'เสือ' ร้องไห้

'เสือ' ร้องไห้

เมื่อเสียงคำรามอันทรงพลังของเสือโคร่งกลายเป็นความเงียบงันอยู่ภายในถ้วยซุปและโถดองยา ถึงเวลาหรือยังที่จะพาเจ้าป่ากลับคืนสู่พงไพ

เรื่องจริงอันน่าเศร้าเกี่ยวกับชะตากรรมของ ‘เสือ’ สัตว์ป่าที่มีตำแหน่งบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ทว่าความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกลับไม่เกิดผลอะไรเพราะท้ายที่สุดปลายทางของเสือเหล่านี้กลับกลายเป็นอาหารบำรุงกำลังตามความเชื่อ หรือไม่ก็ยาโบราณที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์มารองรับ ส่วนซากที่เหลือก็อาจเป็นได้แค่ของประดับตกแต่งบ้านเศรษฐี

 

เมื่อเสือสิ้นลาย

            ภาพลูกเสือถูกดองแอลกอฮอล์ในขวดโหลเพื่อเก็บรักษาสภาพ แล้วส่งจำหน่ายแก่ลูกค้าที่ประเทศเวียดนามในราคา 4-5 หมื่นบาทต่อโหลต่อตัว เป็นสิ่งคุ้นตาสำหรับ พันตำรวจโท สมบัติ เตื้องวิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการส่วนการประสานงานระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะเขาได้ลงไปสำรวจเส้นทางการลักลอบค้าขายสัตว์ป่าโดยเฉพาะเสือโคร่ง เขาขยายความต่อด้วยว่าตลาดเวียดนามนิยมนำเสือมาดองเหล้า เมื่อดองแล้วจะได้เหล้าสีเหลือง ขายเป็นช็อต ช็อตละ 500 บาท

            ส่วนอีกตลาดยักษ์ใหญ่ปลายทางของการค้าเสือคือประเทศจีน แตกต่างจากตลาดเวียดนามตรงที่นิยมบริโภคเนื้อสดหรือแช่แข็ง หากมีการลักลอบลำเลียงไปด้วยวิธีการแช่แข็งหรือมีการตัดแบ่งชิ้นส่วน ฟันธงได้เลยว่าลูกค้าคือกลุ่มคนจีน และนอกจากการบริโภคเป็นอาหารแล้ว คนกลุ่มนี้เชื่อว่าชิ้นส่วนของเสือมีสรรพคุณทางยา การขายเสือเพื่อนำไปทำยาจึงต้องมาครบถ้วนเพราะแต่ละชิ้นสรรพคุณไม่เหมือนกัน เช่น กระดูกส่วนต่างๆ

            ด้วยความที่ทั้งทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีเสือโคร่งมากที่สุด เราแทบจะเป็นจุดศูนย์กลางการส่งออกเสือ (อย่างผิดกฎหมาย) เลยทีเดียว ไม่ว่าเสือนั้นจะถูกล่าจากป่า หรือมีอยู่ในสวนสัตว์ แม้กระทั่งในวัดบางวัด เส้นทางจะถูกลากโยงไปยังชายแดนประเทศลาว

            เอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) บอกว่า สวนสัตว์เสือที่ประเทศลาว (ตรงข้ามขายแดนไทย-ลาว) เป็นจุดพักของเสือจากประเทศไทยที่จะส่งต่อไปยังประเทศปลายทาง

            ยกตัวอย่างกรณีวัดป่าหลวงตาบัว จ.กาญจนบุรี ที่เป็นข่าวครึกโครมไม่นานนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ยืนยันว่าเกี่ยวพันกับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าแน่นอน!

            “เรามีหลักฐานมาปีกว่าแล้วเพราะว่าเสือโคร่งหายไปสามตัวแล้ววัดบอกไม่ได้ว่าเสือหายไปไหน ถ้าเสือเพิ่งหายวันสองวันแล้ววัดตอบไม่ได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เสือหายไปสามเดือนก่อนที่จะเป็นข่าวใหญ่ ผมถามว่าทำไมคุณรอตั้งสามเดือนถึงจะแจ้งอุทยานว่าเสือหายไปสามตัว แล้วก่อนนี้เคยมีเสือหาย และนอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่ามาจากที่อื่นอีกหลายตัว เช่น นกเงือก วัดอ้างว่าไปช่วยชีวิตมา มีคนมาบริจาคเพราะนกเงือกบาดเจ็บ แต่สังเกตว่านกเงือกที่เข้ามาเป็นคู่ๆ ทั้งนั้นเลย เป็นพันธุ์หายากทั้งนั้นเลย”

            จากข้อมูลที่เขาตีแผ่ระบุว่าสวนสัตว์เสือในประเทศไทยที่มีเสือโคร่งในครอบครอง เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า จากการพูดคุยกับพวกค้าสัตว์ป่า คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกหลายคนในวงการนั้น เกือบทุกคนยืนยันว่าถ้าเสือโคร่งตายในสวนสัตว์หรือฟาร์มเสือ ประมาณสิบนาทีจะถูกแจ้งไปเลยว่าเสือหาย หลังจากนั้นจะมีคนมารับไปส่งต่อ ส่วนมากไม่ได้มาบริโภคในประเทศไทย แต่ส่งไปที่ชายแดนลาว แล้วส่งต่อไปเวียดนามไปจีน

            ถ้าเป็นเสือโคร่งตัวเล็กราคาอยู่ที่แสนต้นๆ ถ้าเป็นเสือใหญ่น้ำหนักประมาณร้อยกว่ากิโลกรัมถึงสองร้อยกิโลกรัมราคาอยู่ที่ประมาณแสนห้า ถ้าเป็นตัวผู้ราคาอาจถึงสองแสนได้เพราะว่าอวัยวะเพศของตัวผู้มีราคาเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรุงเป็นยา

            ความโหดร้ายนี้เกิดขึ้นมากมาย และขบวนการนี้ก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนเสือในป่าธรรมชาติ เพราะข้อมูลของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส บ่งชี้ว่าเมื่อเก้าปีที่แล้วมีเสือที่อยู่ในครอบครองของสวนสัตว์ประมาณ 661 ตัว ต่อมาอีกเก้าปีมี 1,470 กว่าตัว หรือมากกว่าสองเท่า! มิหนำซ้ำยังประเมินได้ว่ามีเสือถูกลักลอบซื้อขายไม่น้อยกว่า 2-3 ร้อยตัวต่อปี

            “นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายเรื่องเสือน่าจะจัดการได้แต่ต้องมีงบ รัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานพิเศษที่แก้ปัญหา” เอ็ดวิน วีค กล่าว

 

ใจดีกู้เสือ

            แม้ตอนนี้เสือในวัดดังจะถูกยึดคืนจนหมดวัดเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือสถานการณ์การลักลอบค้าเสือและสัตว์ป่าในบ้านเรายังมีอยู่ ตราบใดที่ตลาดยังต้องการ ที่สำคัญราคาค่าความเสี่ยงก็แพงเย้ายวนใจให้หลายคนยอมหยิบยื่นความตายให้สิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อแลกเงิน

            เมื่อกิเลสระงับยาก การกวาดล้างจึงเป็นทางแก้ แต่ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจตัวบทกฎหมายกันว่าเหตุใดปัญหานี้ถึงแก้ยากทั้งที่น่าจะแก้ได้

            สุรพล ดวงแข กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพียงแต่กรณีบ้านเรานี่หนักหนากว่าเยอะ เพราะระบบการบังคับใช้กฎหมายในไทยแทบใช้อะไรไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือน้อย และที่ซ้ำร้ายมีการตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนอย่างตั้งใจด้วย

            “ตั้งแต่มีการลักลอบนำสัตว์ป่าจากต่างประเทศเข้ามา หรือนำสัตว์ป่าจากในนี้ออกไป มีการตีความให้ผิดไป อย่างการนำเข้ามาก็จะตีความว่าไม่รู้ว่าใครเอาเข้ามา ไม่มีใครเห็นก็เลยไม่สามารถจับได้ ซึ่งอันที่จริงใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มีบทลงโทษหลายประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึง เช่น คำว่า ‘ค้า’ หมายถึงซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่ายจ่ายแจก ใครที่อยู่ในกระบวนนี้มีความผิดในฐานค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตแน่นอน หรืออย่างครอบครองถ้าเป็นอาวุธปืนมาอยู่ในบ้านเราแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเจอจะปฏิเสธว่าไม่รู้ได้หรือเปล่า แต่ทำไมพอเป็นสัตว์ป่าบอกไม่รู้ได้”

            ช่องโหว่ใหญ่โตของกฎหมายสะท้อนความไม่พร้อมของประเทศไทยในการแก้ปัญหานี้ ทั้งที่เราเป็นสมาชิกไซเตสมานานมากเกือบ 40 ปี และเคยถูกคว่ำบาตรทางการค้าเมื่อปี พ.ศ.2534 ก็ด้วยเหตุผลนี้ ซึ่งตอนนั้นสร้างความเสียหายต่อการค้าของไทยอย่างรุนแรง อาทิ เครื่องหนังส่งออกไม่ได้ กล้วยไม้ของไทยก็ส่งออกไม่ได้ เสียหายหลายพันล้านบาท แต่บทเรียนราคาอภิมหาแพงกลับไม่กระตุกต่อมสำนึกของคนไทยและผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่แน่ว่าเรากำลังเดินสู่เส้นทางถูกคว่ำบาตรอีกครั้งในไม่ช้านี้

            ทีนี้ลองตั้งคำถามว่าความไม่พร้อมนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

            หากไม่รู้คำตอบ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนนี้บอกใบ้ว่าการจะหยุดยั้งหรือลดการค้าสัตว์ป่าในระดับนานาชาติจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน แต่ถามว่ามีการรณรงค์หรือไม่ มีการบอกข่าวสารแก่ประชาชนหรือไม่ว่าถ้าเจอผู้กระทำผิดแล้วต้องทำอย่างไร ส่วนตำรวจรู้วิธีรับมือหรือยัง บางหน่วยงานอยากทำงานแต่กองกำลังของหน่วยงานอาจต้องยืนดูเฉยๆ เพราะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจหรือกรมป่าไม้ ไม่ประสานงานกับหน่วยงานที่พร้อม

            เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่าอาวุธสงครามและยาเสพติดจึงถูกทำให้เลือนรางบิดเบือนไปเป็นความเมตตา เป็นเรื่องการท่องเที่ยว โดยที่หลายคนหลงลืมไปว่ากำไรอยู่ที่การแปรรูปสัตว์ป่าอย่างเสือให้เป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพง

            อีกจุดอ่อนของกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดยอมเสี่ยงเพราะบทลงโทษค่อนข้างเบา อาทิ ผู้ฝ่าฝืนล่า ค้า หรือครอบครองสัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการครอบครองที่ถูกต้องแต่มีการลักลอบเพาะขยายพันธุ์โดยมิได้รับอนุญาต โทษก็เบาลงไปอีกคือเหลือแค่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ก็มีโทษแค่จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

            ในกรณีเสือโคร่ง ชัยนิรุจน์ มะลิวัลย์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ไม่ใช่ชนิดที่ประเทศไทยกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ขออนุญาตเพาะพันธุ์เพื่อการค้าได้ ไม่เหมือนกวางหรือสัตว์บางชนิด เพราะฉะนั้นต้องปรับทัศนคติของคนทั่วไปที่ติดปากว่า “ฟาร์มเสือ” อันที่จริงประเทศไทยไม่มีฟาร์มเสือแม้แต่ที่เดียว และไม่มีเสือในฟาร์มแม้แต่ตัวเดียว

            “หากพบว่ามีฟาร์มเสือที่ไหนแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที พวกเราจะตามไปจับ เพียงแต่ว่าในลักษณะการครอบครองที่มีกันได้ในเอกชนต้องเป็นการครอบครองที่ได้รับอนุญาตก่อนปี พ.ศ.2535 หรือปี พ.ศ.2546 แล้วได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของเราว่าต้องไม่ย้ายที่ ไม่ขาย ไม่เพาะพันธุ์ ไม่แอบถลกหนังไปทำตะกรุด”

            แต่อย่างไรก็ตามในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการรายนี้ กฎหมายก็ไม่ใช่ข้อจำกัดของการแก้ปัญหาการลักลอบสัตว์ป่า เพราะเพียงแค่เราพบว่าใครมีไว้ในครอบครองโดยไม่ต้องมีหลักฐานไปพิสูจน์ ตามกฎหมายก็มีความผิดพอสมควรแล้ว ประเด็นน่าจะอยู่ที่มูลค่าของธุรกิจนี้และบทลงโทษต่างหากที่เป็นจุดอ่อน

            แม้จะจับตะกรุดหนังเสือได้เป็นพันชิ้น หรือโชคดีเจ้าหน้าที่ไปจับคนกำลังขนเสือโคร่งได้นับสิบตัว สุดท้ายโทษของเขาคือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...

            ทางแก้ที่น่าสนใจอีกทางคือกวดขันกฎหมายฟอกเงิน หากนำมาใช้จะได้ผลยิ่งกว่าดีเอ็นเอที่เป็นเครื่องมือตรวจสอบควบคุม สมมติเงินหนึ่งล้านบาทขึ้นไปมาจากบัญชีไหน เข้าที่บัญชีไหน กฎหมายฟอกเงินจะช่วยให้เห็นเครือข่ายได้ทั้งองคาพยพธุรกิจนี้

          หากปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าถูกแก้ไข เส้นทางที่เสือเคยย่างเหยียบผืนไพรในฐานะเจ้าป่าซีกโลกตะวันออก แต่กลับถูกยักย้ายถ่ายเทจนบิดเบือนเป็นอาหาร ยา เครื่องราง เฟอร์นิเจอร์ แม้กระทั่งเป็นสัตว์เลี้ยง คงจะกลับมาถูกร่องถูกรอยต่อไป