ยุโรปแย่..! เซียนลุ้น “ครึ่งหลัง” หุ้นไทยไปต่อ

ยุโรปแย่..! เซียนลุ้น “ครึ่งหลัง” หุ้นไทยไปต่อ

4 เซียน ลุ้นครึ่งหลัง “หุ้นพุ่งต่อ” คาดดัชนีเด้งกว่าครึ่งแรกที่ 12.19% ขณะ Brexit กระทบน้อย ระบุนักลงทุนหันซบเอเชีย โอกาสหุ้นไทย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 หลังผลประชามติอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาพของประชาคมยุโรป (อียู) หรือ Brexit ชนะด้วยเสียงข้างมาก 

ผลกระทบแรกที่ชัดเจน คือ ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วน เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว และย้ายเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย คือ ทองคำ-ดอลลาร์

สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นไทยที่พบว่าเปิดการซื้อขายในวันที่ 24 มิ.ย. 2559 ดัชนี SET index ปรับตัวลดลงแรง ต่ำสุด 1,393.83 จุด ก่อนจะเริ่ม“ดีดตัวกลับ”ขึ้นมาในช่วงท้ายการซื้อขายมาปิดตลาดที่ระดับ 1,413.19 จุด ลดลง 1.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 88,223.07 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดในรอบ 1 ปี 6 เดือน

ด้านตลาดทองคำสถานการณ์ ผันผวนหนัก” สมาคมค้าทองคำได้ปรับราคาขายทองถึง 24 ครั้งภายในวันเดียว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) ค่าเงินปอนด์ยังแตะระดับต่ำสุดรอบ 31 ปีครั้งใหม่ระหว่างการซื้อขายที่ตลาดเอเชีย โดยร่วงลงไปอยู่ที่ 1.2819 ดอลลาร์ต่อปอนด์ แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2528 ก่อนปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับประมาณ 1.2990 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดลอนดอน

อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ออกมาแสดงความมั่นใจว่า Brexit จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดเงินตลาดทุนไทยให้ผันผวนบ้าง โดยมั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือได้

"แบงก์ชาติมีมาตรการรับมือความผันผวนของตลาดเงินไว้อยู่แล้วเป็นเพียงการช็อคระยะสั้นๆ ส่วนตลาดหุ้นเป็นเรื่องปกติ ที่ตลาดหลักทรัพย์น่าจะควบคุมได้ อย่าไปตื่นตระหนกมาก อาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก"

พร้อมระบุว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจอังกฤษ ส่งผลต่อการเป็นศูนย์กลางการเงินของอังกฤษในยุโรป อาจส่งผลทำให้การลงทุนทางตรง (FDI) ทั้งในอังกฤษและยุโรปอาจจะลดน้อยลงเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปในลักษณะเป็นโดมิโน หนุนให้มีเงินลงทุนจะเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนใน เอเชียและ อาเซียนมากขึ้น

เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่บอกว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่ได้อิงกับเศรษฐกิจอังกฤษทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงและคาดว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วหลังผลมติ Brexit

ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังทิศทางผันผวนมากกว่าครึ่งปีแรก จากความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศกรณี Brexit ต้องติดตามความคืบหน้ากับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอังกฤษและประเทศทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สะท้อนการเมืองในประเทศ

นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังออกมาระบุว่า มีค่อนข้างจำกัดเพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอังกฤษคิดเป็น1.8% ในปี 2558 เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังได้หรือไหม “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” มีทัศนะจากเหล่า กูรูตลาดหุ้น” 

ครึ่งปีแรก SET index ปรับขึ้นกว่า12.19% ถือเป็นการเติบโตเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนที่โต 20% ฉะนั้นแนวโน้ม 6 เดือนหลัง น่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน

เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนด้านเทคนิคเจ้าของพอร์ต หลักพันล้าน” วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2559 ว่า ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังแม้คาดว่ายังคงอยู่ในอาการผันผวนต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มสดใสกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยบวกหลายตัวบ่งชี้ให้เป็นเช่นนั้น

อ้างอิงตาม บริษัท หลักทรัพย์เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย พร้อมปรับเพิ่มเป้าดัชนีจาก 1,390 จุด เป็น 1,520 จุด และเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยโฟกัสไปใน 3 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ KBANK (ธ.กสิกรไทย) , BBL (ธ.กรุงเทพ) ,SCB (ธ.ไทยพาณิชย์) 

ต่างชาติมีมุมมองเป็นเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย แสดงว่าน่าจะเห็นสัญญาณบ่งบอกการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว” 

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศที่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยที่เริ่มเห็นผล คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยครึ่งปีหลังเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) จะช่วยให้มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนตามมา

ประกอบกับ กรณี Brexit ประเทศไทยได้รับผลกระทบเพียง เล็กน้อย” จะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวเร็วมาก หลังจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวล และมีความเป็นไปได้ที่เงินทุนจะเคลื่อนย้ายออกจากกลุ่มประเทศยุโรปไปสู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ในช่วงที่อังกฤษยังมีความไม่ชัดเจน

สัญญาณที่เริ่มเห็นชัดเจน คือ ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา โดยเคลื่อนไหวในกรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 35.03-35.08 บาทต่อดอลลาร์ แสดงว่าเม็ดเงินจากต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง

“เซียนหุ้นเทคนิค” บอกว่า หุ้นกลุ่มที่น่าเข้าไปลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่พ้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คือ กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มดังกล่าวรับข่าวไปมากแล้ว ฉะนั้น นักลงทุนต้องเลือกเป็นรายตัว และรอให้ราคาหุ้นย่อลงมาค่อยเข้าไปเก็บ กลุ่มธนาคาร” ล่าสุดเครดิตสวิสมีมุมมองเป็นเชิงบวกกับหุ้นแบงก์ และธนาคารไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งสูงมากเมื่อเทียบกับธนาคารประเทศอื่นๆ

แนวโน้มเงินทุนยังมีโอกาสที่จะไหลเข้าไทยในครึ่งปีหลังถือเป็นทิศทางที่ดีต่อการลงทุนของไทย

โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง” นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของชื่อล็อกอิน "ลูกอีสานในเว็บไซต์ Thaivi” มีมุมมองสอดคล้องกันว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก มาจากปัจจัยบวกในเรื่องของการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาที่จะเห็นการการเบิกจ่ายงบประมาณจริงในครึ่งปีหลัง รวมทั้งต้นทุนน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยน่าจะไม่ปรับขึ้น

ฉะนั้น ในครึ่งปีหลังนักลงทุนจะเชื่อมั่นเศรษฐกิจมั่นมากขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกเศรษฐกิจทรงๆ ตัว ไม่ฟื้นตัวชัดเจน แต่หลังจากนี้เริ่มเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวแล้ว 

หากสังเกตสถิติที่ผ่านมาตลอดจะเห็นว่าก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นตัวทุกครั้ง ตลาดหุ้นไทยจะเป็นดัชนีชี้นำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่ล่วงหน้า6 เดือน และปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นไปราว 12% ถือว่าขึ้นมาสูงเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคฉะนั้นมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

ครึ่งปีหลังลักษณะตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในอาการผันผวนต่อไป และคาดการณ์ลำบากว่าดัชนีจะไปอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะว่ามีปัจจัยกระทบค่อนข้างเยอะ แต่ว่าสิ่งที่นักลงทุนสามรถคาดการณ์ได้คือ หุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตตัวเองมีพื้นฐานและผลประกอบการเป็นอย่างไร ดังนั้น นักลงทุนต้องมีความรู้ก่อนซื้อลงทุน 

โดยเลือกหุ้นพื้นฐานดี หากราคาหุ้นร่วงยังมีเงินปันผลรองรับ

ความผันผวนของตลาดหุ้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นโอกาสในการลงทุน หากตลาดหุ้นไม่ผันผวนนั่นซิถือเป็นเรื่องผิดปกติ

กลุ่มที่น่าเข้าไปลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังกลุ่มรับเหมา-วัสดุก่อสร้างจากปัจจัยบวกการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ แต่หุ้นรับเหมารายใหญ่ราคาหุ้นสะท้อนข่าวดีไปหมดแล้ว ฉะนั้น นักลงทุนเลือกหุ้นตัวรองๆ ที่มี P/E ยังไม่เกิน 15 เท่า ซึ่งในตลาดมีหุ้นกลุ่มดังกล่าวอีกหลายตัวให้เลือกซื้อโดยเฉพาะหุ้นเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง

เขาเชื่อเช่นกันว่า ผลจากการลงประชามติของอังกฤษ จะกระทบกับตลาดหุ้นเล็กน้อย เห็นได้จากดัชนี SETindex ตกลงมาเพียง 1.62% แต่ปัจจุบันราคาดัชนีหุ้นไทยเด้งขึ้นมา50-60 จุดแล้ว ซึ่งมากกว่าที่ปรับลงไปหมดแล้ว มองว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มาก แต่ว่าอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมมากกว่าและเชื่อว่าคงจะไม่รุนแรง

ขณะที่ เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักพันล้าน เชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนักลงทุนควรเลือก หุ้นปลอดภัย” โดยหุ้นตัวนั้นต้องเป็นหุ้นพื้นฐานที่ดีมีการเติบโตสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยภายในและภายนอกประเทศกระทบเยอะ โดยที่ผ่านมาพยายามลดพอร์ตเหลือหุ้น 80% และถือเงินสด 20% เพื่อรอเวลาตลาดหุ้นร่วง ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อเพิ่ม

ถามถึงพอร์ตลงทุนส่วนตัว เขาตอบว่า สำหรับพอร์ตหุ้น ที่ผ่านมาปรับวิธีการลงทุนใหม่ ด้วยการหันมาโฟกัสหุ้นตัวเดิมๆ ในพอร์ตมากขึ้น และเลือกลงทุนเพียงไม่กี่ตัว เพื่อจะได้มีเวลาดูแลทั่วถึง ถ้าหุ้นตัวไหนดูแล้วดีจะถือลงทุนระยะยาว

สำหรับ หุ้นดาวเด่น” ที่ทำพอร์ตลงทุนส่วนตัวเติบโต คือ หุ้น ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ซึ่งหุ้นตัวนี้พื้นฐานดีมีอัตราการเติบโตของผลประกอบการสม่ำเสมอ และหุ้น ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์1979 หรือ SAWAD ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ราคาไอพีโอ ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมาค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ ยังสนใจหุ้น อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL และยังมีหุ้น “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์”

กลยุทธ์การลงทุนให้เลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวที่มีผลประกอบการเติบโต ทั้งในแง่ของรายได้กำไร และมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ

สำหรับ ผลจากการลงประชามติของอังกฤษ กระทบตลาดหุ้นไทยได้รับผลเล็กน้อยเพราะประเทศไทยไม่ได้อิงกับยุโรปมาก และมีสัดส่วนการส่งออกไปในตลาดยุโรปน้อยราว 10% เท่านั้น หากจะกระทบน่าจะเป็นผลกระทบทางอ้อมมากกว่า

-------------------------

ครึ่งหลังหุ้นไทยผันผวน

รอจังหวะบวกช้อนซื้อ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย หรือ VI วิเคราะห์ให้ฟังว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 2559 ยังอยู่ในอาการ “ผันผวน” และน่าจะไม่ดีเท่าครึ่งปีแรก เนื่องจากครึ่งปีแรกตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมามากแล้วราว 12-13% เทียบจากปลายปี 2558 ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจยังไม่เห็นภาวการณ์ฟื้นตัวเด่นชัด แต่ถือว่ามีทิศทางดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการเมืองในเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.2559 ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ฉะนั้น ความไม่แน่นอนยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่นักลงทุน VI ก็สามารถวางกลยุทธ์ลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมไว้ก่อนได้

โดยยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับพอร์ตของตัวเองด้วยการทยอยถอนเงินลงทุนออกจากหุ้น จนทำให้ตอนนี้มีเงินสดในมือราว 40% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนถือครองเงินสดสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มลงทุน และจากปีที่แล้วที่ถือเงินสดสัดส่วนเพียง 20% และให้เหตุผลที่ทำอย่างนี้ว่า เพราะประเมินว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงปรับตัวลดลงได้อีกโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

ในภาวะเช่นนี้ นักลงทุน VI เตรียมเงินสดให้พร้อมต่อการลงทุนในรอบที่จะถึงมองหาหุ้นที่ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือP/E ต่ำและมีอัตราเงินปันผลสูงตั้งแต่3% ขึ้นไปแล้วรอจังหวะเข้าซื้อ เมื่อตลาดปรับตัวลดลงจากแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้

สำหรับกลุ่มที่น่าเข้าไปลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนตัวยังเห็นว่าหุ้นที่น่าลงทุนยังเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Blue-chip) แม้บางตัวจะมีราคาแพง แต่ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แตกต่างจากหุ้นขนาดเล็กที่มีความผันผวนและลงทุนได้ยากขึ้น

คงเป็น กลุ่มบริโภคอุปโภค” เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวประชาชนจะเริ่มเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากเดิมที่กำลังซื้อชะลอตัว “กลุ่มสื่อสาร” ที่เอกชนยังมีการลงทุนต่อเนื่องในโครงข่าย 4G “กลุ่มธนาคาร”เพราะว่าแบงก์ไทยในความแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ

ส่วนหุ้นที่มี ความผันผวน น่าจะเป็น หุ้นขนาดเล็กที่มี P/E เกิน 50 เท่า เพราะว่ามีโอกาสที่หุ้นปรับตัวลงมาแรง ฉะนั้น นักลงทุนต้อง“ระมัดระวัง”ในการลงทุนให้มาก

ไม่สามารถบอกได้ว่าตลาดจะลงไปถึงเท่าไรจึงจะเข้าซื้อ แต่ถ้าหุ้นที่ชอบมีราคาปรับตัวลดลงจากปัจจัยลบต่างๆก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเข้าซื้อแล้วซึ่งตอนนี้กิจการที่น่าสนใจในมุมมองของผมคือหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มสื่อสารยังเป็นกลุ่มที่จ่ายปันผลดี และกลุ่มบริโภคอุปโภคภายในประเทศ

“ดร.นิเวศน์” ไม่ลืมที่จะวิเคราะห์ผลจากการลงประชามติของอังกฤษว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบ“เล็กน้อย”เห็นได้จากดัชนี SETindex ตกลงมาเพียง 1.62% อาจจะเป็นเรื่องของความ“ตกใจ”ของนักลงทุนไทย

เนื่องจากความเกี่ยวพันกันของเศรษฐกิจการเงินจากการออกจากอียูของอังกฤษ จะกระทบกับอียู เป็นหลัก และอียู เกี่ยวพันกับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

-----------------------

โบรกเกอร์คาดBrexit กระทบตลาดหุ้นสั้น 

คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือ Brexit ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นและจำกัด ผ่านค่าเงินปอนด์ซึ่งอ่อนค่าและส่งผลกดดันรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยหลังผลประชามติค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาแล้วราว 10% เทียบกับค่าเงินบาท แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปอังกฤษคิดเป็นเพียง 1.8% ของการส่งออกทั้งหมดในปีที่แล้ว

ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก มองว่าน่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม เพื่อจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจและบรรเทาความผันผวนของตลาดการเงิน โดยคาดธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps เป็น 0.25% ในการประชุมวันที่ 4 ส.ค. และอาจมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือกลับมาทำ QE อีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะมีการยืดอายุมาตรการ QE ออกไปอีก 6 เดือนไป เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2560 ในการประชุมในช่วงไตรมาส 3 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะประกาศลดดอกเบี้ยลงอีก (ให้ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -0.2%) ในการประชุมวันที่ 29 ก.ค. นี้

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เราคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยชะลอออกไปอีกหลังเกิด Brexit โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้าประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ลดลงจากราว 40% ก่อนหน้าประชามติเหลือเพียง 8% ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นตลาดบางส่วนยังคาดการณ์ว่า Fed อาจกลับมาพิจารณาลดดอกเบี้ย โดยความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 20%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แนวโน้มตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความผันผวนจากผลกระทบ Brexit ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ 31 ปี โดยคาดว่า เงินปอนด์อยู่ที่ 1.20 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้ และต้องจับตาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มดีขึ้นตามบรรยากาศที่เริ่มฟื้นตัว คาดจีดีพีทั้งปีจะขยายตัว3% เท่าประมาณการณ์ครั้งก่อน เพราะผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยค่อนข้างจำกัดและมีผลบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะนำร่องให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันยังต่ำ ราว 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับต่ำที่1.5% 

รวมทั้งยังมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง และธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี 

ขณะที่ปัจจัยเชิงลบ คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเปราะบาง ปัญหาโครงสร้างภาคการส่งออกที่สินค้าไทยยังล้าสมัย และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง