เอไอเอสรับไลเซ่นส์4จีคลื่น900

เอไอเอสรับไลเซ่นส์4จีคลื่น900

กสทช.เตรียมนำเงินส่งรัฐ 4 ก.ค. จัดโฟกัส กรุ๊ป ค่าบริการย่าน 1800 และ 900

เอไอเอสรับใบอนุญาตคลื่น 900 แล้ว ยันลูกค้าเอดับบลิวเอ็นที่ใช้เครื่อง 2จี กว่า 6 ล้านเลขหมาย ซิมไม่ดับ เหตุทำสัญญาเช่าอุปกรณ์กับทีโอทีเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่แจสเดินทางมาจ่ายค่าปรับเบี้ยวค่าประมูลคลื่น 900 เกือบ 200 ล้านบาทแล้ว

วานนี้ (30 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) พร้อมคณะผู้บริหารได้รับมอบใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ มีอายุตั้งแต่ 1 ก.ค.2559-30 มิ.ย.2574 หลังจากประมูล 27 พ.ค.ที่ผ่านมา มูลค่า 75,654 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ภายหลังรับใบอนุญาต นายสมชัย กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่าลูกค้า 3จี ที่เป็นลูกค้าเอดับลิวเอ็น ที่โอนการใช้งานจากคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์มาอยู่ในระบบคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ แต่โทรศัพท์มือถือยังรองรับระบบ 2จีอยู่กว่า 6 ล้านเลขหมาย จะไม่มีปัญหาซิมดับหลังสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 2จีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์หลังเที่ยงคืนตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจาก บมจ.ทีโอที ต้องปิดอุปกรณ์ 2จีทันทีเมื่อมาตรการประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเยียวยาฯสิ้นสุด

อย่างไรก็ดี เอดับบลิวเอ็นจะเช่าอุปกรณ์ 2จีของทีโอทีเพื่อให้บริการต่อไป ควบคู่กับการเปิดให้บริหารคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เอดับบลิวเอ็นประมูลได้

ส่วนลูกค้า2จี เดิมที่ยังไม่โอนย้าย 3.7 แสนเลขหมาย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาจะถูกปิดระบบทันที แต่ลูกค้าจำนวนดังกล่าวไม่ค่อยมีการใช้งาน คิดเป็นการใช้งาน (Active User) ไม่ถึง 20% เข้าใจว่าลูกค้าที่ยังไม่ย้ายออกจากระบบเดิม คงประสงค์จะทิ้งเลขหมายดังกล่าว

สำหรับการเช่าอุปกรณ์ 2จีของทีโอที มีระยะเวลา 5 ปี แต่ต้องดูการใช้งานของลูกค้า แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปี 2จีก็จะหมดไป เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ลูกค้าต้องเปลี่ยนเครื่องตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

"การได้มาคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งของเครือข่ายไร้สายเอไอเอส ด้วยเทคโนโลยีทั้ง 3จี และ 4จี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพการใช้งานของลูกค้า รวมถึงต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย ตามนโยบายสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรตามหลักอีโค ซิสเต็ม"

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ขณะนี้นับว่าปัญหาคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ได้ยุติแล้ว กสทช.จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 18,334 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินค่าหลักประกันสัญญา และค่าเสียหายเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยปรับจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด จำนวน 644 ล้านบาท และ 196.65 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 งวดแรก ที่ได้รับจาก เอดับบลิวเอ็น จำนวน 8,602 ล้านบาท และเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 3 พร้อมค่าปรับกรณีผิดนัดชำระของผู้ประกอบการทีวีทั้ง 22 ช่อง จำนวน 8,891 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการนำเงินส่งเข้ารัฐมากกว่าเดิม 840 ล้านบาท

สำนักงาน กสทช. จะเดินหน้าดูแลมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภคตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน ทั้งการกำกับคุณภาพการให้บริการในเรื่องอัตราค่าบริการ การขยายโครงข่าย และคุณภาพของสัญญาณให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง

โดยวันที่ 4 ก.ค. 2559 กสทช.จะจัดทำประชาพิจารณ์รับความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรคมนาคมย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่เหมาะสม โดย กสทช. จะรับฟังปัญหาและอุปสรรคจากผู้ให้บริการก่อนจะมีคำสั่งจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อออกประกาศบังคับใช้เป็นทางการต่อไป