ตระการตาห้องปีกแมลงทับ ศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๗

ตระการตาห้องปีกแมลงทับ  ศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๗

ห้องปีกแมลงทับ ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมชิ้นพิเศษที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ รวมทั้งงานหัตถศิลป์โบราณ

ในงานศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๗  ประชาชนชาวไทยนอกจากจะได้ชม เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์  งานศิลปกรรมชิ้นเอกซึ่งมียอดทรงปราสาทจำนวน 9 ยอดที่ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

ยังมีผลงานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญ ได้แก่ ห้องปีกแมลงทับ ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมชิ้นพิเศษที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ รวมทั้งงานคร่ำ งามถม หัตถศิลป์โบราณที่ทางสถาบันสิริกิติ์ได้ต่อยอดออกมาเป็นผลงานสุดวิจิตรตระการตา

ปฐมบทห้องปีกแมลงทับ

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตรผ้าทรงสะพักของสมเด็จ พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอายุกว่าร้อยปี แม้ผืนผ้าจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาทว่าความงามของปีกแมลงทับที่นำมาประดับบนผืนผ้ายังคงแจ่มชัดด้วยสีที่มีความเหลือบมันวาว

 ทำให้ทรงทราบว่าคนไทยเรานั้นรู้จักนำปีกแมลงทับมาประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายและงานศิลปะของไทยตั้งแต่ครั้งอดีต

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในบางครั้งชาวบ้านได้เก็บปีกแมลงทับที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินมาทูลเกล้าฯ ถวาย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้ศึกษาวงจรชีวิตของแมลงทับ เนื่องจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติถูกทำลาย ทำให้แมลงทับลดจำนวนลงเรื่อย ๆ และมีพระราชดำริให้สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นำปีกแมลงทับมาใช้กับงานหัตถกรรมศิลปาชีพ

งานดังกล่าวจะต้องใช้ความประณีตพิถีพิถันในการคัดแยกน้ำหนักสีของปีกแต่ละปีกให้เสมอกันเป็นกลุ่มๆ รวมทั้งมีการใช้ส่วนศีรษะและลำตัวที่อยู่ใต้ท้องด้วย จากนั้นจึงนำไปตัดแต่งตามรูปทรงที่ต้องการ แล้วนำไปติดประดับที่ชิ้นงาน

 ปีกแมลงทับที่นำมาใช้เหล่านี้จะต้องเป็นแมลงทับที่ตายเองตามวงจรชีวิตในธรรมชาติเท่านั้น เพราะสีที่ปีกรวมทั้งความมันวาวและสีเหลือบจะมีความคงทนถาวร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเน้นและทรงสอนให้ราษฎรเก็บเฉพาะตัวแมลงทับที่ตายตามธรรมชาติตกอยู่ตามพื้นดินมาใช้งาน เพื่อรักษาพันธุ์แมลงทับไม่ให้สูญไปจากป่าของประเทศไทย

เปิดห้องปีกแมลงทับ

            ห้องปีกแมลงทับตั้งอยู่บนชั้น 2 ของพระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณทางเข้าห้องโถงสำหรับประกอบพระราชพิธี แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก ผนังด้านขวาตกแต่งด้วยแผ่นสานย่านลิเภาสอดด้วยเส้นเงิน เส้นทอง เส้นนาก ประดับด้วยตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และตราสัญลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ

ผนังด้านซ้ายตกแต่งด้วยแผ่นสานย่านลิเภา ประดับตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ๗ รอบ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ

            เผ่าทอง ทองเจือ อธิบายถึงผลงานในส่วนนี้ว่า  “เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทางภาคใต้ พบเฟิร์นชนิดหนึ่งเป็นไม้เถา เปลือกแข็ง ทนทาน ทรงพบข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายฝ่ายใน เช่นพระกระเป๋า เชี่ยนหมากโบราณสานด้วยย่านลิเภาและเก่าแก่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ทรงเห็นว่าเก็บรักษาได้ยาวนาน

ทรงโปรดให้ฟื้นงานสานย่านลิเภาขึ้นมา ลิเภาเองมีสีน้ำตาลเข็มกับสีน้ำตาลอ่อน สำหรับผนังที่เป็นตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี เป็นลิเภาสอดด้วยเส้นเงิน เส้นทอง

ผนังที่เป็นตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นลิเภาสอดด้วยโลหะเงิน ทอง เหมือนกัน

ผนังตราสัญลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นลิเภาสอดด้วยสามกษัตริย์ หมายถึง ทองคำ นาก เงิน  เส้นยืนเป็นเส้นลิเภาสอดยกลายด้วยเส้นทองคำ นาก และเงิน ถือว่าเป็นงานวิจิตรมาก

กรอบผนังในส่วนที่เป็นพื้นหลังอีกชั้นหนึ่งเป็นลิเภาสอดปีกแมลงทับเยอะมากเกือบจะไม่เห็นเส้นยืนที่เป็นลิเภาเลย จะเห็นเป็นพื้นเขียวเหมือนวอลล์เปเปอร์” เผ่าทอง กล่าว

นาคาราช 1,310 ตน

ส่วนที่ 2 เป็นห้องโดมผนังห้องตกแต่งด้วยแผ่นสานย่านลิเภาสานเป็นลายขิด สอดด้วยปีกแมลงทับเพื่อให้ลวดลายคมชัดโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีไม้แกะสลักเป็นพญานาคาเกี้ยวกระหวัดกันนับร้อยนับพันตัว ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ฝังตาทับทิม เพดานด้านบนมีโคมระย้าพญานาคและหงส์ประดับด้วยปีกแมลงทับและแก้วเจียระไน

บนฝาผนังด้านหนึ่งอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นประดิษฐานภายในกรอบถมทองเขียนลายรูปหงส์เคล้าลายกนกเทศ เหนือกรอบถมทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ภายใต้พระมหามงกุฎไม้แกะสลักปิดทอง ผนังห้องอีกด้านหนึ่งประดับด้วยชิ้นงานคร่ำทองเป็นบทร้อยกรอง “ศิลป์แผ่นดิน”

            “นิทรรศการปีกแมลงทับทั้ง 3 ห้องนี้เป็นนิทรรศการสร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวาระเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เนื่องจากปีพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตรงกับ ปีนักษัตรปีมะโรง ทางสถาบันสิริกิติ์จึงสร้างเป็นห้องนาคาราช น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

 

ส่วนที่2 ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เนื่องด้วยประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฝีมือช่างเขียนของสถาบันสิริกิติ์ กรอบเป็นถมทองมุมทั้งสี่เป็น สลักดุนทองคำ จะเห็นว่าทั้งหมดเป็นนาคาราชเกี้ยวกัน เกาะเกี่ยวเป็นเกลียวเป็นงานแกะสลักไม้ประดับปีกแมลงทับทั้งหมด นาคาราชตาสีแดงประดับทับทิมจริงเพราะว่าเป็นลูกของพระอาทิตย์”

ผนังอีกด้านหนึ่งประดับงานคร่ำทอง บทร้อยกรอง ศิลป์แผ่นดิน ประดิษฐ์ด้วยลายมือเขียนตามแบบตัวอักษรทรงประดิษฐ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

“เล่าเรื่องกำเนิดของศิลป์แผ่นดิน ศิลปาชีพ เป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะมาก ขอยกความตอนท้ายที่ว่า

จากงานนั้นถึงวันนี้ สำเร็จมีอีกมากมาย

กี่หมื่นชีวิตหมาย จะพ้นจากความยากจน

อีกเริ่มอรุณศิลป์ สว่างเบื้องท้องฟ้าบน

ที่ฟุบแทบสุธาดลย์ ก็ฟื้นชีพมาชื่นบาน

สมที่อุทิศองค์ อุทิศทรัพย์มหาศาล

เสกจินตนาการ จนกำเนิดศิลป์แผ่นดิน

คนใดที่ได้ดู ก็จะรู้ประจักษ์สิ้น 

ว่าเพชรจากผืนดิน พระทรงสร้างมาอย่างไร

เริ่มต้นจากการเสด็จเยี่ยมราษฎร เนื่องจากชนบทลูกเยอะ บางคนเลี้ยงไม่ไหว ทรงรับมาฝึกอบรมจากโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาค่อยๆพัฒนาขึ้นจนกระทั่งเป็นสถาบัติสิริกิติ์ สืบทอดมาในวันนี้ เราจะนึกไม่ถึงเลยว่าจากลูกชาวไร่ชาวนาดั้งเดิมเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ไม่มีใครจบเกินป.4เลยสักคนเดียว คนเหล่านั้นได้สามารถสร้างงานได้วิจิตรขนาดนี้”

สำหรับงานคร่ำทอง เผ่าทอง อธิบายว่า “สมัยโบราณเราจะพบงานคร่ำเงิน คร่ำทองบนแผ่นเหล็ก ยิ่งผ่านกาลเวลาไปนานเท่าไหร่เหล็กจะเกิดเป็นสนิมสีน้ำตาลแดง เข้มขึ้น ทำให้สีทองส่องสว่างมากขึ้น

งานคร่ำนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำช่างที่เกือบจะเป็นคนสุดท้ายของประเทศมาสอนให้กับทางสถาบันสิริกิติ์

กรอบเป็นภาพเขียนลายกำมะลอ พื้นโดยรอบเป็นนาคาราช  ผนังสี่ด้านเป็นงานสานย่านลิเภาที่ไม่ซ้ำกันเลย เป็นงานสานลิเภาสอดด้วยปีกแมลงทับ จะเห็นว่าปีกมีขนาดสั้นมาก เวลาสอดบนลิเภาต้องซ่อนรอยต่อให้อยู่ใต้เส้นลิเภาพอดี สานเข้าไปได้เลย

นาคาราชทั้งหมดในห้องนี้สิริรวม 1,310 ตน” เผ่าทอง สรุปจำนวนนาคาราช

สุดยอดงานศิลป์

          ส่วนที่สามจัดแสดงงานถมเงินถมทองที่มีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ฝาผนัง ผนังห้องอีกด้านหนึ่งจัดแสดงงานคร่ำสามกษัตริย์ (ทอง เงิน นาก)

พื้นห้องส่วนจัดแสดงทั้ง 2 ด้านปูด้วยแผ่นเสื่อสานเส้นเงินสอดเส้นนากเป็นลายขิดแบบโบราณ สำหรับงานประดับฝาผนังถมเงินถมทองและงานประดับฝาผนังคร่ำสามกษัตริย์ ถือเป็นชิ้นงานบนพื้นผิวเรียบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะของกรุงรัตนโกสินทร์

            “งานถมในห้องนี้เรียกว่างานถมกลับพื้นเป็นเทคนิคที่สถาบันสิริกิต์ได้สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ถมกลับพื้น เพราะ ถมเงิน ถมทอง สมัยโบราณมีพื้นเป็นสีดำ ลวดลายจะเป็นสีทองหรือเงิน แต่ถมกลับพื้นเป็นงานที่สถาบันต่อยอดขึ้น โดยกลับเอาพื้นเป็นสีโลหะคือเงิน ลวดลายเป็นสีดำ ซึ่งพัฒนาต่อขึ้นไปอีกในส่วนสีดำเติมปีกแมลงทับเข้าไปอีก ปิดทองเติมลายดอกบัว ถือเป็นชิ้นงานมหัศจรรย์ กล่าวได้ว่าเป็นงานถมกลับพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนงานคร่ำบนผนังอีกด้านหนึ่ง ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน โดยปกติแล้วงานคร่ำจะทำลงไปบนเหล็กธรรมดามองดูไม่มีมิติ สถาบันสิริกิติ์อยากให้มีพัฒนาการขึ้น จึงคร่ำลงไปแล้วฉลุลายขึ้นมาเป็นรูปหงส์แล้วตอกดุนให้ปีก หาง งามโค้งอ่อน ตาเป็นเพชร คาบอุบะตุ้งติ้งสวยงาม

หงส์เรียงเป็นแถวหงส์ทอง เงิน นาก พื้นทำเป็นลวดลายทอง นาก เงิน คร่ำ คือการเอาเส้นทองเล็กกว่าเส้นด้ายฝังลงไปกว่าจะเป็นลาย ต้องใช้เวลา ฝีมือ และความอดทนเป็นอย่างมาก” เผ่าทอง กล่าวพร้อมชี้ชวนให้ชมบริเวณพื้นที่ปูลาดด้วยเสื้อเงินสอดเส้นนาก ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

“เป็นงานที่สถาบันฯคิดทำขึ้นมา ตามประวัติเสื่อเงินที่เราพบเก่าแก่ที่สุดพบที่วัดพระพุทธบาท สระบุรี และหอมณเฑียรธรรม ที่พระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สองแห่งเป็นเสื่อเงินสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานว่าพบเสื่อเงินอีกเลย

จนในรัชกาลนี้ สถาบันสิริกิติ์ ทำเสื่อเงินสอดเส้นนาก นากเป็นโลหะผสมแข็งมาก ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะสานเป็นเสื่อออกมาได้ ถือว่าเป็นผลงานวิเศษจริง”

เมื่อยืนอยู่ ณ จุดนี้ เผ่าทองแนะให้เราหันกลับไปทางประตูที่เดินเข้ามา มองผ่านช่องหน้าต่างแนวเดียวกันจะมองเห็นหน้าบันของเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์  ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธยสก. พระผู้ให้กำเนิด “ศิลป์แผ่นดิน” พอดี

(หมายเหตุ : ร่วมชื่นชมผลงานของลูกหลานเกษตรกรไทยผู้สืบสานงานช่างฝีมือในงาน“ศิลป์แผ่นดินครั้งที่ ๗” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลาเปิดเข้าชม 10.00 – 16.30 น.  ปิดทุกวันจันทร์ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และวันรัฐธรรมนูญ

บัตรราคา 150 บาท สำหรับประชาชนทั่วไป และ 75 บาท สำหรับนักเรียนนักศึกษา (แสดงบัตรประจำตัว) ผู้เข้าชมกรุณาแต่งกายสุภาพ ห้ามใส่กางเกงขาสั้นและกางเกงยีนส์ สุภาพสตรีกรุณาใส่กระโปรงหรือผ้าซิ่น ห้ามใส่เสื้อไม่มีแขน สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0 2283 9411 , 0 2283 9185 )