กนง.ชี้ผลกระทบ'เบร็กซิท' ประเมินยาก

กนง.ชี้ผลกระทบ'เบร็กซิท' ประเมินยาก

"กนง." ถกผลกระทบ "เบร็กซิท" ในการประชุมรอบหน้า ยอมรับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา ชี้เร็วเกินไปประเมินผลกระทบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุยังเร็วเกินไปในการประเมินผลกระทบจากกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(อียู) หรือ เบร็กซิท หลังตลาดเงินเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ประเมินว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

ตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลกปั่นป่วนในวันจันทร์ผ่านมา หลังรู้ผลประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. แต่เริ่มปรับดีขึ้นหลังธนาคารกลางทั่วโลกประกาศอัดฉีดสภาพคล่องและเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)แสดงท่าทีว่าเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค.นี้

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า กรณี เบร็กซิท ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในระยะข้างหน้า เพียงแต่ขณะนี้ยังเร็วไปในการประเมินผลกระทบที่ชัดเจน

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ในการประชุมกนง. ครั้งหน้า (3ส.ค.) จะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือเพื่อประเมินผลกระทบ โดยวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบต่างๆ
“ความเสี่ยงเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกรณี เบร็กซิท ทำให้การมองภาพต่างประเทศยากยิ่งขึ้น ซึ่งมองได้หลาย Scenario ตอนนี้จึงเร็วไปหากจะประเมินผลกระทบ เพราะเราจำเป็นต้องมองภาพให้รอบคอบ”

นายจาตุรงค์ กล่าวว่ากรณีที่ผลกระทบเบาที่สุด คือ ทั้งอังกฤษและอียู สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ไม่ต่างไปจากเดิม และในกรณีที่ผลกระทบจะแรงขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องดังกล่าวของทั้ง 2 กลุ่มว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ กนง. คงได้หารือร่วมกันอย่างกว้างขวางในการประชุมครั้งหน้า

'โซรอส' ชี้เสี่ยงกระตุ้นวิกฤติครั้งใหม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า 'จอร์จ โซรอส' เตือนว่า การแก้ป้ญหาที่ตามมาภายหลังอังกฤษลงมติออกจากสหภาพยุโรป หรือ อียูอาจประสบความยากลำบากยิ่งกว่าการแก้ปัญหาวิกฤตผู้อพยพที่รุนแรงที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ในการแถลงต่อรัฐสภายุโรปวันนีั นายโซรอสกล่าวว่า แม้วิกฤตผู้อพยพจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ๋ที่ของยุโรปไปแล้ว แต่ขณะนี้เบร็กซิท กำลังเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า

ขณะเดียวกันนายโซรอสเตือนว่า เบร็กซิท จะส่งผลให้เกิดวิกฤตตลาดเงินตลาดทุนโลกเช่นเดียวกับในช่วงปี 2540-2541 แม้วิกฤตดังกล่าวคาดจะเกิดขึ้นอย่างช้า แต่เมื่อเกิดกรณี เบร็กซิท จะเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตดังกล่าว

"ระบบสถาบันการเงินในภูมิภาคยุโรปยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งก่อน และครั้งนี้นับเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ เราทั้งหมดต่างทราบดีว่าควรทำอะไร แต่น่าเสียดายที่ความลงรอยทางการเมืองและอุดมการณ์ในยูโรโซนไม่สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกลไกรักษาเสถียรภาพแห่งภูมิภาคยุโรป หรือ ESM เท่าที่ควร" นายโซรอส กล่าว

นายโซรอส กล่าวว่า การตัดสินใจออกจากอียูทำให้สมมุติฐานเกี่ยวกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกลายเป็นความจริงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินปอนด์ สก็อตแลนด์อาจขอแยกตัวจากเครือจักรภพอังกฤษ และผู้ที่ลงมติให้ออกจากอียูเริ่มตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมาแล้วทั้งในระดับประเทศและบุคคล

"ภูมิภาคยุโรปตามหลังภูมิภาคอื่นๆของโลกในแง่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังเผชิญวิกฤตการเงินโลกครั้งหลังสุดที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะนโยบายการคลังที่เคร่งครัดเกินไป และขณะนี้ก็ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว" นายโซรอสกล่าวเพิ่มเติม

ฟิทช์คาดปีหน้าลงทุนในอังกฤษวูบ5%

ฟิทช์ คาดการลงทุนในอังกฤษร่วง 5% ปีหน้าจากพิษ“เบร็กซิท” ขณะธนาคารยูโอบี ระงับปล่อยกู้ลูกค้าที่ต้องการนำเงินไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนชั่วคราว

ฟิทช์ เรทติงส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า การลงทุนในอังกฤษจะลดลงราว 5% ในปีหน้า และจะทรุดหนักถึง 15% ในปี 2561 เนื่องมาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลังการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ขณะที่ธุรกิจบางแห่งกำลังระงับการลงทุน

ฟิทช์ระบุว่า มีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคตกับสหภาพยุโรป (อียู)และอังกฤษจะออกกฎระเบียบอะไรออกมา รวมทั้งอังกฤษจะเผชิญกับกระแสการแยกตัวเป็นเอกราชของสก็อตแลนด์หรือไม่

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษลงจากระดับ 2% สู่ระดับ 1% ทั้งในปี 2560 และ 2561

ยูโอบีระงับปล่อยกู้อสังหาฯ

ขณะเดียวกัน ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ยูโอบี) ของสิงคโปร์ ยุติการปล่อยกู้ให้ลูกค้าที่ต้องการกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน ผลพวงจากเบร็กซิท ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในสิงคโปร์ที่ระงับการปล่อยกู้เพราะการตัดสินใจโบกมือลาอียูของสหราชอาณาจักร

ยูโอบี ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับ 3 ของสิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ ระงับโครงการสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหารริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนของตลาด ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของประชาชนในสหราชอาณาจักร

ด้านธนาคารพัฒนาสิงคโปร์ (ดีบีเอส ) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่สุดของประเทศ ยืนยันว่า ยังคงให้บริการสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหารริมทรัพย์ในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรต่อไป แต่เพิ่มคำเตือนแก่ลูกค้าเป็นพิเศษ ว่าการลงทุนในส่วนนี้จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะความผันผวนของตลาด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า“เบร็กซิท”อาจทำให้อสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษในเอเชียขายได้น้อยลง เพราะผู้ซื้อมีท่าทีระมัดระวัง

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ กล่าวว่าการที่อังกฤษถอนตัวจากอียูก่อให้เกิดความวิตกระยะยาวเกี่ยวกับการเติบโตของโลก ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม โอบามาแสดงความมั่นใจว่าระบบการเงินโลกมีความยืดหยุ่นมากพอรับมือเหตุการณ์นี้ได้ เห็นได้จากตลาดที่ดีดตัวขึ้นหลังจากทรุดตัวไป 2 วัน