวเราะ)"

ถึงแม้ปัจจุบันการจะพิมพ์หนังสือเล่มใหม่สักเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากเส้นกราฟขาลงของธุรกิจหนังสือการ์ตูนในประเทศไทย เขาให้ความเห็นว่า มันอาจเป็นเรื่องหนักสำหรับสำนักพิมพ์ แต่สำหรับนักเขียนกลับเป็นเรื่องดี เพราะโลกออนไลน์ได้นำมาซึ่งกลุ่มคนอ่านหน้าใหม่

"เช่นไอ้พวกสวัสดี เราเป็นโบกี้รถไฟ เป็นไอ้โน่น ไอ้นี่ มันเป็นแพลทฟอร์มที่มีความเป็นการ์ตูนอยู่ คนที่ไม่ได้สนใจวันพีซ นารูโตะ ก็สามารถเข้าถึงได้ถ้ามีสมาร์ทโฟน มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน มีหลายเว็บไซต์ หลายแอป พยายามผลักดันการ์ตูนออนไลน์ขึ้นมา ในแง่นักเขียน มันก็ยังมีช่องทางไป" เขาบอก

และยอมรับว่า ที่ผ่านมา แทบทุกค่ายการ์ตูนออนไลน์ต่างมาชักชวนให้มาร่วมงานด้วย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธไปทั้งหมด

"เงื่อนไขการเขียนการ์ตูนลงออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนซีรีส์ แต่ผมไม่พร้อมจะเขียนซีรีส์ ยังอยากจะทำงานหลากหลายอยู่ เรายังอยากทำหลายเรื่อง อยากเขียนหลายประเด็น อีกอย่างคือ กลุ่มเป้าหมายหลักในออนไลน์เป็นผู้หญิงเยอะมาก แต่กลุ่มเป้าหมายการ์ตูนผมมันไม่ใช่ผู้หญิงแน่นอน มันมีความจังไรบางอย่าง" เจ้าตัวตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

เมื่อโอกาสมาแต่ไม่คว้า.. ถ้าอย่างนั้น แล้วรายได้มาจากไหน ?

"ก็มาจากงานที่เขียนส่งตามนิตยสาร งานที่เขียนเป็นสารคดีก็ได้เงินครับ แล้วก็มีงานภาพประกอบบ้าง ออกแบบบ้าง แต่ที่ไม่รับทำเลย คือ โฆษณาลงเพจ หรือประเภทให้ไทอินสินค้าลงในการ์ตูน ซึ่งผมไม่รับ เพราะไม่ชอบโดยส่วนตัว คือ แอบรู้สึกผิดถ้าทำ มันเหมือนว่า ผมเอาคนที่ชอบเรามาขาย ซึ่งเพจอื่นที่เขาทำกัน ผมก็เข้าใจนะ เพราะทำเพจทุกมันไม่ได้มีรายได้"

"เป็นนักเขียนอิสระ ก็รู้สึกโอเค ไม่ต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่ก็มีปัญหาเวลาป่วยแล้วไปโรงบาลต้องจ่ายตังค์เอง"

แม้จะไม่ถึงกับกินอุดมการณ์เป็นอาหาร แต่มุมมองของการ์ตูนนิสต์รายนี้ เขาเห็นว่า โลกบันเทิงอย่างการ์ตูน มันสามารถนำมาใช้สร้างประโยชน์แก่สังคมได้ไม่น้อยกว่าสื่ออื่นๆ เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะถ้าต้องการสื่อสารประเด็นสังคมกับคนรุ่นใหม่ ที่ลายเส้นและความสนุกสามารถเป็นด่านหน้านำพาสาระเข้าไปหากลุ่มคนอ่านเหล่านี้ได้

"ตอนแรกก็แอบสับสนว่า ที่เรามานั่งเขียนการ์ตูนแบบนี้มันพอแล้วเหรอ ถ้าเอาเวลาไปลงพื้นที่ ไปเป็นเอ็นจีโอ จะมีประโยชน์กว่านี้มั้ย ก็มีเคว้งๆ บ้าง แต่จุดเปลี่ยนคือ ตอนไปลงพื้นที่สมัยเรียนมหา'ลัย ไปทำสื่อเรื่องคนอยู่กับป่า ตอนนั้นก็ทำหนังให้ชาวบ้านดู ซึ่งงานมันห่วยแตกมาก แต่ก็จุดประกายว่า การ์ตูนกับงานเพื่อสังคมมันน่าจะไปด้วยกันได้ แล้วถ้าให้ผมไปทำงานเอ็นจีโอ ก็คงทำได้ไม่ดีเท่าการเขียนการ์ตูนหรอก"

"อีกเรื่องนึงที่ผมรู้สึกดีมากกับการทำการ์ตูนสารคดีในประเด็นสังคม มันทำให้ผมเหมือนได้กลับไปเป็นนักศึกษาอีกครั้ง ได้เข้าไปอยู่ในฟิลด์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ได้เข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่แปลกๆ ได้ไปเจอคนที่คิดต่างจากเรามากๆ แล้วทุกครั้งที่ได้ทำงานประเภทนี้ มันทำให้เราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นในแง่ความคิด ในแง่กระบวนการทำงานสื่อด้วย" เขาอธิบายถึงประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เชื่อว่า เดินมาถูกทาง

คุยกันมานาน สงสัยไหมถึงที่มาของนามปากกา..

"ตอนคิดมันเร็วมาก อยากได้ชื่อไทย ง่าย จืดๆ จะได้เบื่อยากๆ อย่างสะอาด สุภาพ คำธรรมดา ซึ่งจริงๆ ผมสกปรก แล้วก็หยาบคาย แต่จริงๆ ก็เริ่มเบื่อแล้วนะ" เขาพูดถึงนามปากกาที่ใช้อยู่

..แอบมีนามปากกาอื่นด้วยหรือเปล่า ?

"นิ้วกลมครับ(หัวเราะ)"