กสทช.ดันมาตรการคุม'สายโทรคม'ลงดิน

กสทช.ดันมาตรการคุม'สายโทรคม'ลงดิน

จ่อกำกับราคาค่าเช่าท่อร้อยสายหวั่น ‘ผูกขาด’

กสทช.จัดโฟกัสกรุ๊ปหารือแนวทาง "ปักเสา-เดินสาย"โทรคม ตามเอ็มโอยู 4 หน่วยงานจับสายไฟลงดิน ระบุหลายบริษัทลักลอบพาด ต้องมีมาตรการลงโทษ พร้อมคุมราคาค่าเช่าท่อร้อยสาย หวั่นเกิดผูกขาดในอนาคต

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวในงานประชุมหารือกลุ่มย่อย (โฟกัส กรุ๊ป) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิปัก ตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์กฎหมายให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังกฎหมายฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี

สำนักงาน กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 และ 3 ทั้งที่มีโครงข่ายเป็นตัวเองและไม่มีโครงข่ายเป็นของคัวเอง ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้หลักเกณฑ์มีเนื้อหาครอบคลุม เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีแนวทางกำกับดูแลให้มีบทลงโทษชัดเจน

สำนักงาน กสทช. พบว่า ปัจจุบันการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าตามสถานที่ต่างๆ พาดสายต่ำกว่ามาตรฐาน อาจส่งผลต่อความปลอดภัยประชาชน มีผลต่อทัศนียภาพ ทั้งยังพบปัญหาสายสื่อสารบางส่วนไม่ได้ใช้งาน และไม่มีการรื้อถอน จำเป็นต้องส่งเสริมให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมร่วมกัน เช่น ใช้พื้นที่ใดบนสะพาน ในอุโมงค์ หรือบนทางเท้า รวมถึงใช้พื้นที่สร้างโครงข่ายใต้ดิน และใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ปัจจุบันมีสายสื่อสาร และสายโทรคมไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท ที่พาดผ่านตามสายไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เกิดปัญหาต่อแผนงานย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เนื่องจากมีบางบริษัทลักลอบพาดสาย โดยสภาพที่เห็นปัจจุบันเป็นสายเคเบิ้ล สายไฟเบอร์ออฟติก ให้บริการสายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเห็นทั่วไปตามเสาไฟฟ้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ การไฟฟ้านครหลวง ระบุว่า เป็นอุปสรรคต่อการย้ายสายไฟฟ้าลงดิน เพราะไม่ทราบว่า สายใดใครเป็นผู้ให้บริการ และไม่สามารถตัดสายออกจากเสาไฟได้ เนื่องจากอาจกระทบต่อผู้ใช้งาน และขอให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบ หามาตรการลงโทษหากเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.

ส่วนแนวทางแก้ปัญหา หากพาดสายในพื้นที่ใหม่ ต้องนำสายลงใต้ดิน ทำควบคู่กับการไฟฟ้านครหลวงนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ทำให้ตรวจสอบได้มากขึ้นว่าเหลือบริษัทที่ใช้งานจริง และขออนุญาต อนาคตหากพาดกับเสาไฟฟ้าอาจมีแนวทางอนุญาตให้ผู้ประกอบการพาดสายไม่เกิน 3 บริษัท จากเดิมกสทช.ไม่เคยมีข้อกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนโครงข่ายลงท่อร้อยสายใต้ดินสำหรับวางสายสื่อสาร และโทรคมค่าใช้จ่ายสูงเฉลี่ย 2 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร ต่อสาย 1 เส้น ส่วนค่าเช่าท่อใต้ดินขณะนี้ มีบมจ. ทีโอที รับผิดชอบ สิ่งที่กสทช.กังวล หากอนาคตราคาค่าเช่าท่อไม่ถูกกำกับจะเกิดการผูกขาด ราคาสูง มีรายงานว่า ทีโอที อาจคิดอัตราค่าเช่าท่อราคา 60,000 -80,000 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งกสทช.อยู่ระหว่างประเมินต้นทุนที่แท้จริง เพื่อไม่เกิดผูกขาดอนาคต

ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทีโอที