โบกมือลา มหากาพย์ดราม่า ‘ดิกชันนารี’ คนสามคุก

โบกมือลา มหากาพย์ดราม่า ‘ดิกชันนารี’ คนสามคุก

นี่คือผลงานแห่งชีวิตสุด “ดราม่า” ของคนสามคุก

แบบอย่างของ “เพชรในหัวคางคก” หรือมณีล้ำเลอค่าที่ขุดขึ้นมาจากความยากลำบากและอัปลักษณ์ ทว่า งดงามแวววาวยิ่งนัก


..........


พลันเมื่อการค้นหาศัพท์และคำแปลภาษาอังกฤษ ทำได้อย่างง่ายดายชั่วลัดนิ้วมือเดียว ด้วยโปรแกรม Google translate หรือ Thai dictionary ฯลฯ พจนานุกรมในรูปแบบหนังสือ ที่เคยเป็นดั่ง “คัมภีร์ชีวิต” พกติดกระเป๋านักเรียน นิสิต นักศึกษา มานานนับหลายศตวรรษ ผูกพันกันขนาด “ขาดเธอเหมือนขาดใจ” จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยอดพิมพ์รวมเกินกว่าแสนเล่ม บัดนี้ ถูกวางทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับในชั้นหนังสืออย่างเดียวดาย ไร้คนเหลียวแล ทศวรรษ 2010 คือห้วงยามแห่งการปิดฉาก โบกมือลาหนังสือพจนานุกรมอย่างแท้จริง!


แต่จะมีใครล่วงรู้ไหมว่า พจนานุกรมบางเล่ม ที่เคยช่วยเด็กไทยทำการบ้านวิชาภาษาอังกฤษอย่างราบรื่น หล่อเลี้ยงความรู้และคะแนนสอบ กระทั่งโอบอุ้มบางคนขึ้นเครื่องบินไปเรียนต่อเมืองนอกได้นั้น ชีวิตของผู้เขียนพจนานุกรมนั้นสุดจะรันทด ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาร้ายแรงสุด คือ “เป็นกบฏต่อราชอาณาจักร” แต่ยังใฝ่ใจจะรังสรรค์พจนานุกรมเป็น “ผลงานแห่งชีวิต” และเป็นรายได้เลี้ยงแม่และน้องๆ กระทั่งถูกย้ายไปคุมขังบนเกาะกลางทะเลไกลสุดหล้าฟ้าเขียว และมีช่องทางหลบหนีได้ ยังยอมตัดใจไม่หนี ก้มหน้าทำงานแห่งชีวิตจนเสร็จสิ้น


แน่นอน จะเป็นหนังสือเล่มอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากหนังสือปทานุกรมอังกฤษ–ไทย (ปัจจุบันเรียก “พจนานุกรม”) โดย สอ เสถบุตร ซึ่งคำศัพท์คำแรกของตัวอักษร A กำเนิดขึ้นที่คุกบางขวาง นนทบุรี ในปี 2476 ภายหลังสอ เสถบุตร ถูกรัฐบาลคณะราษฎร ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จับในข้อหาสมคบกันจัดทำใบปลิวแถลงการณ์สนับสนุนฝ่ายกบฏ ที่นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้ไม่พอใจการบริหารแผ่นดิน โดยมิได้เอื้อประโยชน์ให้ราษฎรส่วนใหญ่อย่างที่แถลงไว้ จึงรวบรวมเชื้อพระวงศ์ ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ ก่อ “กบฏบวรเดช” เมื่อ 11 ตุลาคม 2476 แต่ต้องพ่ายแพ้ฝ่ายรัฐบาล อันเป็นที่มาของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่แยกหลักสี่ บางเขน ในวันนี้


เหตุการณ์นั้น พลิกชีวิต สอ เสถบุตร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ในรัชกาลที่ 6 บัณฑิตเกียรตินิยมทางธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ วิศวกรเหมืองแร่คนแรกของสยาม และ เจ้ากรมกองเลขาธิการองคมนตรี ในรัชกาลที่ 7 มีบรรดาศักดิ์เป็น เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ให้กลายเป็น น.ช.สอ เสถบุตร ผู้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ขณะมีอายุเพียง 30 ปี เขาจึงตัดสินใจลงมือทำพจนานุกรม ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะลุล่วง จึงแอบเขียนบทความวิจารณ์การเมืองเป็นภาษาอังกฤษ แล้วลักลอบส่งออกมาตีพิมพ์ ภายใต้นามปากกา “Mr. Hyde” เป็นรายได้เลี้ยงแม่และจุนเจือน้องๆ โดย...


“ทุกวันพุธ เจ้าหน้าที่เรือนจำเปิดโอกาสให้ญาติเยี่ยมนักโทษการเมือง แม่จะมาคอยข้างนอกลูกกรงห้องเยี่ยม คอยรับกระติกน้ำเปล่า ซึ่งมีบทความของข้าพเจ้าซ่อนอยู่ระหว่างเปลือกนอกกับแก้วของกระติก แล้วแม่ก็จะนำต้นฉบับบทความไปส่งหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ พร้อมรับค่าเขียนตอนละ 100 บาท.. แต่ไม่นานนัก รัฐบาลก็สืบทราบว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เขียน แล้วไม่นานนัก เจ้าหน้าที่เรือนจำก็แห่กันมาค้นห้องขังนักโทษการเมืองกันเอิกเกริก” (บันทึกของสอ เสถบุตร ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ นางเกสร เสถบุตร)


แต่งานพจนานุกรมยังดำเนินต่อไป โดยต้องลักลอบนำเครื่องเขียนและตำราประกอบการเขียนเข้าไปในเรือนจำ จนกระทั่งปี 2481 พจนานุกรรมฉบับเขียนในคุกดำเนินไปถึงอักษร S แล้ว แต่เคราะห์ยังซ้ำ กรรมยังซัด เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หวาดระแวงศัตรูทางการเมือง ถึงขั้นสั่งย้ายนักโทษชุดกบฏบวรเดช ไปยังทัณฑนิคมบนเกาะตะรุเตา กลางทะเลอันดามัน ที่ซึ่ง “มีผู้คุมคนสำคัญ คือฝูงฉลามที่เฝ้าอยู่รอบทิศ” แต่กระนั้นก็ยังมีเหตุ “แหกคุก” เกิดขึ้น โดยนักโทษการเมืองระดับนำ 5 คน อาทิ พระยาศราภัยพิพัฒน์ พระยาสุรพันธ์เสนีย์ นายหลุย คีรีวัต นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ หนีข้ามเขตแดนมาเลเซียสำเร็จ


ความจริง สอ เสถบุตร อยู่ในสถานะที่จะร่วมขบวนรถสู่อิสรภาพขบวนนี้ด้วย แต่เขาตัดสินใจไม่หนี เพื่อจะทำ “งานแห่งชีวิต” คือพจนานุกรมให้สำเร็จตามความตั้งใจ โดยมีเพื่อนนักโทษที่เคารพรัก คือ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร อนุชาพระองค์เจ้าบวรเดช บิดาแห่งวิชาการเกษตรแผนใหม่ (ต้นร่างแนวคิด “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”) ให้การสนับสนุนความตั้งใจของสออย่างแข็งขัน


ในสายตาของเพื่อนนักโทษแห่งตะรุเตา สอเป็นคนขยันและมีวินัย ชอบนุ่งกางเกงขาว เสื้อขาวซึ่งซักฟอกเองอย่างสะอาด หวีผมเรียบแปล้ งานเขียนพจนานุกรมก็กำหนดตารางเวลาอย่างมีระเบียบ... มีอุปนิสัยร่าเริง ไม่คิดมาก ขยันจนแม้กลางคืนก็จุดตะเกียงทำงาน การหย่ากับภริยาคนแรก ทำให้เขาไม่มีพันธะต้องห่วงกังวล ในขณะที่นักโทษคนอื่น มัวคอยระแวงว่าภรรยาจะมีชู้


ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในปี 2484 การขนส่งเสบียงอาหารสู่เกาะตะรุเตาถูกตัดขาด ญาติพี่น้องจะส่งเงินมาให้นักโทษใช้ซื้อบุหรี่ กาแฟ น้ำตาล ฯลฯ ก็ไม่ได้ สอตัดสินใจลงมือปลูกผักสวนครัวกินเอง โดยมี ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เป็นที่ปรึกษา และลงทุนรับอาสาทำความสะอาดถังปัสสาวะของเพื่อนนักโทษ เพื่อจะได้ปุ๋ยธรรมชาติชั้นดีมาผสมน้ำรดร่องผัก จนบวบของเขายาวเท่าแขน แล้วยังคิดค้นสูตรทำสบู่ขึ้นมาใช้เอง แถมส่งไปขายดิบขายดีที่ตลาดตรังและสตูล


แต่กระนั้น เมษายน 2486 รัฐบาลจอมพล ป. เกรงฝ่ายสัมพันธมิตรจะแย่งชิงตัวนักโทษการเมืองแห่งเกาะตะรุเตา จึงสั่งย้ายนักโทษไปทัณฑนิคมเกาะเต่า ในเขตอ่าวไทย ทั้งๆ ที่ยังไม่มีที่พัก อาหาร และน้ำจืด รองรับนักโทษจำนวนนับพันที่ย้ายไปได้ นับเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากแสนสาหัส ขนาดถูกบันทึกว่า “เป็นเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จริง” ทว่า สอ เสถบุตร ไม่เพียงสามารถเอาตัวรอด แต่ยังมีบทบาทช่วยเหลือเพื่อนนักโทษที่ป่วยไข้ และทำต้นฉบับพจนานุกรมเสร็จสิ้นตามที่ตั้งใจ


นรกบนเกาะเต่าดำเนินไปเพียงปีเศษ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แพ้โหวตในสภา เรื่องการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ จนต้องลาออกในปี 2487 รัฐบาลต่อมาที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้นำ จึงขอพระราชทานอภัยโทษแก่บรรดานักโทษการเมือง


สอ เสถบุตรได้รับอิสรภาพพร้อมผลงานพจนานุกรม ซึ่งนำมาตีพิมพ์เผยแรกเป็นครั้งแรกในปี 2492 จัดเป็นหนังสือขายดีตลอดหลายทศวรรษต่อมา เป็นผลงานแห่งชีวิตสุด “ดราม่า” ของคนสามคุก ที่สร้างคุณูปการใหญ่หลวงต่อเยาวชนไทย และเป็นแบบอย่างของ “เพชรในหัวคางคก” หรือมณีล้ำเลอค่าที่ขุดขึ้นมาจากความยากลำบากและอัปลักษณ์ ทว่า งดงามแวววาวยิ่งนัก!