ก.ล.ต.เล็งเสนอบอร์ด เพิ่มโทษผู้บริหาร บจ.

ก.ล.ต.เล็งเสนอบอร์ด เพิ่มโทษผู้บริหาร บจ.

"ก.ล.ต." เล็งเสนอบอร์ดเพิ่มโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน กลางเดือน ก.ค. นี้ คาดห้ามนั่งกรรมการบริษัทไม่เกิน 10 ปี กับผู้บริหารที่ทำผิด

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด)ของก.ล.ต.ภายในกลางเดือน ก.ค. นี้ เพื่อเสนอการเพิ่มโทษของผู้บริหารที่กระทำความผิดในตลาดทุน โดยในการกำหนดโทษนั้นเบื้องต้นจะห้ามบริหารที่กระทำความผิดรับหน้าที่ผู้บริหารบริษัทเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี

“ก.ล.ต.เตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาการเพิ่มโทษกับผู้บริหารบริษัทที่กระทำความผิด เบื้องต้นเราคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนหน้า ซึ่งต้องรอดูว่าที่ประชุมจะกำหนดหรือบังคับใช้อย่างไร”

บทลงโทษในเบื้องต้นนั้นจะกำหนดไว้ไม่ให้นั่งเป็นคณะกรรมการบริษัทหากกระทำความผิดเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยกรอบดังกล่าวถือเป็นโทษสูงสุด ซึ่งแต่ละกรณีก็ขึ้นกับว่ารายละเอียดของคดีเป็นอย่างไร หากมีโทษปรับ หรือ มีการลงโทษอื่นๆเกี่ยวข้องก็อาจจะมีโทษการห้ามเป็นคณะกรรมการบริหารลดลงตามลำดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับรายกรณี ทั้งนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการก.ล.ต.จะพิจารณอีกครั้ง

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้จัดการอบรม “เทคนิคการจัดการอินไซด์แบบฉบับนักบริหารมืออาชีพ” โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้กับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถึงสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำนักงานก.ล.ต.ได้จัดการอบรมให้กับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทุกปีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ ก.ล.ต.เน้นย้ำคือ บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเท่าที่จะสามารถเปิดเผยได้ เพราะก.ล.ต.เข้าใจว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมดได้ เพราะอาจเป็นความลับทางการค้า หรือจะมีผลกับการทำรายการ แต่ทั้งนี้สิ่งที่ห้ามทำคือการให้ข้อมูลเท็จนอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างการเช่นอย่างในกรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีการซื้อขายหุ้น กับการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ มีการขายหุ้นออก แต่ไม่ได้เป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน จะต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะถูกต้อง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ กล่าวว่า ทิศทางของนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า หุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี หรือที่อยู่ในดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน หรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลจะเคลื่อนไหวที่ดีกว่าในหุ้นกลุ่มอื่น ทั้งนี้ ในรอบปัจจุบันจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขนาดใหญ่