คาด 'Brexit' กระทบศก.ไทยปีนี้ 0.32%

คาด 'Brexit' กระทบศก.ไทยปีนี้ 0.32%

ม.หอการค้าไทย คาด "Brexit" กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ประมาณ 4.48 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.32% ของจีดีพี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากกรณีที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะได้รับผลกระทบจากกรณี Brexit ประมาณ 0.32% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 44,850 ล้านบาท ประกอบด้วย ผลกระทบด้านการส่งออกสินค้า ลดลง 24,850 ล้านบาท ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ลดลง 10,000 ล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศ ลดลง 10,000 ล้านบาท

โดยจากข้อมูลล่าสุด (29 มิ.ย.) เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 9% จากราคาปิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 52.30 บาท/ปอนด์ ในขณะที่เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 2.2% เมื่อเทียบกับราคาปิดเมื่อ 23 มิ.ย. โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 39.301 บาท/ยูโร

การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดอังกฤษ (UK) ลดลงบ้าง แต่ทั้งนี้ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไป UK ไม่มากนักคือไม่เกิน 2% ของมูลค่าการส่งออกรวม ดังนั้นภาพรวมการส่งออกของไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณ์ Brexit พร้อมมองว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ตลาด UK รวมทั้งตลาด EU อาจจะมีความน่าสนใจน้อยลงในสายตาของผู้ส่งออกไทย เนื่องจากอุปสงค์ของตลาด UK และ EU มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปตลาด UK ในระยะยาวจะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับเวลาที่ UK ใช้ในการเจรจากับ EU เพื่อออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งอย่างน้อยคาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปี รวมทั้งความคืบหน้าในการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศ หรือกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อทดแทนสิทธิประโยชน์ทางการค้าเดิมที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของ EU

"ยิ่งเงินปอนด์อ่อนค่ากว่าเงินบาทมากเท่าใด ก็จะมีผลให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นมากเท่านั้น ทำให้คำสั่งซื้อในตลาด UK ชะลอตัวลง โดยสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบระยะสั้น คือ รถยนต์และส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (โดยเฉพาะบิ๊กไบค์) อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป"

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการนำเข้าหากเงินปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทมากเท่าใด ก็จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าจาก UK ถูกลงมากเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้าไทยอาจตัดสินใจใช้โอกาสนี้นำเข้าสินค้าจาก UK รวมถึงสินค้าใน EU เพื่อมาใช้ในการขยายกำลังการผลิต หรือจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทยมากขึ้น

ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นกับด้านการท่องเที่ยวนั้น หากเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ อาจจะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจาก UK ปรับตัวลดลงพอสมควร เนื่องจากการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจะมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้นในสายตาของนักท่องเที่ยว UK แต่ทั้งนี้นักท่องเที่ยวจาก UK มีสัดส่วนประมาณ 3.2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวม ดังนั้นเหตุการณ์ Brexit จึงไม่น่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผลต่อการลงทุนโดยตรง (FDI) นั้น เมื่อเงินปอนด์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ก็อาจจะมีผลทำให้ FDI จาก UK ในโครงการใหม่ๆ เกิดการชะลอตัวหรือปรับลดจำนวนโครงการ/มูลค่าโครงการลงบ้าง แต่ด้วยเหตุที่การลงทุนโดยตรงจาก UK มาประเทศไทยมีสัดส่วนไม่สูงมาก คือไม่เกิน 1% จึงทำให้คาดว่าเหตุการณ์ Brexit ไม่น่าจะมีผลให้ FDI ในภาพรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของ EU นั้น อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีความจำเป็นต้องตัดสินใจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ออกไปเป็นปีหน้า ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะมีความจำเป็นต้องซื้อพันธบัตรเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องนานกว่าแผนเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.60 ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.25% ในปีนี้ จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.50% และสุดท้ายธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะมีความจำเป็นต้องทำ QE เพิ่มเติม เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินเยนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ