แก้ปัญหาเด็กติดยาแบบ 'ต้องรู้ แต่ไม่ต้องลอง'

แก้ปัญหาเด็กติดยาแบบ 'ต้องรู้ แต่ไม่ต้องลอง'

กรมสุขภาพจิตเผย เด็กและเยาวชนต้องบำบัดอาการทางจิตเพราะติดยาถึง 1 ใน 3 แนะ "ต้องรู้ แต่ไม่ต้องลอง"

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยปัจจุบัน ว่า มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจาก เริ่มใช้ยาเสพติดอายุน้อยลง ตลอดจนมีแนวโน้มพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดมากกว่า 1 ชนิดร่วมกันมากขึ้น มีการนำสารต่างๆ ที่หาได้ง่ายมาผสมกันเพื่อให้ออกฤทธิ์เหมือนสารเสพติด โดยมองว่าไม่เป็นอันตราย ซึ่งในความเป็นจริงสารผสมดังกล่าวมีฤทธิ์เสพติดทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากรายงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มีอาการทางจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 พบว่า ผู้ป่วยติดยามีอาการทางจิต เข้ารับการบำบัดรักษา ใน รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,912 ราย ในจำนวนนี้ มากกว่า 1 ใน 3 หรือ ประมาณ 1,517 ราย เป็นเด็กและเยาวชน ช่วงอายุ 12-24 ปี ในขณะที่ประมาณการทั่วโลก มีการใช้สารเสพติดในอายุ 15-64 ปี อยู่ที่ 3.5-5.7% ของประชากร

การที่เด็กและเยาวชนไทย รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด แต่ไม่ทดลองเสพ ย่อมเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับแนวทางสังเกตลูกหลานว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่นั้นสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพวกเขา เช่น ใช้เงินสิ้นเปลืองผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด สุขภาพร่างกายซูบผอมหรือมีความผิดปกติ ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์แปรปรวน เอาแต่ใจ เริ่มมีนิสัยโกหก ลักขโมย หรือชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว พบอุปกรณ์การเสพ เช่น กระดาษฟรอยด์ ไฟแช็ค ติดต่อกับคนแปลกหน้า เป็นต้นซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรักความผูกพันในครอบครัว ถ้าเป็นไปด้วยดี ครอบครัวมีความใกล้ชิด เข้าอกเข้าใจกัน ย่อมเป็น “วัคซีนใจ” สำคัญสำหรับเด็กๆ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นและเยาวชนเป็นวัยที่อยากเห็น อยากลอง การค้นหาสิ่งใหม่ๆ การค้นหาความเป็นตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามในวัยนี้ก็มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการคิดวิเคราะห์ การยับยั้งชั่งใจ การใช้ดุลยพินิจ ต่างๆที่อาจจะไม่เหมาะสม ทั้งนี้อันเนื่องมาจากพัฒนาการของสมองด้านการบริหารจัดการจะยังไม่สมบูรณ์ตามวัยเหมือนผู้ใหญ่ จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการนำไปสู่การติดสารเสพติด โดยจุดเริ่มต้นก็คือ การเริ่มลองเพราะอยากรู้อยากเห็น ตลอดจนใช้เป็นครั้งคราว เรียนรู้ว่าหากใช้ปริมาณมากขึ้นก็จะได้รับผลความรู้สึกความสุขมากขึ้น จึงใช้สม่ำเสมออย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อให้สารสื่อประสาทและวงจรความสุขทำงานเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการปรับตัวของสมอง จนเกิดการติดยา และผลจากการใช้สารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้สมองถูกทำลาย มีการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในสมองจนเกิดอาการและความผิดปกติทางจิตต่างๆ ตามมาได้

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กลองหรือติดยาเสพติดนั้นเกิดจากหลายๆปัจจัยปัญหา เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน หรือปัญหาเรื่องเพื่อน เป็นต้น เพราะฉะนั้นวิธีการคือ เน้นที่การรับฟังปัญหาและทำความเข้าใจ ไม่ด่วนตัดสินใจหรือลงโทษว่าผิด เข้าไปคุยกับลูก ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย คุยกับลูกว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ทราบว่าลูกกำลังทุกข์ใจ อยากจะบอกอะไรกับพ่อแม่ทราบไหม ให้พ่อแม่ช่วยอย่างไรบ้าง เป็นต้น ลูกจะอยากคุยและพร้อมจะร่วมแก้ไข ตลอดจนปรึกษาผู้รู้ หรือผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสารเสพติด ตามโรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และถ้าหากลูกหลานติดสารเสพติดมานาน จนทำให้สภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมและบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากเดิม ครอบครัวไม่สามารถควบคุมได้ ควรส่งลูกเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจ ในสถานบำบัดรักษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าว