กสท-ไมโครซอฟท์ผุดโครงการป้องมัลแวร์

กสท-ไมโครซอฟท์ผุดโครงการป้องมัลแวร์

กสท ผนึกไมโครซอฟท์เปิดเกมรุกขจัดภัยไซเบอร์ หลังพบรายงานไทยเสี่ยงสูงอันดับ 7 ของโลก

นางสาวกัณณิกา วรคามิน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กสท ร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้โครงการ Cyber Threat Intelligence Program (CTIP) ของไมโครซอฟท์ เป็นเวลา 3 ปี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรับมือกับภัยอันตรายในโลกไซเบอร์ ด้วยการเปิดช่องทางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเคลื่อนไหวของมัลแวร์และภัยร้ายอื่นๆ

ความร่วมมือครั้งนี้ำให้บริการฟรีแก่ลูกค้าที่ใช้บริการแมเนจ ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส (เอ็มเอสเอส) ในชื่อ “แคท ไซเฟ้นท์” ที่ให้บริการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านศูนย์ปฏิบัติการซิเคียวริตี้ โอเปอเรชั่น เซ็นเตอร์ (เอสโอซี) ลักษณะดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเรียลไทม์

ปกติ กสท แจ้งเตือนลูกค้าอยู่แล้ว แต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับไมโครซอฟท์จะทำให้รับมือกับภัยร้าย และมัลแวร์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าองค์กรที่ใช้บริการนี้อยู่ประมาณ 200 บริษัท คาดว่าการจับมือครั้งนี้จะทำให้ลูกค้าเติบโตมากกว่า 25%

“ข้อมูลจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่ามีเหตุการณ์จู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์เกิดขึ้นถึง 4,300 ครั้งในประเทศไทยตลอดปี 2558 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า 30% ในจำนวนนี้กว่า 35% มีมัลแวร์เป็นต้นเหตุ”

นายคีชาว์ฟ ดาห์คาด ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยอาชญากรรมดิจิทัล ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า โครงการ CTIP ปฏิบัติงานภายใต้ความดูแลของหน่วยอาชญากรรมดิจิทัลของไมโครซอฟท์ (Microsoft Digital Crimes Unit; DCU) มีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับดีไวซ์ต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์ให้พันธมิตรในโครงการ

ปัจจุบัน ฐานข้อมูลของโครงการ CTIP ครอบคลุมไอพีแอดเดรสของดีไวซ์ที่ติดมัลแวร์รวมกว่า 70 ล้านรายการ โดยนับตั้งแต่การจัดตั้งโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 ไมโครซอฟท์และเครือข่ายพันธมิตรในโครงการร่วมกันกำจัดมัลแวร์บนดีไวซ์ต่างๆ ไปแล้วนับล้านเครื่อง

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้ช่วยกำจัดมัลแวร์จากคอมพิวเตอร์ทั่วโลกแล้วกว่า 10 ล้านเครื่อง และยังคงทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของมัลแวร์

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เผยแพร่รายงาน Malware Infection Index 2016 ซึ่งระบุว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงด้านมัลแวร์สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยจาก 5 อันดับแรกของประเทศที่เสี่ยงการติดมัลแวร์สูงสุด พบว่าเป็นชาติจากภูมิภาคนี้มีถึง 4 อันดับด้วยกัน สำหรับประเทศไทยเอง เสี่ยงสูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 7 ของโลก

นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงาน Security Intelligence Report ฉบับล่าสุดของไมโครซอฟท์ระบุว่าอัตราการตรวจพบมัลแวร์ในประเทศไทย ช่วงปลายปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นถึง 6.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่จำนวนเฉลี่ยของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องกำจัดมัลแวร์ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์พุ่งสูงขึ้นจาก 22.2 เป็น 46.3 ต่อ 1,000 เครื่อง
สถิติทั้งสองข้อนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยร้ายในโลกดิจิทัลที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณ ทั้งยังมีรูปแบบการจู่โจมที่ซับซ้อนมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการพัฒนาสู่ยุคสังคมดิจิทัล