‘บัณฑิต’มองเอเชีย รับอานิสงส์เบร็กซิท

‘บัณฑิต’มองเอเชีย รับอานิสงส์เบร็กซิท

“บัณฑิต” มอง “เบร็กซิท” สร้างความไม่ชัดเจนในอียู ต้นทุนทำธุรกิจในยูเคพุ่ง ส่งผลนักลงทุนมองทางเลือกอื่น เชื่อภูมิภาคเอเชียได้อานิสงส์นี้

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี) กล่าวว่า ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่โหวตให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) หรือ เบร็กซิท น่าจะทำให้ความไม่ชัดเจนที่มีต่อการลงทุนทั้งในยูเคและอียูเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลดีต่อประเทศในแถบเอเชียก็ได้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ จะทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น

“นักลงทุนอาจมองว่า การลงทุนในแถบโน้นมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ก็อาจตัดสินใจย้ายการลงทุนมาแถบเอเชียมากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวว่า สก็อตแลนด์ จะขอทำประชามติเพื่อแยกตัวจากยูเค ทำให้ความชัดเจนมีมากยิ่งขึ้น คนที่จะเข้าไปลงทุนในแถบโน้นก็คงต้องคิดกันใหม่ จึงมองว่าเป็นโอกาสที่เขาจะเข้ามาทำธุรกิจในแถบบ้านเรามากขึ้น”

กรณีเบร็กซิทคงส่งผลกระทบใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ซึ่งข่าวเบร็กซิทค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการลงทุน เพราะก่อนหน้าการลงประชามติไม่กี่วัน ตลาดยังประเมินว่า ยูเค ไม่น่าจะออกจาก อียู แต่เมื่อผลโหวตออกมาผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ จึงส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการลงทุนเป็นอย่างมาก

“หลังทราบผลเงินปอนด์อ่อนลงทันที 10% ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมา จึงมีข้อสังเกตว่า ยังมีหลายเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ที่สำคัญ คือ ยังมีแก๊ป(ช่องว่าง) ระหว่างคนทำนโยบายกับความรู้สึกของคน อันนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ไม่เฉพาะของคนอังกฤษ เพราะอียูเองก็ยังคาดไม่ถึง สะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง”

ส่วนระยะที่ 2 นายบัณฑิต มองว่า ภายหลังตลาดการลงทุนมีการปรับตัว ก็จะเริ่มเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ แต่เป็นระดับที่ราคาต่ำลงกว่าเดิม หลังจากนั้นจะปรับตัวไปทิศทางไหน คงต้องขึ้นกับผลเจรจาทางการค้าและการลงทุนระหว่าง ยูเค กับ อียู ว่าจะออกมาอย่างไร
การเจรจาด้านการค้าและการลงทุนระหว่างยูเคกับอียูนั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย แต่ที่ชัดเจน คือ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ยูเคเคยได้จากอียูจะหมดไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะค้าขายกันไม่ได้ เพราะทั้ง 2 กลุ่มยังคงค้าขายกันได้ตามปกติ เพียงแต่ต้นทุนการค้าขายจะเพิ่มขึ้น

“ประโยชน์ที่เคยได้แบบไม่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน อันนี้ก็จะหมดไป คนอังกฤษจะไปไหนในยุโรป ก็ต้องถือหนังสือเดินทางด้วย ในแง่การทำธุรกิจโอกาสยังเหมือนเดิม แต่ต้นทุนมีมากขึ้น ส่วนจะมากแค่ไหนขึ้นกับข้อตกลงใหม่จะมีโมเดลอย่างไร”

กรณีเบร็กซิทอาจเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษในบางเรื่อง เพราะอังกฤษจะมีความเป็นตลาดสูง คือ ใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด การที่อังกฤษแยกตัวจากอียูมา ก็ทำให้อังกฤษสามารถใช้กลไกของตลาดในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศได้ดีขึ้นด้วย ขณะเดียวกันอังกฤษยังมีความคล่องตัวในการทำนโยบายด้านการค้ากับประเทศอื่นๆ มากขึ้นด้วย จากเดิมที่ต้องผ่านอียูอย่างเดียว