โค้งสุดท้าย พ.ร.บ.คอมพ์ หวังรอบคอบ - ชัดเจน

โค้งสุดท้าย พ.ร.บ.คอมพ์ หวังรอบคอบ - ชัดเจน

โค้งสุดท้ายการผลักดันร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...

ความคืบหน้าล่าสุด นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช. คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจะมีผลเสร็จสิ้นและบังคับใช้ได้

แต่ทั้งนี้ยังความกังวลเรื่องการนำไปบังคับใช้ ดังนั้นคณะทำงานพยายามรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างมาตรา 14(1) ไม่ให้ไปขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

“ร่างยังไม่แล้วเสร็จ แต่เป็นแนวโน้มที่ดีว่ามีการรับฟังความเห็นค่อนข้างมาก และแนวโน้มเป็นไปตามที่รัฐต้องการให้ปรับแก้ โดยเน้นปลอมแปลง ฉ้อโกง หลอกลวงทางออนไลน์ มากกว่าหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

ที่ผ่านมา ความคิดเห็นจากประชาชนและที่เกี่ยวข้อง กว่าครึ่งมองว่าเมื่อใช้แล้วจะไปละเมิดสิทธิประชาชน ส่วนอีกครึ่งด้านผู้ได้รับผลกระทบชี้ว่าหากไม่มีส่วนนี้อยู่จะไปบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้อย่างไร ที่พบว่าก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้มากพอสมควรยังมีอีกเรื่องคือการปิดเว็บไซต์

นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเสนอคือมาตรา 14(1) เจตนารมณ์คืออุดช่องว่างเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร หรือเอกสารเท็จ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท หรือการใส่ความบุคคลอื่น ทว่าที่ผ่านมาการบังคับใช้ยังคงตีความไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท
ขณะที่ การแก้ไข ณ ปัจจุบันจากร่างที่ออกมาพบว่าจะยังคงเป็นปัญหาต่อไป ดังนั้นขอเสนอให้แยกออกมาจากมาตราดังกล่าวเพื่อความชัดเจน

นอกจากนี้ให้ตัดมาตรา 14(2) ออกไปเพราะมาตรา 14(3) อธิบายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว นับเป็นเรื่องความมั่นคงเหมือนกัน มาตรา 15 การเอาผิดกับสื่อหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย การร่วมรับผิด โทษเท่ากัน ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 20

ที่สำคัญต้องพิจารณาให้รอบคอบยังมี มาตรา 16/2 รวมทั้งให้ตัดมาตรา 20(4) ออกไปเลย เพราะตอบคำถามเรื่องหลักการเรื่องการแสดงความคิดเห็นไม่ได้เลย
นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ ประชาไท กล่าวว่า มีหลายประเด็นน่าเป็นห่วงต้องคอยติดตาม ขณะเดียวกันรู้สึกว่ากฎหมายถูกนำไปใช้เหมือนมาตรา 44 ซึ่งเรื่องนี้จะน่ากลัวมากหากไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ ที่น่ากลัวคือวิธีนับกระทงความผิด คือนับตามจำนวนข้อความ หรือแม้ต่างเวลาก็จะต่างการกระทำ ต่างวาระ ดังนั้นหวังว่าจะได้เห็นความชัดเจนของร่างที่ออกมา รวมถึงความชัดเจนการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท. แสดงความเห็นว่า เข้าใจว่ากฎหมายไม่อาจตอบโจทย์ได้ครอบคลุมทุกประเด็น ทว่าในฐานะผู้ดูแลงานสอบสวน ยืนยันว่าจะทำงานภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย ไม่กลั่นแกล้งใคร ทุกอย่างตอบได้ด้วยพยานหลักฐาน
ล้อม 6"

พลเมืองเน็ตขอจำกัดเขตอำนาจ
ข้อเสนอของเครือข่ายพลเมืองเน็ต นายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล กล่าวว่า มาตรา 14(1) ควรแก้ไขให้ชัดเจนว่าเป็นการเอาผิดกับฟิชชิ่ง และตัดโอกาสในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาทออกไป

ขณะที่ มาตรา 14(2) กำหนดความผิดต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ” และ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ให้ชัดเจน ประเด็นต่อมา แยกแยะประเภทผู้ให้บริการหรือสื่อตัวกลาง และกำหนดภาระความรับผิดให้เหมาะสมกับประเภท

มาตรา 15 ขอให้กำหนดลักษณะความผิดของผู้ให้บริการให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการพิสูจน์เจตนา แยกแยะโทษของผู้ให้บริการแต่ละประเภท กำหนดโทษให้เหมาะสมตามหลักกฎหมายอาญา และให้การกำหนดโทษมีความสม่ำเสมอภายในกฎหมายฉบับเดียวกัน

นอกจากนี้ ให้ใช้หลักการแจ้งเตือนและแจ้งเตือน ดังเช่นที่ประเทศแคนาดาปรับปรุงให้สอดคล้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มากกว่านั้นขอเสนอให้พิจารณาเรื่องภาระแห่งการพิสูจน์ความผิดให้รอบคอบตามหลักกฎหมายอาญาและหลักการในรัฐธรรมนูญ

อีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ขอให้จำกัดขอบเขตอำนาจของประกาศที่รัฐมนตรีจะออกเพิ่มเติมให้ ตามมาตรา 15 และ 20 ขอให้พิจารณาตัดมาตรา 20(4) ที่อนุญาตให้ปิดกั้นข้อมูลได้แม้ไม่ผิดกฎหมายใด

ขอเสนอให้มีกระบวนการอุทธรณ์ จากการใช้อำนาจตามมาตรา 18 และ 20 สุดท้ายขอให้กำหนดอายุของกฎหมาย เพื่อให้มีการทบทวนกฎหมายตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป